วิธีการในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ปรับจำนวนนิสิตเหลือเพียง ๑๐๐ คน จาก ๓๐๐ คนในภาคเรียนที่ผ่านมา โดยกำหนดว่าต้องใช้ห้องเรียนขนาดใหญ่ ให้สามารถแบ่งกลุ่มพูดคุยกันได้ ๒) ปรับแผนการสอนให้เน้นกระบวนการ (Active Learning) ให้สามารถลงมือปฏิบัติงานกลุ่มย่อยได้ในเวลาเรียนตลอดภาคเรียน ด้วยกระบวนการ ๗ส. (อ่านที่นี่) และ ๓) นำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ได้ถอดบทเรียนไว้ มาใช้เป็นเนื้อหาในภาคเรียนนี้
จำนวนนิสิตที่เหมาะสม
จากการศึกษาและถอดบทเรียนความสำเร็จต่าง ๆ ของการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ Soft-Skills จากการทำงานเป็นทีม พบว่าจำนวนสมาชิกต่อกลุ่มย่อย ต้องไม่เกิน ๘ คน และอาจารย์ผู้อำนวยการเรียนรู้ดูแลไม่ควรเกิน ๑๐ กลุ่มต่อท่าน ... ดังนั้น ในภาคการศึกษานำร่องนี้ จึงกำหนดจำนวนนิสิตผู้เรียนไว้ที่ ๘๐ คน หรือ ไม่เกิน ๑๐๐ คน
แม้จำนวนนิสิตจะถูกจำกัดเพียงไม่เกิน ๑๐๐ แต่ ยังจำเป็นต้องขอใช้ห้องเรียนขนาดเท่าเดิม คือห้องขนาด ๓๐๐ คน ด้วยเหตุผลให้แต่ละกลุ่ม สามารถนั่งห่างแยกเพื่อสามารถแลกเปลี่ยนระดมสองกันได้โดยไม่รบกวน หรือรู้สึกโกลาหนกันเกินไป ... สำนักศึกษาทั่วไป กำลังจะทำห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ซึ่งจะรองรับการเรียนแบบกลุ่มห้องละ ๘๐ ที่นั่ง คาดว่าจะเสร็จใช้ปีหน้า ปีนี้ลองแบบนี้ไปก่อน
องค์ความรู้ที่เน้นเป็นจุดเด่นของรายวิชา
"ภาวะผู้นำ" ที่จำเป็นที่สุดสำหรับเทศไทยขณะนี้คือ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน ดังนั้นจึงได้กำหนดองค์ความรู้หลักที่ได้ถอดบทเรียนจากนายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามที่เราเชิญท่านมาเป็นวิทยากรในปีการศึกษาที่ผ่านมา (อ่านได้ที่นี่) ดังนี้
คุณสมบัติของผู้นำ ๘ ประการ ได้แก่
- มีความรู้ คือ เป็นผู้ใฝ่รู้ และรู้จริงในสิ่งที่ตนเองทำ
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ติดกรอบ ไม่ติดตำรา คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยความริเริม ชาญฉลาด ทันสมัย
- เด็ดขาด กล้าหาญ ไม่กลัว หากจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ต้องมีครบทั้ง ๓ ข้อนี้ เด็ดขาดต่อความไม่ถูกต้อง กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่กลัวอิทธิพลหรือผลลัพธ์ที่จะกระทบทำให้ตนเองเดือดร้อน
- ซื่อสัตย์สุจริต คือสิ่งที่สำคัญ จำเป็น และเป็นที่ต้องการของสังคมไทยอย่างยิ่ง
- เสียสละ โดยเฉพาะต้องเสียสละเวลา และชีวิตส่วนตัว เพราะการจะเป็นผู้นำต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องเป็นผู้ให้ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานเพื่อผู้อื่น
- ทุกครั้งที่ตัดสินใจต้อง ยึดเอาประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ
- เป็นแบบอย่างที่ดี
- และสุดท้าย ในการทำงาน ต้องทำให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
คุณสมบัติพิเศษสำหรับผู้นำในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป ๖ ประการ ได้แก่
- มีวิสัยทัศน์ โลกโลกาภิวัตน์เชื่อมโยงสื่อสารไร้พรมแดน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผู้นำต้องการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
- ต้องเป็นตัวของตนเอง/เข้มแข็ง ไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของสิ่งใด ๆ หรือถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว ภาคภูมิใจในตนเอง รากเหง้าความเป็นมา ภูมิใจในความเป็นไทย
- มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์อย่างดี ผู้นำในยุคนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตลาดหุ้น ทุน และการบริโภคเชื่อมโยงกันเป็นตลาดเดี่ยวด้วย Digital Money
- มีสิ่งที่สังคมต้องการในขณะนี้คือความซื่อสัตย์สุจริต
- ต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม
- สุดท้ายคือ ต้องเป็นผู้เรียนรู้และพัฒนาตนเองเสมอ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทันสมัย รู้จักนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้อย่างเหมาะสม
และนำเอาองค์ความรู้ที่ถอดบทเรียนจากการบรรยายของ ผศ.ดร.พชรวิทย์ จันทร์ศิริสิร เกี่ยวกับ บทบาท ๑๒ ประการของการเป็นผู้นำ ดังได้เขียนไว้แล้วที่นี่
กระบวนการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานและโครงการเป็นฐาน
กระบวนการศึกษาชุมชนแบบ ๗ส. ได้นำมาปรับไว้ในแผนการสอนเพื่อฝึกฝนภาวะผู้นำผ่านการทำงานโครงการเป็นทีม โดยกำหนดขอบเขตให้สำรวจปัญหาภายในมหาวิยาลัยหรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น กระบวนการ ๗ส. ได้แก่ สำรวจ -> สอบถาม -> สืบค้น -> สังเคราะห์ -> สร้างสรรค์ -> สร้างสื่อ -> เสนอ กิจกรรมแต่ละขั้นตอนพอสังเขปแสดงดังภาพ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ที่นี่
แนวทางการประเมินผลการเรียนรู้
แนวทางการประเมินการเรียนรู้ที่เสนอไว้ใน มคอ.๓ (ที่นี่) เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีเพียงการทดสอบกลางภาค ๓๐ คะแนน เป็นการทดสอบองค์ความรู้และทักษะทางปัญญาทั้งกลางภาคและปลายภาคส่วนละ ๒๕ คะแนน รวมเป็น ๕๐ คะแนน โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันของทีมถึง ๒๕ คะแนน ส่วนที่เหลือ ๒๕ คะแนนประเมินจากการเข้าร่วมกิจกรรมและการมอบหมายงานเดี่ยวต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี การที่จะสามารถประเมินภาวะผู้นำของนิสิตรายบุคคล ของนิสิต ๑๐๐ คน ต่ออาจารย์ผู้สอน ๑ ท่านนั้น นับว่าเป็นเรื่องเกินกำลังจะทำได้อย่างแม่นตรง แต่ด้วยกระบวนการที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และกระบวนการสุ่มให้ทุกคนต้องนำเสนอและแสดงออก น่าจะสามารถสร้างภาวะผู้นำขึ้นในตัวในใจของนิสิตผู้ได้ไม่มากก็คงไม่น้อย
บันทึกต่อไป มาดูปัญหาจากหน้างานของนิสิตลงสำรวจด้วยตนเองครั้งแรก....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น