วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ _แนวทางการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนสำหรับ ๑/๖๑ เป็นต้นไป

วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ สำนักศึกษาทั่วไปจัดประชุม KM อาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ เพื่อรับฟังแนวทางในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนของรายวิชาฯ กับผู้ทรงคุณวุฒิหลัก ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ ท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก "จิตตปัญญาศึกษา" ในมหาวิทยาลัย และนำมาปรับใช้กับทั้งการพัฒนาคน พัฒนางาน การบริหาร และพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ...กิจกรรมวันนี้ แทนที่จะเป็นการมาบรรยาย ถ่ายทอด มอบหมาย แต่ใช้สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะสรุปประเด็นได้อย่างชัด สั้น ลัด ให้ฝ่ายปฏิบัติไปทำต่อ

รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ปัจจุบันมีอาจารย์ผู้สอนในตาราง ๑๔ ท่าน ได้แก่ ๑) อ.ธวัช ๒) อ.วิไลลักษณ์ ๓) อ.นพคุณ ๔) อ.สุมลวรรณ ๕) อ.นารีรัตน์ (ภาควิชาประวัติศาสตร์) ๖) อ.จารุวรรณ ๗) อ.ชัยพร ๘) อ.เทอดศักดิ์ ๙) อ.นริสา ๑๐) สุรเชษฐ์ ๑๑) อ.กันตา และ ๑๒) สุภลักษณ์  ๑๓) อ.อรอุมาและรวมถึง ผมเองเป็น ๑๔) อ.ฤทธิไกร วันนี้มาประชุมเพียง ๕ ท่าน  เท่าที่ประสานผ่านทางไลน์ ไม่ใช่เหตุผลเรื่องไม่ให้ความสำคัญ แต่อาจารย์หลายท่านติดภารกิจการสอนและราชการในกาลที่จำกัด  อย่างไรก็ดี การประชุมเกรดปลายปีนี้หวังว่าคงได้รับความร่วมมือจากทุกท่าน  ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ในประเด็นที่ผมเห็นเด่น อยากจะส่งมาให้อาจารย์ท่านอื่น ๆ ได้อ่าน ครับ

แจ้งเพื่อทุกท่านทราบ
  • ผมนำเอาบัญชีรับ-จ่าย เรื่องจำหน่ายเอกสารประกอบการสอนมาแจ้งให้อาจารย์ทุกท่านทราบ มีรายละเอียดการผลิต การจัดการจำหน่าย และการบริหารจัดการต่าง ๆ โปร่งใสที่สุด ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ 
  • แผนการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนรอบนี้ มีกำหนดจะนำไปใช้ในปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๖๑  โดยต้องผ่านให้ผู้ทรงคุณวุฒิหลักในเดือนมกราคม ๒๕๖๑ ผู้ทรงภายนอกอ่าน ๒ ท่านช่วง กุมภาพันธ์ - มีนาคม นำมาแก้ไขช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม จัดการผลิตช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม และใช้ประกอบการสอนในเดิอนสิงหาคม ๒๕๖๑ .... ดังนั้น ร่างของหนังสือฉบับปรับปรุงควรจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ 
สะท้อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอน 

  • วิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ หรือวิชามนุษย์และการเรียนรู้ เป็นวิชาเดียวที่มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ตนเองภายใน มีความสำคัญมาก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและสิ่งใหญ่ ที่จะปลูกฝังให้นิสิตได้รู้จักโลกภายในของตนเอง 
  • รากเหง้าของรายวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้คือ ความประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง หรือที่เรียก Transformative Learning ซึ่ง(ก็คือหรือ)ใกล้เคียงกับจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัย รศ.ดร.พิสมัย ศรีอำไพ เป็นรองอธิการฝ่ายวิชาการ และเกิดการรวมกลุ่มผู้สนใจเรียนรู้ร่วมกัน (ประจำสัปดาห์) อย่างต่อเนื่อง  จนเกิดเป็นรายวิชามนุษย์กับการเรียนรู้ ก่อนจะมารวมกับศาสตร์ทางจิตวิทยากระแสหลัก กลายเป็นรายวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ในปัจจุบัน 
  • บทที่ ๑ เรื่อง ธรรมชาติของการเรียนรู้นั้นดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะควรจะเน้นศาสตร์เรื่องสมอง เช่น ธรรมชาติและการทำงานของสมอง ที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับมากขึ้น และเชื่อมโยงสู่จิตตปัญญาศึกษา ในหัวเรื่อง "สมอง ๓ ชั้น ปัญญา ๓ ฐาน "  ...  ผมเคยเขียนบันทึกการถอดบทเรียนเรื่องนี้ไว้เมื่อครั้งที่เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งก่อน อ่านได้ที่นี่ครับ 
  • บทที่ ๒ ควรนำเอาศาสตร์ทางจิตวิทยากระแสหลัก มาบูรณาการสอนให้เชื่อมโยงต่อยอดจากบทแรก โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือหรือกิจกรรมที่นิยมใช้กันในวิชาจิตวิทยา เช่น หน้าต่างโจฮารี่ (ที่อาจารย์สะท้อนว่าได้ผลดีมาก) มาใช้ แล้วเชื่อมโยงไปสู่จิตตปัญญาศึกษา เป็นต้น  โดยอาจลดเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องจดจำลง ... อย่างไรก็ดี บางทฤษฎีที่สำคัญและมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในกระบวนการศึกษา เช่น ความต้องการพื้นฐานของมาโลส์ (Maslow's Hierarchy of Needs) (ที่นี่)  ความดี ๖ ระดับของลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) เป็นต้น
  • บทที่ ๓ เรื่องสุนทรียสนทนา ให้รวมเอาเรื่องการฟังมารวมไว้ และนำเอาประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากเวที อ.ณัฐฬส วังวิญญู มาปรับลงในเอกสาร เช่น รูปกิจกรรมสัตว์สี่ทิศ สายธารชีวิต ฯลฯ เสริมกับกิจกรรมเดิมที่ดีอยู่แล้ว (อ่านบันทึกการเรียนรู้จากเวที อ.ณัฐฬส ได้ที่นี่และที่นี่)




  • บทที่ ๔ จิตตปัญญาศึกษา  เป็นบทสรุปของทั้งสามบทที่ผ่านมา  นำเอาประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้มาสรุปรวมเป็นหลักการ ทฤษฎี  สามารถสอนแบบบรรยายสรุปได้ 
  • บทที่ ๕ การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง  จะปรับเนื้อหาไม่ให้ซ้ำซ้อนกับบทที่ ๓-๔  
  • บทที่ ๖ การปรับตัวสู่สังคมยุคใหม่ การเปลี่ยนแปลงของคนในศตวรรษใหม่ยังคงให้ความสำคัญเช่นเดิม หัวเรื่องนี้ไม่มีความเห็นเชิงวิพากษ์ใด ๆ... ผมเห็นควรเน้นไปที่การเรียนรู้สมัยใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ และภาวะผู้นำ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง    
  • ขนาดของหนังสือควรเป็นขนาดมาตรฐาน คือต้องเลือก A4 หรือไม่ก็ A5 ไม่ใช่ขนาด B5 เหมือนตอนนี้  ... เนื่องจากมีใบกิจกรรมจึงเสนอให้ใช้ขนาด A4 ซึ่งได้เสนอต่อทางสำนักศึกษาทั่วไปต่อไป 
ผลลัพธ์ทางการเรียนจากการสังเกตของอาจารย์

ท่านอาจารย์สุภลักษณ์ ซึ่งเริ่มสอนภาคเรียนนี้เป็นครั้งแรก ได้สะท้อนว่ากิจกรรมการเรียนการสอนของรายวิชาที่กำหนดไว้ในเอกสารประกอบการสอนนั้นดีมากแล้ว
  • ช่วงคาบแรก ๆ ชิ้นงาน จะเป็นการลอกกัน ก๊อปปี้กันมา เหมือนกันทุกตัวอักษร  แต่พอเริ่มสอนโดยใช้กิจกรรมที่วางไว้ตามเอกสาร  การลอกกันก็เริ่มน้อยลง ลดลง มีการสะท้อนความประทับใจ นิสิตใช้ใจเรียนมากขึ้น  
  • โชคดีที่ได้มาเรียนวิชานี้ ทำให้ได้รู้จักตนเองที่เมื่อก่อนไม่เคยรู้ เริ่มมีรู้จักเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น 
  • โดยเฉพาะ บทที่เราเปิดคลิปวีดีโอของคุณเป้า ปรปักษ์ และคลิปของคุณ คุณเอกชัย วรรณแก้ว ในรายการของ Thai PBS  หลังจากดูคลิปแล้ว  นิสิตเขียนสะท้อนได้ดีมาก (จนอยากจะให้คะแนน ๑๕ คะแนน เต็ม ๑๐)





ข้อสรุป

การประชุมแลกเปลี่ยนกันครั้งนี้ได้เฉพาะข้อสรุปในลักษณะ "แนวทาง" ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ไม่สามารถจะสรุปเป็นมติของอาจารย์ผู้สอนได้เนื่องจากอาจารย์ส่วนใหญ่ควรจะได้มาแลกเปลี่ยนและระดมสมองกัน  จึงได้สรุปกันว่า สำนักศึกษาทั่วไป ควรจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้อาจารย์ผู้สอนได้นำเอาประสบการณ์การสอนที่ผ่านมามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน และถอดบทเรียนเอากิจกรรมการเรียนการสอนที่ได้ผลดี มารวบรวมไว้เป็นหนังสือหรือตำราเรียนของรายวิชาต่อไป

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๓๐๐๕ การประยุกต์คณิตศาสตร์และสถิติในชีวิตประจำวัน _ ๐๒ ประชุม KM อาจารย์ผู้สอนครั้งที่ ๒/๒๕๖๐

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ สำนักศึกษาทั่วไปร่วมกันอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา ๐๐๓๓๐๐๕ การประยุกต์คณิตศาสตร์และสถิติในชีวิตประจำวัน จัดประชุม KM ต่อเนื่องเรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการสอนฯ ต่อเนื่องจากครั้งที่ที่ผ่านมา (อ่านบันทึกที่นี่) มีอาจารย์เข้าร่วมถึง ๑๒ ท่าน จากทั้งหมด ๑๔ ท่าน ... สรุปตอนท้ายได้ข้อสรุปทั้งผู้รับผิดชอบและกรอบขอบเขตเนื้อหา และจะนำต้นฉบับกลับมารวมกันครั้งแรกสิ้นปีนี้

บันทึกนี้ขอนำข้อสรุปกรอบเนื้อหาและรายนามอาจารย์ผู้รับผิดชอบเขียนมาเรียนไว้อีกครั้งหนึ่ง  ดังนี้
  • บทที่ ๑ ผู้เขียนคือ ผศ.ดร.มะลิวัลย์ ถุนาพรรณ์ ผศ.ดร.อนุสรณ์ แสงประจักษ์ และ ผศ.ดร.มนตรี ทองมูล 
  • บทที่ ๒ เขียนเกี่ยวกับ สมการและระบบสมการ พื้นที่ และปริมาตร  มอบให้ ผศ.ดร.ประภาส ผิวอ่อน และ ผศ.ดร.บรรจบ วันโน
  • บทที่ ๓ เขียนเรื่อง อัตราส่วนร้อยละ ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ ดร.ณภัสนันท์ ศรีสารคามและ ผศ.ดร.วสันต์ ด้วงคำจันทร์
  • บทที่ ๔ เขียนเรื่อง เงินฝาก สินเชื่อ และการลงทุน ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ ดร.บุษกร คงเอียด และ รศ.ดร.นิภาพร ชุติมันต์ (ประสาน ดร.ปกรณ์ สัจคง)
  • บทที่ ๕ เขียนเรื่อง การประกันภัย  ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ ผศ.ดร.ดรุณี บุญชารี และ ดร.มนชยา เจียงประดิษฐ์ 
  • บทที่ ๖ เขียนเกี่ยวกับ การสำรวจ Polls และการนำสถิติไปประยุกต์ใช้  ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ ผศ.ดร.สุจิตตา สุระภี และ ผศ.ดร.ประภาส ผิวอ่อน




ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๔) เริ่มเขียนโครงการ-การกำหนดวัตถุประสงค์

วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ (ผู้นำการเปลี่ยนแปลง) เรียนรวมกันในชั้นเรียนอีกครั้ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กำหนดปัญหาและลงพื้นที่เพื่อ "สอบถาม" สภาพปัญหาและสาเหตุเพิ่มเติม ขั้นต่อไปตามกระบวนการเรียนรู้ PBL แบบ "๗ส." คือ "สืบค้น" และ "สังเคราะห์" (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) ทั้งสามกระบวนการนี้ สามารถประเมินจากชิ้นงานเดียวจากนิสิตผู้เรียนคือ "การเขียนโครงการ"

ภาคเรียนที่่ผ่านมา (๒-๒๕๕๙) เราเชิญ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยอธิการฝ่ายประกันคุณภาพ มาบรรยายพิเศษเรื่องการเขียนโครงการและการประเมินโครงการ ผมถอดบทเรียนเรื่องการเขีนโครงการไว้ที่นี่ และเรื่องการะประเมินโครงการไว้ที่นี่ ... นิสิตต้องอ่านและทำความเข้าใจบันทึกทั้งสองนี้ก่อนจะเริ่มเขียนโครงการ บันทึกนี้นำเอาผลงานของนิสิตแต่ละกลุ่มมาบันทึกไว้ เผื่อว่าเป็นตัวอย่างสำหรับนิสิตในรุ่นถัดๆ ไป

เครื่องมือช่วยระดมสมองก่อนเริ่มเขียนโครงการ

เครื่องมือช่วยเขียนโครงการคือ "ต้นไม้ปรารถนา" (ต้นไม้แห่งความสำเร็จ)  ต่อเนื่องจากที่ให้วาด "ต้นไม้ปัญหา" ที่ได้ทำกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นิิสิตกลุ่มที่ควรจะได้คะแนนมากจากกิจกรรม "ต้นไม้ที่ตายแล้ว" นี้ ต้องเป็นกลุ่มที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดคล่อง ทักษะการคิดยืดหยุ่น และทักษะการคิดแบบละเอียดละออ  ซึ่งจะสะท้อนผ่านชิ้นงาน ดังนี้

  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเกตจากความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละปัญหาและสาเหตุ  โดยสาเหตุของปัญหาหนึ่งอาจเป็นผลของสาเหตุอื่น ๆ ไปตามรากเป็นลำดับชั้นย่อย ๆ  ยิ่งแตกแขนงรากยิ่งแสดงถึงทักษะของการคิดวิเคราะห์  ส่วนการแตกกิ่งก้านของต้นไม้แห้ง ยิ่งเห็นผลกระทบมาก เห็นลำดับเชื่อมโยงของการส่งผลกระทบเป็นลำดับ ยิ่งแสดงถึงทักษะของการคิดวิเคราะห์มาก ... ซึ่งจะต้องใช้ความใส่ใจ ตั้งใจ และความเข้าใจในการทำชิ้นงาน 
  • ทักษะคิดคล่อง สังเกตจาก ประสิทธิภาพของการระดมสมองในเวลาที่กำหนด  ยิ่งคิดระดมสมองกันได้ประเด็นปัญหาหรือสาเหตุได้มาก แสดงว่ามีทักษะการคิดคล่องดี .... ในการสอนทุก ๆ ครั้ง ผมจะสังเกตปริมาณผลของการระดมสมองที่นิสิตเขียนในห้วงเวลา ๓๐ นาทีแรก  
  • ทักษะการคิดยืดหยุ่น  สังเกตจากจำนวนประเด็นปัญหา สาเหตุ หรือหมวดหมู่ของปัญหาสาเหตุ หรือผลกระทบ ยิ่งแยกเป็นประเด็นได้หลายประเด็น แสดงความเชื่อมโยงได้หลากหลาย ยิ่งสะท้อนว่านิสิตมีทักษะการคิดยืดหยุ่นมาก 
  • ทักษะการคิดละเอียดละออ สังเกตจาก ขนาดของประเด็นที่เห็น เป็นประเด็นเล็กๆ  น้อย ๆ ที่หลายคนออกมองข้าม แต่หากกลุ่มใดมองเห็นหยิบมาร้อยเรียงเป็นเหตุเป็นผล   




ส่วนกิจกรรม "ต้นไม้ปรารถนา" นอกจากสะท้อนทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดคล่อง ยืดหยุ่น และคิดละเอียดละออ แล้ว ยังบ่งบอกได้ถึงทักษะการคิดขั้นสูงที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ และทักษะการคิดเชิงประเมินค่า โดยสังเกตจากชิ้นงานได้ ดังนี้

  • ทักษะการคิดสร้างสรรค์ พิจารณาจากวิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหา วิธีการที่ริเริ่มใหม่ หรือได้จากการสังเคราะห์ความรู้เดิมแล้วมาต่อยอด  แสดงถึงความสร้างสรรค์ของผู้คิด 
  • ทักษะการคิดเชิงประเมินค่า พิจารณาจาก ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และวิธีการตัดสินใจเลือกวิธีการ และแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ถูกต้อง 
ต่อไปมาลองวิพากษ์ชิ้นงานของนิสิตในแต่ละกลุ่ม 


กลุ่มอินทรีย์ 

กลุ่มอินทรีย์ บอกว่า ปัญหามาสอง ข้อ (ความจริงต้องเลือกมาปัญหาเดียว) คือ ๑) ที่จอดรถจักรยานยนต์ไม่เพียงพอ และ ๒) นิสิตจอดรถจักยานยนต์ไม่เป็นระเบียบ ...ปัญหาที่น่าจะแก้ไขใด้ พอประมาณกับศักยภาพและเวลาน่าจะเป็นปัญหาที่ ๒)

สาเหตุที่กลุ่มอินทรีย์ระบุสาเหตุไม่ชัดเจน และไม่เข้าใจว่าความแตกต่างและวัตถุประสงค์ของงานที่กำหนดให้ทำต้นไม้ตายกับต้นไม้เป็น  ชิ้นงานที่ออกมาแม้จะดูสวยงาม แต่ไม่ได้ตอบโจทย์หรืออธิบายว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไร จะแก้อย่างไร 

ดังนั้งผลงานของกลุ่มอินทรีย์จึงยังไม่สามารถจะเป็นตัวอย่างให้น้อง ๆ รุ่นต่อไปได้   ชิ้นงานไม่ได้สะท้อนถึงการคิดคล่อง คิดวิเคราะห์ คิดยืดหยุ่น และคิดละเอียอดละออ  ... อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจว่าต้องระดมสมองกันอย่างไร จึงทำให้ยังไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาในผลงานชิ้นนี้




กลุ่มกำปั้น

กลุ่มกำปั้น เลือกปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาเหตุเพราะ ๑) ที่จอดรถไม่เพียงพอกับความต้องการ (นี่ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา นี่คือตัวปัญหา) ๒) ขาดวินัยในการจอดรถ เช่น จอดรถซ้อนคัน และ ๓) ไม่มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่การจอดรถที่ชัดเจน ....ถือเป็นการวิเคราะห์หนึ่งขั้น ยังไม่เห็นความเชื่อมโยงแตกแขนงของสาเหตุปัญหา

กลุ่มกำปั้นไม่ได้บอกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ๑) การจอดรถจะเป็นระเบียบมากขึ้น ๒) อุบัติเหตุจะลดลง และ ๓) คนจะมีวินัยในการจอดรถมากขึ้น  การจราจร (บริเวณที่จอดรถ) จะไม่ติดขัด ... ผมเดาว่าคงจะไปตีเส้นที่จอดหรือทำป้ายบอกทางเดินรถและพื้นที่จอด ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาข้อ ๑) ได้บ้าง แต่ข้อ ๒) และข้อ ๓)  ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนกับวิธีการแก้ปัญหานี้








ผมคาดหวังจะเห็นนิสิต ลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบและละเอียด กลุ่มที่เลือกปัญหาที่จอดรถแบบนี้ น่าจะสามารถอธิบายภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ใครเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นหน้าที่ใคร  ในมหาวิทยาลัยมีรถกี่คัน พื้นที่จอดทั้งหมดรับได้กี่คัน มีรถกี่คันที่จอดในพื้นที่ห้ามจอด เหตุใดนิสิตจึงมาจอดโดยพื้นที่ห้ามจอด ฯลฯ  ... ข้อมูลเชิงลึกมีรายละเอียดเชิงปริมาณและคุณภาพเช่นนี้ ต้องได้มาจากการสนใจฝ่รู้ และลงพื้นที่สอบถามและสืบค้นอย่างจริงจัง

กลุ่มบันได

กลุ่มบันได เลือกปัญหา พัดลมที่ตลาดน้อยสกปรก  สาเหตุของปัญหาคือ ๑) ติดตั้งในสถานที่ที่ยากต่อการดูแล ๒) ไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ๓) มีอายุการใช้งานนาน  ไม่ได้บอกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาใด? อย่างไร? แต่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ดังนี้

  • เสริมสร้างสภาพแวดล้อมภายในตลาดน้อย  ... การวัตถุประสงค์ต้องเรียงลำดับตามความสำคัญ วัตถุประสงค์ข้อนี้ควรอยู่ท้าย ๆ หรือไม่ก็ไม่ต้องกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ เพราะการทำความสะอาดเพียงพัดลม ไม่ได้ช่วยให้สภาพแวดล้อมภายในตลาดน้อยดีขึ้นจนเห็นได้ชัด 
  • เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ... ข้อนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่ดูเหมือนจะดี แต่ในทางปฏิบัติ นิสิตไม่สามารถจะประเมินผลว่าสำเร็จหรือไม่ได้โดยง่าย  เพราะต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและเป็นระบบมาก  การตั้งวัตถุประสงค์ต้องคำนึงถึงการประเมินวัตถุประสงค์นั้นเสมอ 
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพัดลมให้มากขึ้น ....  คำว่า "ประสิทธิภาพ" ต้องการคำนิยามและการทดสอบ จึงยังไม่เหมาะกับโครงการระยะสั้นนี้ 
  • เพื่อให้พัดลมสะอาดและน่าใช้งาน ... วัตถุประสงค์ข้อนี้ใช้ได้ และเหมาะสมจะเป็นวัตถุประสงค์ข้อแรก แต่ควรปรับคำเขียนเล็กน้อย
  • ขอเสนอตัวอย่างของวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้
    • เพื่อสำรวจสภาพปัญหาพัดลมในตลาดน้อย 
    • เพื่อทำความสะอาดและซ่อมบำรุงเบื้องต้นพัดลมตลาดน้อย 
    • เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตจิตอาสาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะร่วมกัน




กลุ่มดวงอาทิตย์

กลุ่มดวงอาทิตย์กำหนดปัญหา การจราจรติดขัดตรงถนนข้างวิทยาลัยการเมืองการปกครอง วิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักคือพฤติกรรมการจอดรถซ้อนคัน ขวางทางเดินรถซึ่งแคบและเปิดให้วิ่งสวนทางอยู่แล้ว ตั้งวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ ได้แก่

  • เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถ  .... เป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไร  ใช้ "คำใหญ่" ภาพกว้างเกินไปสำหรับโครงการที่ใช้เวลาระยะสั้น
  • เพื่อปรับภูมิทัศน์ที่จอดรถให้เป็นระเบียบ ... ถือเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร และระบุผลผลิต (output) ชัดเจนว่า บริเวณที่จอดรถจะเป็นระเบียบเมื่อสิ้นโครงการ อย่างไรก็ดี 
กลุ่มดวงอาทิตย์ไม่ได้บอกวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจน ... ปัญหาน่าจะเป็นเพราะนิสิตยังไม่ได้ระดมสมอง สำรวจปัญหา และหาข้อมูลอย่างเพียงพอ ชิ้นงานจึงยังไม่สะท้อนถึงการคิดคล่อง คิดยืดหยุ่น คิดละเอียดละออ และคิดสร้างสรรค์   





ชอบมากที่กลุ่มนี้มีการตั้งเป้าหมายแยกไว้ต่างหากจากวัตถุประสงค์  ดังนี้

  • มีพื้นที่จอดรถเพียงพอ ... เนื่องจากนิสิตไม่สามารถที่จะเพิ่มพื้นที่จอดรถได้เอง เพราะเป็นหน้าที่ของกองอาคารสถานที่ (มหาวิทยาลัย) จึงควรปรับคำให้สอดคล้องกับวิธีการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น  ลานจอดรถจักรยานยนต์วิทยาลัยการเมืองการปกครองสามารถรองรับจำนวนรถจักรยานยนต์ได้มากขึ้น  หรือ  การจอดรถจักรยานยนต์บริเวณข้างอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็นไปอย่างมีระเบียบเต็มตามศักยภาพ  เป็นต้น 
  • มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ... ในการประเมินโครงการจะต้องแสดงข้อมูลหรือภาพถ่ายเปรียบเทียบให้ชัดเจน   ในเล่มโครงการจะต้องขยายความให้อ่านแล้วเข้าใจชัดเจน เช่น  การจอดรถจักรยานยนต์ที่ข้างวิทยาลัยการเมืองการปกครองมีความเป็นระเบียบมากขึ้น 
  • มีความปลอดภัย ...
  • การใช้รถใช้ถนนมีความสะดวกมากขึ้น ... ข้อนี้ควรเป็นเป้าหมายข้อแรก เพราะเป็นผลผลิต (output) ที่ได้โดยตรงจากโครงการ แต่อาจปรับคำให้สลวยและเป็นทางการมากขึ้น เช่น การจราจรบนถนนระหว่างวิทยาลัยการเมืองการปกครองและคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความคล่องตัวมากขึ้น 
กลุ่มเทียน


กลุ่มเทียนเลือกปัญหาสวนสนุกมหาวิทยาลัยเสื่อมโทรม เพราะ ๑) ถูกปล่อยรกร้าง ๒) ไม่มีการกำจัดขยะที่ดี ๓) สะพานชุารุด (...ข้อนี้น่าจะเขียนหมายถึง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในสวนสนุกไม่ได้รับการซ่อมบำรุง)  ส่งผลกระทบให้สวนสนุกมหาวิทยาลัยกลายเป็น ๑) แหล่งเพาะพันธุ์ยุง ๒) แหล่งเพาะพันธุ์เชื่อโรค ๓) ทำให้เกิดอันตราย และ ๔) ไม่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ... (ในตอนทำรายงานให้แสดงภาพประกอบและรายละเอียดด้วยนะครับ โดยเฉพาะข้อ ๒) ๓) และ ๔) ที่ดูค่อนข้างรุนแรง)




พิจารณาจาก "ต้นไม้ปัญหา" ทำให้เข้าใจว่า จะปรับปรุงซ่อมแซมสวนสนุก ซึ่งน่าจะเกินกำลังของนิสิต แต่เมื่อดูชิ้นงาน "ต้นไม้ปรารถนา"  จะพบว่า โครงการของกลุ่มเทียนที่กำลังจะเขียนนั้น เป็นโครงการบนฐานคิดสร้างสรรค์ ต้องการที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่

  • สร้างแหล่งเรียนรู้ ...  ควรเขียนให้ชัดเจนมากขึ้น สร้างแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศสมุนไพรในมหาวิทยาลัย ฯลฯ  
  • เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ... ข้อสังเกตของวัตถุประสงค์นี้ คือ การพัฒนาจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจนั้น เกินศักยภาพหรือไม่ เพราะปัญหาความเสื่อมโทรมที่กล่าวถึงข้างต้นค่อนข้างมาก  แต่ถ้าหากมองว่าจะปรับปรุงบางพื้นที่ก็อาจเป็นไปได้ 
  • ปรับปรุงภูมิทัศน์ ... วัตถุประสงค์ข้อนี้จัดเป็น Output เช่นกัน ทำแล้วเกิดทันที 
วิธีที่กลุ่มเทียนจะทำคือ ๑) ทำความสะอาดในพื้นที่ ๒) ทำจุดทิ้งขยะ ๓) ติดป้ายให้ความรู้เรื่องต้นไม้ และ ๔) ติดป้ายเตือนบริเวณสะพานที่ชำรุด  ... การดำเนินการเพียง ๔ ข้อนี้ คงยังไม่สามารถบอกได้ว่า บรรลุสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ได้  กลุ่มเทียนจะต้อง สำรวจและสืบค้นให้มาก แหล่งเรียนรู้คืออะไร มีพืชพรรณไม้กี่ชนิด องค์ความรู้อะไรที่ผู้มาชมแหล่งเรียนรู้จะได้รับ  ... นาสนใจมาก  

กลุ่มภาพอิสระ

กลุ่มภาพอิสระ เลือกปัญหาการขาดแคลนที่จอดรถจักรยายนต์บริเวณหลังตลาดน้อย ม.ใหม่ โดยเล็งไปที่การจอดรถไม่เป็นระเบียบ จอดซ้อนคัน จอดขวางทางเข้าออก ทำให้พื้นที่จอดไม่เพียงพอ กลุ่มภาพอิสระวิเคราะห์ว่า สาเหตุของปัญหาที่กลุ่มตนน่าจะสามารถแก้ไขได้คือ การไม่มีการกำหนดจุดจอดรถแยกตามประเภทอย่างชัดเจน จึงนำมาสู่วิธีการแก้ปัญหาที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้ 
  • ๑) เพื่อให้การจอดรถเป็นระเบียบเรียงร้อย ...    เป็นการเขียนวัตถุประสงค์ข้อแรกที่ดี เว้นแต่ต้องเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น เช่น  เพื่อให้การจอดรถในที่จอดรถหลังตลาดน้อย ม.ใหม่ เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ  ฯลฯ 
  • ๒) ลดปัญหาการจอดขวางทางเข้า-ออก .... ข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับวัตถุประสงค์ข้อแรก  เพราะหากจอดเป็นระเบียบย่อมไม่ขวางทางเข้าออก  การเขียนวัตถุประสงค์ต้องไม่ซ้ำประเด็นกัน 
  • ๓) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจอดรถ ... เป็นการตั้งวัตถุประสงค์ที่วัดผลได้ยาก แต่ก็สามารถทำได้ โดยการสัมภาษณ์หรือสอบถามผู้ใช้ลานจอดรถ  การเขียนวัตถุประสงค์เชิงคุณภาพเช่นนี้สามารถทำได้ แต่มักใช้คำว่า "ส่งเสริม"  เช่น  ส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านจิตอาสาและจิตสาธารณะ  ฯลฯ  (จัดโครงการระดมกำลังนิสิตจิตอาสามาช่วยกัน)




วิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มภาพอิสระคือ การตีเส้นประกวดจุดจอดรถ และติดป้ายกำหนดจุดจอดรถให้ชัดเจน โดยแยกจุดจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์จากกันอย่างชัดเจน ... วิธีการแก้ปัญหานี้เป็นแนวทางมาตรฐานที่ทำกันทั่วไป แต่นิสิตคงไม่สามารถทำได้ทันที ต้องติดต่อประสานงานกับผู้รับผิดชอบดูแลเพื่อขออนุญาตก่อน  

นอกจากวิธีนี้แล้ว อยากเสนอให้นิสิตช่วยกันคิดหาวิธีใหม่ ๆ สร้างสรรค์ เหมาะและเฉพาะกับคนยุค Gen Z  เช่นตัวอย่างดังคลิปในบันทึกนี้  ครับ ... เพราะความคิดสร้างสรรค์จะทวีความสำคัญแบบเท่าทวีในอีกไม่กี่สิบปีนี้ 

ในการเขียนโครงการ (ซึ่งได้มอบหมายในสัปดาห์ที่ผ่านมา) จะต้องเขียนแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและละเอียดขึ้น อ่านแล้วเห็นกระบวนการดำเนินงานและขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น พร้อมกับระบุช่วงเวลาในแต่ละขั้นตอน 

กลุ่มเพชร

กลุ่มเพชรเลือกปัญหาเกี่ยวกับที่จอดรถจักรยายนต์บริเวณตึกราชนครินทร์  และวิเคราะห์สาเหตุว่า เป็นเพราะ ๑) ที่จอดรถไม่เพียงพอ ๒) คนขาดวินัยในการจอดรถ และ ๓) เส้นเครื่องหมายและป้ายบอกไม่ชัดเจน  และกำหนดแนวทางการแก้ไขด้วยการ  ๑) ทำเครื่องหมายและป้าย (ข้อ ๓)) และ ๒)สร้างจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของวินัยในการจอดรถ ... เป็นการวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผลดีครับ  น่าสนใจมากว่าสองแนวทางนี้จะแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของที่จอดรถได้หรือไม่ 

กลุ่มเพชรกำหนดวัตถุประสงค์ ๒ ประการ  ได้แก่ 
  • ๑) เพื่อศึกษาปัญหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรบริเวณตึกราชนครินทร์  ...  เยี่ยมมากครับ หากเป็นโครงการใหม่ ควรมีขั้นตอนนี้ก่อนเสมอ 
  • ๒) เพื่อศึกษาปัญหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสถานที่จอดรถ... ข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับข้อ ๑) ครับ ควรตัดออก  
วัตถุประสงค์น่าจะขาดไป ๒ ข้อ เมื่อพิจารณาถึงวิธีการแก้ปัญหาที่กำหนด คือ ๑) สร้างเครื่องหมายและปัายบอกจุดจอดรถจักรยานยนต์บริเวณ......    และ ๒) ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการจอดรถจักรยานยนต์อย่างมีวินัย ฯลฯ 








กลุ่มภูเขา

กลุ่มภูเขาเลือกปัญหา ท่อน้ำที่ตลาดน้อยอุดตัน เนื่องจาก ๑) พ่อค้าแม่ค้าทิ้งเศษอาหารลงท่อน้ำ (ตระแกรงกรองอาหารชำรุด) ๒) ขนาดของท่อระบายน้ำตื้น(เล็ก)เกินไป ๓) อุดตันเพราะเศษใบไม้ ๔) การทำความสะอาดท่อระบายน้ำของแม่บ้านไม่เต็มประสิทธิภาพ และ ๕) ขาดงบประมาณในการซ่อมบำรุงท่อระบายน้ำ

หลังจากการระดมสมองกัน กลุ่มภูเขากำหนดวิธีแก้ปัญหาไปที่สาเหตุที่ ๑) และ ๓) โดยจะระดมเงินกันในกลุ่มเพื่อไปจัดซื้ออุปกรณ์ (ตะแกรงรองเศษอาหารและใบไม้) มาติดตั้ง ...  วิธีนี้อาจไม่ดีสำหรับนิสิตทุกคน เพราะนิสิตบางคนอาจเดือดร้อนเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ และการไปซื้ออุปรณ์สำเร็จรูปมาติดตั้งนั้น นิสิตจะไม่ได้เรียนรู้หรือฝึกฝนการนำองค์ความรู้ของตนและไม่ได้ฝึกฝนการพึ่งตนเองในการแก้ปัญหา 

ขอแนะนำให้ระดมสมองกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมทั้งแรงใจ แรงกาย ใช้ทักษะการคิดสร้างสรรค์ หากจำเป็นต้องจัดซื้อหรือระดมทุน จะสามารถทำได้อย่างไรโดยไม่ให้เพื่อนเดือดร้อน หรือหากจะระดมทุนกันเองก็ต้องเป็นไปอย่าง "พอประมาณ" กับศักยภาพ อาจสร้างเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาเพียงจุดเดียว (ให้เห็นกระบวนการทำงานของทีม ภาวะผู้นำของทีม)





กลุ่มหมี
กลุ่มหมีเลือกน้ำท่วมบริเวณสนามกีฬาคอนกรีตข้างอาคารพลศึกษา  กำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา ๒ ข้อ ได้แก่ 
  • ๑) สร้างจิตสำนึกให้บุคคลที่ใช้สนาม ... ถือเป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพและเป็นนามธรรม ประเมินได้ค่อนข้างยาก แต่สามารถประเมินได้ด้วยการสังเกตพฤติกรรมและสัมภาษณ์  เป็นผลลัพธ์ (Outcome) เชิงพฤติกรรม ซึ่งหากทำสำเร็จจะนำมาสู่ประโยชน์ใหญ่และความยั่งยืนในตัวบุคคล   การเขียนวัตถุประสงค์ควรเพิ่มให้ชัดเจนและสามารถบรรลุจริงได้ เช่น ส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะในการใช้สนามกีฬาร่วมกัน ฯลฯ 
  • ๒) เกิดความสามัคคีในการใช้สนามและทำความสะอาดสนาม ... เป็นเป้าหมายเชิงนามธรรมเช่นกัน  เช่น ส่งเสริมความสามัคคี... แต่หากเน้นไปที่ความสามัคคี เป้าหมายข้อนี้จะเป็นประเด็นเดียวกับข้อแรก  จึงควรเน้นไปที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมสนามฯ  ให้เห็นผลผลิต (Output) ของโครงการ เช่น  ได้อุปกรณ์สำหรับรีดน้ำออกจากสนามคอนกรีต ฯลฯ  หรือหากเขียนเป็นวัตถุประสงค์ จะเป็น เพื่อจัดทำอุปกรณ์สำหรับรีดน้ำออกจากสนามคอนกรีต เป็นต้น 
กลุ่มหมีไม่ได้เขียนวัตถุประสงค์ จึงยังไม่สามารถวิพากษ์ทักษะในการกำหนดเขียนวัตถุประสงค์ได้  (บันทึกต่อไปน่าจะได้เห็นครับ)



กลุ่มดอกบัว

กลุ่มดอกบัว เลือกปัญหา ที่จอดรถในมหาวิทยาลัยเช่นกันกับหลาย ๆ กลุ่ม  วิเคราะห์สาเหตุปัญหาว่า สถานที่จอดไม่เพียงพอ และการจอดรถซ้อนคัน นิสิตขี้เกียจขับไปจอดด้านใน  คล้าย ๆ กับหลายกลุ่ม แต่ที่น่าสนใจคือ แนวทางในการแก้ปัญหาน่าสนใจ  โดยกำหนดไว้ดังนี้ 
  • จะทำตนเองเป็นแบบอย่าง 
  • จะชักชวนเพื่อนสนิทให้เปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง
  • จะไปเขียนป้ายบอกทางเข้าไปจอดให้ชัด 

    นี่คุณสมบัติของการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง  หากจะเปลี่ยนเแปลงอะไร สิ่งที่ทำให้ได้คือ ๒ ประการแรก





    กลุ่มลำธาร

    กลุ่มลำธาร ตั้งปัญหาว่า "สนามกีฬาไม่สมบูรณ์"  ... ชื่อยังไม่ชัดเจน การตั้งปัญหาที่ชัดเจน จะนำไปสู่การตั้งชื่อโครงการที่ชัดเจน  ชื่อโครงการควรชัดเจนเห็นแนวทางการปฏิบัติพอสมควร  เช่น  พื้นสนามกีฬาคอนกรีตชำรุด  อุปกรณ์กีฬาชำรุด ฯลฯ  

    กลุ่มลำธารวิเคราะห์สาเหตุหลักของปัญหาคือ โรงเรียนบ้านท่าขอนยางมีงบประมาณน้อย จึงจะระดมเพื่อน ๆ จิตอาสา ไปร่วมพัฒนาสนามกีฬา ดังกล่าว 

    เมื่อลงพื้นที่นิสิตจะได้เรียนรู้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทักษะในการคิดเชื่อมโยง ตั้งคำถาม สืบค้น หาวิธีนำเอาความรู้ที่มีไปปรับใช้ ... สิ่งเหล่านี้น่าจะสะท้อนมาให้เห็นในการนำเสนอหลังจากโครงการเริ่มดำเนินการ 




    ข้อสังเกต

    ๑) นิสิตแต่ละกลุ่มวาดภาพระบายสีต้นไม้ได้สวยงามมาก  มีรากและกิ่งก้านแตกสาขาออกไปมากมาย 
    ๒) แต่สิ่งสำคัญคือทักษะในการวิเคราะห์ คิดคล่อง คิดยืดหยุ่น คิดละเอียดละออ และคิดริเริ่ม ยังไม่ได้แสดงออกผ่านชิ้นงาน .... อาจเป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้ของผมเองที่ควรจะเอาตัวอย่างที่ดีในแต่ละขั้นตอนมาให้ดูก่อน  อย่างไรก็ดี มีกลุ่มที่ทำได้ดีพอสมควร เช่น กลุ่มภูเขา เป็นต้น  
    ๓) นิสิตส่วนใหญ่ยังเขียนวัตถุประสงค์ไม่ดี มีเพียงบางส่วนที่ทำได้ดี เช่น กลุ่มเพชร ที่กำหนดวัตถุประสงค์ข้อแรก 
    ๔) วิธีการแก้ปัญหาของนิสิตเกือบทั้งหมด ยังอยู่ในระดับ "ลอกเลียน" คือมีคนเคยทำแบบนี้และจะนำมาปรับใช้ปรับทำบ้าง ยังไม่ได้เกิดการ "สังเคราะห์" "ต่อยอด" หรือ "ริเริ่ม" วิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่ทันสมัย และได้นำความรู้และทักษะของนิสิตมหาวิทยาลัยมาใช้ให้เต็มที่  (ดูภาพ)




    ๕) เหตุผลที่ทำให้ชิ้นงานของนิสิตไม่ได้สะท้อนถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสังสรรค์ มากนัก น่าจะเป็นเพราะการลงพื้นที่หาข้อมูลและการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังน้อย 

    ยังมีวิธีการที่หลากหลายและทันสมัยที่ผมเชื่อว่า นิสิตสามารถทำได้ .... และต่อไปจะนำมาบันทึกไว้แลกเปลี่ยนครับ 

    เจอกันในบันทึกที่ (๕) ครับ 

    วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

    รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๓๐๐๕ การประยุกต์คณิตศาสตร์และสถิติในชีวิตประจำวัน _ ๐๑ แนวทางการปรับปรุงเอกสารประกอบการสอน

    วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ สำนักศึกษาทั่วไปร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา ๐๐๓๓๐๐๕ การประยุกต์คณิตศาสตร์และสถิติในชีวิตประจำวัน จัดอบอรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) อาจารย์ผู้สอนรายวิชา เพื่อรับฟังแนวทางจากผู้ทรงคุณวุฒิหลัก คือ ศาสตราจารย์ปรีชา ประเทพา และ KM ให้ได้แนวทางการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน  กลุ่มเป้าหมายคืออาจารย์ผู้สอน ๑๖ ท่านที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการประจำสำนักฯ แล้ว มีอาจารย์ผู้สอนมาร่วม ๗ ท่าน ... หากเป็นการประชุม ยังถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ตอนท้ายของการอบรม จึงได้นัดหมายวันเวลาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้งในวันที่ (๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๒.๐๐ น.) เพื่อนำเอาผลการ KM วันนี้ไปทำความเข้าใจร่วมกัน

    ผมทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" เช่นเดิม และเขียนบันทึกนี้เพื่อ สื่อสารบทเรียนหรือข้อสรุปสำคัญ ๆ นำมาให้อาจารย์ผู้ประสานงานและอาจารย์ผู้สอนนำไปใช้พัฒนาเอกสารประกอบการสอนต่อไป ... ผมขอสรุปทั้งหมดด้วยภาพดัานล่าง และอธิบายสาระเพิ่มเติมเพียงสังเขป 

    แนวทางการเขียนเอกสารประกอบการสอน


    ศาสตราจารย์ปรีชา ท่านเน้นดังนี้ครับ 
    • เป้าหมายของรายวิชานี้ (Learning Outcome) ไม่ใช่ความจำ แต่เป็นทักษะและเจตคิ ที่จะนำเอาคณิตศาสตร์และสถิติไปประยุกต์ใช้  ผู้เรียนต้อง "ได้คิด" เรียนแล้ว ความคิดติดในสมอง เกิดแรงบันดาลใจ สงสัยอยากรู้เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป สามารถอ่านกราฟ อ่านข้อมูลทางสถิติที่พบบ่อยได้ เช่น ผลสำรวจโพล (Polls) เป็นต้น 
    • บทที่ ๑ ต้องเขียนให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ ได้แก่ ธรรมชาติของคณิตศาสตร์และสถิติ ความสำคัญและความจำเป็นของคณิตศาสตร์และสถิติ และ เห็นภาพรวมของทุกบท ภาพรวมที่นำเอาคณิตศาสตร์และสถิติไปใช้เป็นเครื่องมือ 
    • บทที่ ๒ เป็นต้นไป  ควรเป็นตัวอย่างการนำเอาคณิตศาสตร์และสถิติไปใช้ เช่น เรื่อง Polls  เรื่องเงินฝากและสินเชื่อดีแล้ว เพียงให้เขียนให้ อ่านง่าย เชื่อมโยงมากขึ้น 
    • หลักในการเขียน คือ "อ่านง่าย ทันสมัย ได้คิด" 
    • แต่ละบทควรมีแบบฝึกหัด หรือ ใบงาน ให้นิสิตได้ ฝึกคิด ฝึกนำไปใช้  (ท่านยกตัวอย่างเรื่องเอกสารเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล...บันทึกถัดไปจะมานำเสนอครับ)
    • ข้อแนะนำสำหรับวิธีเขียน  คือ ๑)  การกำหนดและเลือก "คำสำคัญ" หรือสาระสำคัญต่าง ๆ ก่อน แล้วนำมาเขียนร้อยเรียง เชื่อมโยงกัน ให้เห็น "Chain of keywords" เห็นทั้งทฤษฎีและการนำไปใช้ในแต่ละสาขา  ๒) เขียนให้อ่านผู้อ่านอ่านแล้วเกิดท้าทาย (Challenges) เห็นความมหัศจรรย์ของจำนวน เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับคณิตศาสตร์และสถิติ  ๓) เรียนแล้วได้เครื่องมือ (Tools) ไม่จำกัดความรู้ ส่งเสริมให้ใช้ความรู้ในตนและใฝ่หาความรู้อื่นเพิ่ม
    ข้อสรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจารย์ผุ้สอน (เพิ่มเติม)

    ผมจับข้อสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ได้ดังนี้ครับ 
    • บทที่ ๑ ผู้เขียนคือ อ.ลิ (ผศ.ดร.มะลิวัลย์ ถุนาพรรณ์) และ ผศ.ดร.มนตรี ทองมูล ในเบื่้องต้น
    • บทที่ ๒ เขียนเกี่ยวกับ สมการและระบบสมการ พื้นที่ ปริมาตร  มอบให้ ผศ.ดร.ประภาส ผิวอ่อน ในเบื้องต้น 
    • บทที่ ๓ เขียนเรื่อง อัตราส่วนร้อยละ ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ อ.เอก (ผศ.ดร.วสัน ดวงคำจันทร์) 
    • บทที่ ๔ เขียนเรื่อง เงินฝากและสินเชื่อ ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ อ.ปาล์ม และ อ.จิ๊บ (ขออภัยที่ใช้ชื่อเล่นก่อนครับ)
    • บทที่ ๕ เขียนเรื่อง การประกันภัย  ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ อ.ปุ๊ก (รศ.ดร.นิภาพร ชุติมันต์) 
    • บทที่ ๖ เขียนเกี่ยวกับ การสำรวจ Polls  และการนำสถิติไปประยุกต์ใช้  ผู้รับผิดชอบเบื้องต้นคือ อ.จิต (ผศ.ดร.สุจิตตา สุระภี)
    ความเห็นส่วนตัว ผมอยากให้มีเรื่อง "หุ้น" และเรื่อง "หวย"  ฝากท่านพิจารณาครับ  หากนำวิทยาศาสตร์มาจับสองเรื่องนี้ นิสิตจะมีภูมิคุ้มกันในชีวิตแน่นอน