วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ปฏิทินการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๙

เรียน อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป และผู้สนใจ ที่นับถือทุกท่าน

สำหรับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาและอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ทุกท่านคงจะทราบดีแล้วถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากการปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้จำนวนรายวิชาลดลงจาก ๑๑๔ รายวิชา ลงมาเหลือเพียง ๓๒ รายวิชา ทำให้นิสิตได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองครบตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ทั้ง ๙ ด้าน และนำมาซึ่งผลการประเมินประกันคุณภาพการศึกษาระดับสถาบัน ที่สะท้อนว่า เรามาถูกทาง



อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามอัตลักษณ์นิสิตของมหาวิทยาลัยสู่ศตวรรษใหม่นี้ จะต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอีก ทั้งระบบและกลไกในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาอาจารย์ และโดยเฉพาะการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งพบได้ทั่วไป ไม่เฉพาะการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปเท่านั้น คือ  ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำและติดตามเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ (มคอ.) หรือ TQF ที่ สกอ. กำหนดไว้ในเกณฑ์การประเมินประกันคุณภาพการศึกษา  เมื่อ "ถึงเวลา" อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจึงต้อง "จัดทำ" เพื่อให้ผ่านตามเกณฑ์ โดยส่วนใหญ่ก็จะพบกันทั่วไปว่า ในทางปฏิบัติของการสอนนั้นไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เขียนไว้ใน มคอ. มากนัก จึงทำให้ไม่บรรลุผลตามเจตนาหรือความปรารถนาของ สกอ. ซึ่งต่อมาได้มี มติผ่อนปรนให้แต่ละมหาวิทยาลัยใช้รูปแบบของตนเองได้ (ผมเคยเขียนไว้ที่นี่)

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ "ระบบ มคอ." ใช้งานได้จริง บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้แต่ละวิชามีมาตรฐานและการพัฒนาที่ต่อเนื่อง  คำตอบไม่น่าจะยาก ก็เพียงแต่ลด "มายาคติ" หรือสิ่งที่ไม่ได้ใช้ใน มคอ. ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันลงไปให้มากที่สุด ตัดภาระงานด้านเอกสารที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด   เหลือไว้แต่เพียงสิ่งที่เป็น "แก่นแท้" ของการพัฒนา เพิ่มเวลาให้อาจารย์ได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ดูแลและปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้มากที่สุด

หลักการทรงงานที่สามารถน้อมนำมาปรับใช้แก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องนี้มี ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ทำให้ง่าย ๒) ใช้การมีส่วนร่วม และ ๓) คิดอย่างเป็นองค์รวม

๑) ทำให้ง่าย (สำหรับทุกคน)

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป จะออกหนังสือแจ้งให้อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา ต้องจัดทำ มคอ. ๓ ส่งก่อนเปิดเรียนประมาณหนึ่งเดือน และแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านต้องส่ง มคอ.๕ ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ทัน ค่าตอบแทนการสอนก็จะล่าช้าไป  ...  ทำให้หลายครั้งที่ค่อนข้างเป็นปัญหา ทำให้ทุกข์โดยไม่เกี่ยวอะไรกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตเลย

อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาฯ ก็ต้องรับภาระในการจัดทำ มคอ.๓-๕ ที่มีรายละเอียดเยอะ และที่ยากที่สุดคือการประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนทุกคนให้ส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องเติมลงไปในรายละเอียดของแต่ละหมวดของ มคอ.

สำนักศึกษาทั่วไป จึงได้พัฒนา ระบบจัดทำ มคอ.๓ และ มคอ.๕ ขึ้น และจัดให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ นำเข้าข้อมูล (คีย์) เกี่ยวกับ มคอ.๓ และ มคอ.๕ ของทั้ง ๓๒ รายวิชา ที่สำนักฯ มีข้อมูลอยู่แล้วลงในระบบทั้งหมด  ซึ่งอาจารย์ผู้ประสานงานสามารถเข้าไปแก้ไขในหมวดหรือหัวข้อที่ต้องการได้ และสามารถสั่งพิมพ์ได้ง่าย โดยไม่ต้องยุ่งวุ่ยวายเรื่องรูปแบบอีกต่อไป

สิ่งที่ง่ายขึ้นมาก ๆ คือ การจัดทำ มคอ. ๕ ซึ่งต่อไป ๑ รายวิชาให้จัดส่งเพียงชุดเดียว และเจ้าหน้าที่สำนักฯ ผู้รับผิดชอบ จะเป็นผู้ดึงเอาข้อมูลจากระบบระเบียน เช่น เกรดทุกกลุ่มการเรียน ผลการประเมินอาจารย์จากนิสิต เป็นต้น เข้ามาไว้ใน มคอ.๕ ของทุกรายวิชาให้ โดยอาจารย์ผู้ประสานงานฯ ไม่ต้องรวบรวมจากอาจารย์ผู้สอนอีกต่อไป

และจากการศึกษาพบว่า มคอ.๓ ของแต่ละภาคการศึกษาในปีการศึกษาเดียวกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้น การจัดทำ มคอ.๓ ในภาคการศึกษาปลาย และภาคการศึกษาพิเศษ สำนักฯ จะเป็นผู้จัดทำร่าง และนำเข้าที่ประชุมอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาฯ เพื่อพิจารณา  ...จึงน่าจะง่ายขึ้นสำหรับอาจารย์ผู้ประสานงานฯ  

๒) ใช้การมีส่วนร่วม (ของอาจารย์)

ปัญหาสำคัญอีกประการในการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา คือ ความยากลำบากในการประสานงานเพื่อรวบรวมเอาข้อมูลหรือเอกสารต่าง ๆ จากอาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะรายวิชาที่มีอาจารย์ผู้สอนจำนวนมาก และเมื่อไม่สามารถรวบรวมได้ทันเวลาที่สำนักฯ กำหนด สุดท้ายก็กลายมาเป็นภาระของอาจารย์ผู้ประสานงานที่ต้องดำเนินการเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องเอกสารไม่ใช่เรื่องใหญ่  เรื่องใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้การจัดการเรียนการสอนของรายวิชามีมาตรฐานและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย  ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนรู้คือ "ครู" ก็คือตัวอาจารย์ผู้สอน  ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนทุกท่านจะต้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนารายวิชาไปด้วยกัน คือ ต้องมีส่วนร่วมทุกคน

สำนักฯ จึง สร้างระบบและกลไกการทำงานอย่างมีส่วนร่วมขึ้น  โดยกำหนดให้ทุกรายวิชา มีการประชุมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาเป็นประจำทุกภาคเรียน ภาคเรียนละ ๑ ครั้ง โดยกำหนดเวลาตามรายละเอียดดังภาพ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)


ปฏิทินการศึกษาแบบวงกลมด้านบนนี้ ใช้สีเป็นสัญลักษณ์แยกแต่ละภาคการศึกษาให้ต่างกัน ภาคต้นสีน้ำเงิน ภาคปลายสีเขียว ส่วนภาคพิเศษเป็นสีน้ำตาล  ตัวอักษรสีใด จะเกี่ยวข้องกับปฏิทินของภาคเรียนนั้น ๆ  ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ท่านดูง่ายขึ้นมีดังนี้
  • ขั้นตอนสำคัญได้แก่  ส่ง มคอ.๓ -> เปิดให้ลงทะเบียนฯ -> สอบกลางภาค ->สอบปลายภาค ->นิสิตประเมินอาจารย์ ->ส่งเกรด และ -> ส่ง มคอ.๕ 
  • มีการประชุมเพื่อพัฒนารายวิชาอย่างน้อย ๑ ครั้ง ต่อภาคเรียน   
    • ภาคเรียนต้น ปีการศึกษา ๒๕๕๙ นี้ ควรจัดประชุมในช่วงวันที่ ๒๐ - ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ 
    • ภาคเรียนปลาย ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ควรจัดประชุมในช่วงวันที่ ๑๖ - ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙
  • สำนักศึกษาทั่วไป จะจัดประชุมอาจารย์ผู้ประสานงานเป็นประจำก่อนจะเปิดเรียนในภาคการศึกษานั้น ๆ ๑ - ๒ เดือน เพื่อพิจารณา มคอ.๓ และวางแผนการพัฒนการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาอาจารย์ร่วมกัน ซึ่งในปีการศึกษานี้ จะเป็นประมาณวันที่ ๑ พ.ย. ๑ เม.ย. และ ๑. ก.ค. 
  • ในการประชุมเพื่อพัฒนารายวิชา  สำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้นัดประชุม จัดทำวาระการประชุมร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงาน และจัดทำรายงานการประชุม  โดยอาจารย์ผู้ประสานงานทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในการประชุมจะมีวาระเพื่อพิจารณาที่จำเป็นต้องได้มติเพื่อนำไปเติมใน มคอ.๕ ของภาคเรียนนั้น ๆ เช่น ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน  การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาต่อไป เป็นต้น 
๓) มองอย่างเป็นองค์รวม

ระบบทุกระบบ คนทุกคน องคาพยพทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตจะต้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม การสร้างให้นิสิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน อย่างบูรณาการ ทั้งการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน การจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับการศึกษาด้วยตนเอง

ในขั้นตอนปฏิบัติต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกันทั้งเชิงระบบ ไม่ซับซ้อนเกินไป ลดขั้นตอน ไม่ซ้ำซ้อน  เชิงเทคนิค ต้องนำไอทีและเทคโนโลยีมาช่วยอย่างเหมาะสม ระบบ มคอ.3-5 จะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่การสร้างและแชร์สื่อการสอนออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น และในเชิงคุณภาพ จะต้องมีการควบคุมและติดตามประเมินผลการจัดการเรียนการสอนอย่างถ้วนทั่ว พร้อม ๆ ไปกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เป็นต้น

เขียนมายืดยาวง..ต้องขออภัยที่ท่านต้องใช้เวลาอ่าน  หากท่านไม่เข้าใจส่วนใด ... ผมยินดีอธิบายทุกครั้งที่มีโอกาสครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
อ.ต๋อย 


วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๖ : สรุปข้อตกลง สำหรับการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม และวันที่ ๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา ในที่ประชุมอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  มีข้อตกลงบางหลายประการที่ อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน ควรได้รับรู้และเข้าใจตรงกัน  ผมสรุปมาเป็นรายข้อ ได้ดังนี้ครับ

๑) รายละเอียดวิชาตามกรอบ TQF  หรือ  มคอ.๓  ใชให้ฉบับนี้ (เชิญคลิกเพื่อดาวน์โหลด pdf, word)

๒) คณะ-วิทยาลัยหรือสาขาวิชา สามารถนำเอาร่างต้นฉบับเอกสารประกอบการสอน (ดาวน์โหลดที่นี่ pdf, word) ไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการสอนเฉพาะของคณะ-วิทยาลัยหรือหลักสูตร อาจเพิ่มบทเรียนเฉพาะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของหลักสูตร 

๓) ในปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ นี้ ยังไม่มีการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการสอนสำหรับนิสิต  มีเพียงเอกสารประกอบการสอน(เนื้อหาส่วนกลาง ๓ บทเรียน) ที่จัดพิมพ์ในรูปเล่มขนาด B5 ส่งให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน  ส่วนนิสิตที่ลงทะเบียนเรียน แนะนำให้อาจารย์ผู้สอน นำไฟล์ต้นฉบับมอบให้นิสิตไปพิจารณาพิมพ์ด้วยตนเอง ...(จะส่งไฟล์ต้นฉบับมาให้อีกครั้ง)

๔) วิธีการประเมินผลการศึกษาของรายวิชาที่กำหนดไว้ใน มคอ.๓ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
  • ส่วนประเมินผลร่วมกัน ๔๐ คะแนน ทุกคณะ-วิทยาลัยจะต้องทำการประเมินเป็น ๒ ช่องคะแนน ได้แก่ 
    • การเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน ๑๐ คะแนน  เพื่อประเมินด้านคุณธรรมจากพฤติกรรมต่างๆ เช่น การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ในการเข้าเรียนและการทำงาน เป็นต้น
    • สอบกลางภาค ๓๐ คะแนน เพื่อประเมินความรู้และทักษะทางปัญญา ซึ่งมีขอบเขตเฉพาะเนื้อหาส่วนกลาง ๓ บทเรียน โดยสำนักศึกษาทั่วไปร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาของแต่ละคณะ-วิทยาลัยที่เปิดสอนในภาคเรียนจะร่วมกันพิจารณาออกข้อสอบ 
  • ส่วนประเมินเฉพาะของคณะ-วิทยาลัยหรือเฉพาะสาขาวิชา  ๖๐ คะแนน ซึ่งคณะ-วิทยาลัยหรือสาขาวิชา สามารถออกแบบวิธีการประเมินผลและสร้างเครื่องมือประเมินผลต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะ-วิทยาลัยและหลักสูตรของตนเองอย่างอิสระ ทั้งนี้ต้องรักษามาตรฐานการประเมินผลของตนเอง ซึ่งจะมีการวิจัยและประเมินผลสัมฤทธิ์โดยสำนักศึกษาทั่วไปต่อไป  ทั้งนี้อาจเป็นไปในแนวทางที่คณะ-วิทยาลัยที่เปิดสอนมาก่อน สรุปได้ดังนี้
    • ประเมินด้านความรู้และทักษะทางปัญญาเกี่ยวกับเนื้อหาเฉพาะของคณะ-วิทยาลัยหรือเฉพาะสาขาวิชา เช่น วิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยมของคณะ-วิทยาลัยและหลักสูตร รวมถึงทักษะพื้นฐานในเรียนรู้ชุมชน เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ และเครื่องมือศึกษาชุมชน ต่างๆ โดยใช้วิธีประเมินผลแบบต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การทดสอบย่อย การมอบหมายงานเดี่ยว ฯลฯ คะแนนส่วนนี้อาจเป็น ๑๐-๒๐ คะแนน
    • ประเมินด้านทักษะทางปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการใช้ตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี โดยประเมินจากผลงานและกระบวนการทำงานกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการบริการวิชาการ โครงการจิตอาสา  โครงการเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ   ซึ่งสำนักศึกษาทั่วไป จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมนำเสนอผลงาน/ผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน ประจำภาคเรียน  ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วง ๒ สัปดาห์สุดท้ายของภาคเรียน  คะแนนส่วนนี้อาจเป็น ๓๐-๔๐ คะแนน 
    • ประเมินคุณธรรมด้านจิตอาสาและจิตสาธารณะ โดยอาจประเมินจากผลการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม กิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของคณะ-วิทยาลัย หลักสูตร หรือของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถประเมินได้จากหลายรูปแบบ เช่น การเขียนอนุทินสะท้อนการเรียนรู้  การเขียนบันทึกเหตุการณ์ที่ประทับใจในการเข้าร่วม เป็นต้น  คะแนนส่วนนี้ ประมาณ ๑๐ คะแนน 
๕) ในการศึกษาชุมชนหรือลงพื้นที่ในชุมชน ให้ทุกคณะ-วิทยาลัย ให้ความสำคัญกับประเด็นต่อไปนี้
  • คำนึงถึงความต้องการของชุมชน และระวังผลกระทบเชิงลบต่อชุมชน 
  • เตรียมความพร้อมก่อนการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน ทราบและมีทักษะเบื้องต้นสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เช่น ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของชุมชน วิธีการทักทาย วิธีการเก็บข้อมูล ฯลฯ 
  • สร้างความประทับใจให้ชุมชน โดยเน้นให้นิสิตมีสัมมาคารวะ เคารพนอบน้อม ไปลามาไหว้ รู้จักกาละเทศะ กล้าพูดคุยสนทนา เป็นมิตรกับทุกคน และควรมีบุคคลที่ชุมชนให้ความนับถือเป็นผู้แนะนำ 
  • เข้าร่วมและศึกษากิจกรรมหรือสถานที่สำคัญ ๆ ในชุมชน เช่น วัด ตลาด แหล่งเรียนรู้ เป็นต้น 
  • มีข้อควรระวังหรือสิ่งต้องห้ามในการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน ได้แก่ 
    • ไม่ฝ่าฝืนค่านิยมของชุมชน 
    • ต้องระลึกว่านิสิตเป็นคนนอกชุมชน  ไม่เข้าไปแทรกแซงหรือมีความเห็นเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในชุมชน หรือเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้ง  ไม่เลือกข้าง
    • ไม่ทำตนเด่นเกินไป หรือเป็นจุดสังเกตเกินไป 
    • ไม่สนิทกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์ฉันชู้สาว ฯลฯ 
    • ฯลฯ 


 ๖) การทดสอบกลางภาค ๓๐ คะแนน เกี่ยวกับเนื้อหาในบทเรียนที่ ๓  การศึกษาชุมชนและเครื่องมือการศึกษาชุมชน นั้น ให้ออกข้อสอบตามขอบเขตดังนี้
  • การสังเกตและสำรวจชุมชน  ให้เน้นหลักการและทักษะหรือเทคนิคในการสังเกต  โดยไม่เน้นลงลึกถึงทฤษฎีการสังเกตเชิงวิชาการในระเบียบวิธีวิจัยชุมชน
  • การสัมภาษณ์  ให้เน้นหลักการและทักษะหรือเทคนิคในการสัมภาษณ์ โดยไม่เน้นลงลึกถึงทฤษฎีการสังเกตเชิงวิชาการในระเบียบวิธีวิจัยชุมชน
  • การระดมสมอง (Brainstorming) เน้นทักษะการระดมสมอง จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ และสรุป  ไม่รวมทักษะการสนทนากลุ่มย่อย (focus group) 
  • ประเมินความรู้ในหลักการของเครื่องมือศึกษาชุมชน ๗ ชิ้น ของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ซึ่งแสดงไว้ในเอกสาร (หรือดาวน์โหลดศึกษาเพิ่มได้ที่นี่)

๗) ในการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ นี้  ไม่มีข้อบังคับให้เชื่อมโยงการจัดการเรียนการสอนของรายวิชากับการดำเนินโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลักสูตร  แม้จะเป็นเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่จะ ส่งเสริมให้นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ ได้เรียนรู้อย่างบูรณาการกับการบริการวิชาการของหลักสูตร

๘) หลักสูตรหรือสาขาวิชา สามารถกำหนดแผนการเรียน  ให้เปิดสอนรายวิชาหนึ่งหลักสูตรฯ  สำหรับนิสิตทุกชั้นปี (ปี๑-ปี๔) ตามข้อจำกัดหรือความเหมาะสมของหลักสูตร  ทั้งนี้สำนักศึกษาทั่วไป ส่งเสริมให้เปิดสอนในชั้นปี ๓ หรือ ๔ เพื่อให้นิสิตมีศักยภาพสูงขึ้นในการบริการวิชาการ และบูรณาการกับโครงการบริการวิชาการ

จบเท่านี้ครับ....

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๕ : อบรมอาจารย์ผู้สอน ประจำปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ และวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙  สำนักศึกษาทั่วไป ได้จัดอบรมอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑  หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนประจำปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ มีอาจารย์จาก ๘ คณะ-วิทยาลัย เข้าร่วมสิ้น ๓๑ ท่าน ดังนี้
  • คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม
    • อ.วรรณา คำปอนบุตร
    • อ.เยาวภา นียากร
    • อ.จรินทร์ ฝักประไพ 
  • คณะวัฒนธรรมศาสตร์  อ.พนัส โพธิบัติ 
  • คณะแพทย์ศาสตร์ อ.ปิยาภรณ์ แสนศิลา
  • หลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต  อ.วรากร สีโย
  • คณะเทคโนโลยี
    • ผศ.ดร.ปรียาภรณ์ อิศรานุวัฒน์ 
    • อ.บุษบา ธระเสนา
    • อ.ดร.อิสราภรณ์ สมบุญวัฒนกุล 
    • ผศ.ดร.ลือชัย บุตคุป 
    • ผศ.ดร.เบญจวรรณ ชุติชูเดช 
    • อ.ธวัช ชินราศรี 
    • ผศ.ดร.มนัชญา สังข์ศรีอินทร์
    • อ.เมธาวี รอดมนตรี
    • อ.ดร.วิภาวี ไทเมืองพล
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
    • อ.ดร.รัตนา หอมวิเชียร
    • อ.ทวีศักดิ์ ทองแสน
    • อ.ศตวรรษ ทวงชน
  • คณะบัญชีและการจัดการ
    • อ.อัครเดช ฉวีรักษ์
    • อ.ณัฏฐ์ ธารเจริญ 
    • อ.อภิชัย มหธรรม
    • อ.อุทิศ แสงละเอียด 
    • อ.รัตนาวดี สนธิประสาท
    • อ.ไตรรงค์ สวัสดิกุล
    • อ.อัจฉริยา อิสสะไพบูลย์
    • อ.เอกภูมิ วงษาไฮ
    • อ.พงศธร ต้นตระบัณฑิตย์
    • อ.แคทลียา ชาปะวัง
  •   คณะสาธารณสุขศาสตร์ 
    • อ.สุไวย์รินทร์ ศรีชัย
    • ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ พรหมอารักษ์
    • ผศ.ขวญใจ ศุกรนันทน์ 
(ขออภัยหากตำแหน่งทางวิชาการไม่ถูกต้องนะครับ)

สำหรับอาจารย์ใหม่ที่มาประชุมและอบรมทั้งหมดนี้ ถือว่า ได้ผ่านเกณฑ์การพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเบื้องต้น จะนำเสนอรายชื่อเข้าเพื่อพิจารณาในที่ประชุมกรรมการประจำสำนัก ให้เป็นอาจารย์ผู้สอนอย่างเป็นทางการต่อไป

เป้าหมายของรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑

ผมนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า ครูเพื่อศิษย์อีสาน  มาใช้นำเข้าสู่การกำหนดเป้าหมายของรายวิชานี้ร่วมกัน นั่นคือ  "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ"  ...  ขอขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี่ สำหรับเป็นสิ่งดีๆ  ท่านเผยแพร่โดยไม่หวงแหนใด และผมก็เชื่อมั่นด้วยว่า เจ้าของท่านแรกในการใช้วิธีนี้ คงจะยินดีเช่นกัน

กิจกรรมชื่อว่า "IF I WERE"  ให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมประชุมเลือกว่า หากท่านเป็นคนในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งต่อไปนี้ ท่านจะทำอย่างไร?  โดยให้เลือกตอบเพียงคำถามเดียว ... เชิญผู้อ่านลองดูครับ

(Cr.  เพ็ญศรี ใจกล้า)

อาจารย์ตอบคำถามกันอย่างหลากหลายครับ ส่วนใหญ่บอกว่า หากมีพื้นที่ในเขตธุรกิจหรือมีเงินร้อยล้าน จะเอาไปซื้อโรงแรม ทำธุรกิจเมื่อได้เงินแล้วจะเอาเงินไปสร้างโรงเรียนและซื้อน้ำให้เด็กในแอฟริกา คือตอบแบบคิดลึกเชื่อมโยง หรือผมเรียกตอบแบบ "คนเก่ง"

อยากชวนให้ผู้อ่านลองเปิดใจ ทำให้ใจเสมือนว่า เราเป็นเด็กคนนั้นจริง ๆ  เด็กที่เพิ่งจะรู้ข่าวเป็นครั้งแรกในชีวิตว่ามีเด็กที่ขนาดแคลนน้ำขนาดที่วันหนึ่งต้องเดินหลายกิโลเมตรเพื่อหาน้ำกินและหลายคนต้องตายก่อนได้น้ำ  หรือถ้าท่านเป็นเด็กที่เติบโตอยู่ในสังคมที่ห้ามไปโรงเรียน ห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษา ท่านจะทำอย่างไร? หรือถ้าเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่ มีเงินเป็นร้อยล้าน หรือมีพื้นที่กลางสีลมจริง  ท่านจะทำอย่างไร?  เขียนคำตอบของท่านไว้ในกระดาษ  ก่อนจะคลิกอ่านสิ่งที่บุคคลต่อไปนี้ทำครับ



ไรอัน ฮเรลแจ็ก (Ryan Hreljac) เด็กชายวัย 6 ขวบจากประเทศแคนาดา ได้ยินเรื่องดังนั้นก็ถึงกับช็อกขณะเรียนวิชาสังคมศึกษา กับเรื่องราวของโลกที่ขาดแคลนน้ำสะอาด เด็กกว่าล้านคนในแอฟริกาที่ต้องเดินทางหลายกิโลเมตรเพื่อนำน้ำสะอาดมาอุปโภคบริโภค และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปก่อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสะอาดประทังชีวิต  ความตกใจของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจและตั้งเป้าหมายที่จะขุดบ่อน้ำเพื่อเด็กๆ แอฟริกาให้ได้  ไรอันทำงานรับจ้างต่างๆ รวมถึงออกไปพูดเพื่อขอเงินสนับสนุนเป็นเวลา 1 ปีและในที่สุดก็ได้นำเงินไปขุดบ่อน้ำแห่งแรกสำเร็จ แต่การเดินทางของหนูน้อยไรอันพึ่งเริ่มต้น ข่าวความเสียสละของเด็ก 7 ขวบนี้ โด่งดังไปทั่วแคนาดาและสหรัฐอเมริกา สร้างแรงบันดาลใจต่อให้เด็กๆ อยากร่วมกันส่งเงินไปให้เช่นกัน ไรอันได้จัดตั้งมูลนิธิ “Ryan’s Well Foundation” ขึ้นเพื่อระดมทุนที่จะขุดบ่ออื่นๆ เพิ่มในหลายๆ ที่ปัจจุบัน ไรอันได้รับเลือกให้เป็น Global Youth Leader โดยองค์การยูนิเซฟ มูลนิธิของเขาได้ ขุดบ่อน้ำไปแล้วกว่า 740 บ่อ ห้องน้ำกว่า 1 พันห้อง ในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ช่วยเหลือผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิต ไม่ให้ตายอย่างทุกข์ทรมาน และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอีกหลายคนที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อวันที่ดีกว่า  ....  (ที่มา http://www.iurban.in.th/inspiration/7kids-changed-theworld/)




มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เป็นผู้เรียกร้องสิทธิเพื่อการศึกษาของเด็กและผู้หญิง การเรียกร้องของเธอทำให้เธอโดนหมายหัวจากกลุ่มตาลีบาน และวันหนึ่งในวัย 15 ปี รถบัสโดยสารเธอที่เธอนั่งมาก็ถูกกลุ่มตาลีบานบุกยิงอย่างอุกอาจ แม้จะบาดเจ็บสาหัส แต่เธอก็รอดชีวิตมาได้ ทั่วโลกให้ความยกย่องในความกล้าหาญ เปรียบเธอเป็นแสงเทียนท่ามกลางพายุมืดมน หลัง จากรักษาหายดี มาลาลา ก็ได้รับการจัดชื่อเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในปี 2013 ของนิตยสาร TIMES พร้อมรางวัลเชิดชูเกียรติอื่นๆ อีกมากมาย และปี 2014 มาลาลาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในที่สุด และทำให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยวัย 17 ปี เท่านั้น 
(ที่มา http://www.iurban.in.th/inspiration/7kids-changed-theworld/) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 



นายธนกร ฮุนตระกูล ลูกชายคนเดียวของนายอากร ฮุนตระกูล เจ้าของโรงแรมเครืออิมพีเรียล ซึ่งมีโรงแรมในเครือถึง 7 แห่ง คือ โรงแรมนิวอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค (ปัจจุบัน คือ โรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพ) โรงแรมอิมพาล่า (ปัจจุบัน คือ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลธารา (ปัจจุบัน คือ โรงแรมดับเบิลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมธาราแม่ฮ่องสอน โรงแรมเรือและบ้านสมุย และโรงแรมลำปางธานี รวมทั้งยังมีกิจการร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายแห่ง ครอบครัวฮุนตระกูลที่บริจาคที่ดินบนเกาะสมุย ประมาณ 4,870 ไร่ ให้กับทางราชการ เพื่อให้รัฐนำไปใช้ประโยชน์ จัดทำป่าชุมชน เขตป่าต้นน้ำลำธาร หรือเป็นพื้นที่ป่าสำหรับอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังกล่าวไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำ  หลังจากพ่อเสียชีวิตแทนที่นายธนกร จะดำเนินธุรกิจขยายโรงแรมต่อไปตามความคิดของพ่อ  แต่นายธนากรกลับเลือกที่จะขายกิจการโรงแรมขยาดใหญ่ทั้งหมด เพื่อนำเงินไปใช้ปลดหนี้ทั้งหมด และนำเงินส่วนที่เหลือกว่า ๒,๙๐๐ ล้าน ไปพัฒนาป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และพัฒนาโรงแรมบ้านท้องทราย ที่เกาะสมุยจนกลายเป็น ๑ ใน ๑๐๐ โรงแรมที่ดีที่สุดหลายปีซ้อน  (ที่มา: http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000131980 )


คุณธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณารางวัลสิงโตเมืองคานส์ (Cannes Lion) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดด้านโฆษณาของโลก ได้รับรางวัลระดับทองคำ (Gold Lions) มาเป็นเวลา 5-6 ปีติดต่อกัน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กำกับโฆษณาอันดับต้นๆ ของโลก เขามีผลงานมากมายที่คนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก หนังโฆษณาไทยประกันชีวิต  โฆษณาของทรูมูฟ และอีกมากมาย ซึ่งเขามักจะสร้างจากเรื่องจริง และบรรยายด้วยตนเอง 











หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ เป็นธิดาคนเล็กของ ร้อยเอก หม่อมเจ้าทินทัต สุขสวัสดิ์ กับหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนวรรณวิทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ต่อจากหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารดา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตธุรกิจ สุขุมวิทย์ซอย ๘ ล้อมรอบไปได้ตึกใหญ่ใจกลางเมือง โดยหม่อมราชวงศ์รุจีสมรได้รับการยกย่องว่ามีจิตวิญญาณความเป็นครู ด้วยเก็บค่าเทอมราคาถูก   (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เมื่อเล่าเรื่องความดีของทั้ง ๔ ท่านนี้ให้กับอาจารย์ฟัง  ผมตั้งคำถามว่า  "หากเราจะสอนให้นิสิตเป็นผู้มีจิตอาสา เราจะมีวิธีการสอนอย่างไรบ้าง? "  และเปิดเวทีให้ระดมสมองกันสั้นๆ  สรุปตรงกันว่า เป้าหมายของรายวิชานี้คือการปลูกฝัง "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ" เป็นสำคัญ ด้วยวิธีต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง 
  • หยิบยกตัวอย่างบุคคลแบบอย่างดังเช่นเสนอมานี้  อภิปรายและสรุปถึงความดี ให้เห็นตัวอย่างของจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่
  • ใช้กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เช่น กำหนดให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมหรือสร้างกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม 
  • กิจกรรมทำความดีต่างๆ  
  • จัดการเรียนการสอนแบบโครงการเป็นฐาน (Project-based Learning) หรือปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) โดยเลือกปัญหาที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตนๆ 
  • ฯลฯ 
ทั้งนี้การเข้าใจความหมายของคำว่า "จิตอาสา" (Volunteer Spirit) และคำว่า "จิตสาธารณะ" หรือ (Public mind) นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกำหนดให้ตรงกัน และระมัดระวังทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผลการศึกษา  เพื่อให้เคลียร์ประเด็นนี้  จึงขอนำเอาคำนิยามของทั้งสองคำมาวางต่อท้ายบันทึกไว้ตรงนี้ ให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านได้นำไปพิจารณา

 "จิตอาสา" อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ ถึง ๑๐ ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ "ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา" ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย.. 

"จิตอาสา" ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา "จิตวิญญาณ" ของเราด้วย 

"จิต อาสา" คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม...อีกทั้งยังช่วยลด "อัตตา" หรือความเป็นตัว เป็นตนของตนเองลงได้บ้าง 

"อาสา สมัคร" เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มี จิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมาก กับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือ สังคมให้เกิด ประโยชน์และความสุขมากขึ้น 

การ เป็น "อาสาสมัคร" ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในทางบวก ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรทำทั้งสิ้น คนที่จะเป็นอาสาสมัครได้นั้น ไม่ได้จำกัดที่ วัย การศึกษา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือ ข้อจำกัด ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่ต้องมีจิตใจ เป็น "จิตอาสา" ที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคม เท่านั้น


(คลิกเพื่อลิงค์ที่มา)

ส่วนคำว่า "จิตสาธารณะ" นั้นราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของจิตสำนึกทางสังคม หรือจิตสำนึกสาธารณะว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความหมายว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อ ประเทศชาติ มี ความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

สำหรับผมแล้ว คำว่า "จิตอาสา" นั้น ก็คือการให้ และต้องเป็นการให้ที่ออกมาจากภายใน ระเบิดจากข้างใน หรือก็คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ   ส่วนคำว่า "จิตสาธารณะ" คือการใส่ใจและเสียสละเพื่อส่วนรวมเพื่อคนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม นั่นเอง

..................................
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณ อ.หมวย (หนึ่งในอาจารย์ที่เข้าร่วมประชุม) ที่กระตุกให้ผมได้กลับมาศึกษาและทบทวนความหมายสากลของคำว่า "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ"  อย่างจริงจัง  ซึ่งก่อนนั้นผมเข้าใจว่า "จิตสาธารณะ" นั้นรวมหมายถึงบทบาทและหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเพื่อส่วนรวมด้วย แต่หลังจากได้มาสืบค้นอีกครั้ง จึงพบว่า บทบาท หน้าที่ หรือความรับผิดชอบใดๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายของสังคม นั้นไม่ได้รวมไว้ในความหมายของจิตสาธารณะโดยตรง เมื่อนิยามแบบนี้ ทำให้สองคำ "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ" จึงมีความหมายคล้ายกันและหนุนเสริมซึ่งกันและกันจนยากจะแยกข้อแตกต่าง 

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๔ : ถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๘

วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙  เราเชิญตัวแทนอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มาร่วมแลกปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒/๒๕๕๘ ที่ผ่านมา  ขอขอบคุณ  เราพบว่าแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละคณะแตกต่างกัน อย่างน่าสนใจ  จึงขอนำเอาไทมไลน์กิจกรรมการเรียนรู้ของแต่ละคณะมาแลกเปลี่ยน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของ คณะ-วิทยาลัยที่จะเปิดสอนต่อ ๆ ไป

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คือการปลูกฝัง "จิตอาสา" ด้วยกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชน  เครื่องมือสำคัญของอาจารย์ คือการโยนคำถามว่า  "ชุมชนต้องการอะไร"  และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ชุมชนต้องการเป็นอันดับแรก การทำงานร่วมกันอย่างหนักของนิสิต ความสุขจากการอุทิศแรงกาย แรงใจ และการสละทรัพย์เงินส่วนตัว น่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการ "ระเบิดจากภายใน" เป็นเหตุให้เกิดจิตอาสาที่แท้จริง

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่สัปดาห์แรกถึงสัปดาห์สุดท้าย  ท่านผู้อ่านสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมมากนัก





คณะวิทยาการสารสนเทศ

จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนของคณะวิทยาการสารสนเทศ คือ การบรูณาการความรู้ในสาขาไปใช้ในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการทำงานเป็นทีม  คำถามสำคัญในการสอนคือ จะนำความรู้ในสาขาวิชา (หลักสูตร) ของตนเองไปใช้ในการทำงานเป็นทีมเพื่อสังคมอย่างไร?





ผม AAR ว่า การจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรก (๒/๒๕๕๘) ที่ผ่านมานั้น แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จแบบงดงาม เนื่องจากปัญหาด้านการบริหารจัดการในการประสานและขับเคลื่อนของผมเอง  แต่ก็ถือว่าได้รับ "องค์ความรู้" ที่จะนำมาสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป ที่คุ้มค่า  โดยเฉพาะข้อค้นพบที่เราต้องยอมรับ ดังนี้
  • เนื้อหาร่วม (เนื้อหาส่วนกลางที่ต้องสอนร่วมกัน) ค่อนข้างลงตัว คือบทที่ ๑ ถึงบทที่ ๓ ได้แก่ 
    • บทที่ ๑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   ซึ่งจะกล่าวถึงความเป็นมาของจังหวัด การก่อตั้งมหาวิทยาลัย วิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ค่านิยม และคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย และรวมไปถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรด้วย 
    • บทที่ ๒ บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการรับใช้สังคม การบริการวิชาการ และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ 
    • บทที่ ๓ การศึกษาชุมชน  ซึ่งเน้นภาพกว้างของหลักการ ความสำคัญ เครื่องมือ เทคนิค และข้อปฏิบัติเมื่อจะลงพื้นที่ศึกษาชุมชน  
  • เนื้อหาร่วมนี้ จะวัดผลในการสอบกลางภาคเรียน ด้วยข้อสอบชุดเดียวกันทุกคณะ-วิทยาลัย  คิดเป็นคะแนน ๓๐ คะแนน 
  • กำหนดให้มีคะแนนสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้  ๑๐ คะแนน 
  • คณะ-วิทยาลัย มีอิสระที่จะออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง  โดยเฉพาะในส่วนหลังสอบกลางภาค  และกำหนดแนวทางการวัดผลประเมินผลของตนเอง ทั้ง ๖๐ คะแนน  
  • ปลายภาคเรียน สำนักศึกษาทั่วไป จะจัดเวทีนำเสนอผลงาน/ผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการเรียนการสอนของรายวิชา  และมีการเชิญกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก มาร่วมสะท้อนความเห็น และประเมินผลการเรียนรู้  โดยไม่มีข้อบังคับว่า แต่ละคณะ-วิทยาลัย จะต้องนำคะแนนนั้นๆ ไปใช้ 
ขอจบเท่านี้ครับ 

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา สรุปผลการประชุมเตรียมสอนปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

เรียนอาจารย์ผู้สอน รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา ประจำปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙ ทุกท่าน

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙  อาจารย์ผู้ประสานงาน อาจารย์ผู้สอน และผมในฐานะผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ประชุม KM กันเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ และตกลงบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้ประสานงาน ต่อเนื่องจากที่ร่างกันไว้ตั้งแต่ตอนไปฝึกอบรมที่อินเตอร์รีสอร์ท อ.หนองแสง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ ๙-๑๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา   รวมทั้งสองการประชุม มีข้อสรุปร่วมกันดังนี้

๑) เนื้อหา

หลังจากผ่านการจัดการเรียนการสอนมาแล้ว ๓ ภาคเรียน  เนื้อหาที่ใช้สอนค่อนข้างลงตัว ข้อตกลงคือ เราจะยึดเอาเนื้อหานี้ (เนื้อหานิ่งแล้ว) ในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ให้เสร็จภายในปีการศึกษา ๒/๒๕๕๙ นี้


เนื้อหาที่ตกลงกัน เพิ่มเติมจากเดิมที่ประชุมกันในภาคเรียนที่แล้วมาเพียงเล็กน้อย (อ่านได้ที่นี่ครับ) คือ เพิ่มบทเรียนเรื่อง "มนุษย์กับวัฒนธรรม" และสลับหัวเรื่องใหม่เท่านั้น ภาพรวมยังคงเป็นการเรียนจากภาพใหญ่เรื่องไกลมายังเรื่องใกล้ตัว เรียนโลกทั้งใบ โลกภูมิ -> ชาติภูมิ -> มาตุภูมิ ->มาสู่ภูมิสังคม โดยแบ่งเป็นทั้งหมด ๑๓ บทเรียน ดังนี้ครับ

  • บทที่ ๑ อารยธรรมตะวันตก 
  • บทที่ ๒ อารยธรรมตะวันออก : จีน - ญี่ปุ่น 
  • บทที่ ๓ อารยธรรม อินเดีย - เขมร 
  • บทที่ ๔ อารยธรรมอิสลาม
  • บทที่ ๕ รัฐชาติ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์
  • บทที่ ๖ โลกาภิวัฒน์
  • บทที่ ๗ อารยธรรมไทย
  • บทที่ ๘ อารยธรรมอีสาน
  • บทที่ ๙ มนุษย์กับสังคม
  • บทที่ ๑๐ มนุษย์กับวัฒนธรรม
  • บทที่ ๑๑ มนุษย์กับเศรษฐกิจ
  • บทที่ ๑๒ มนุษย์กับการเมือง
  • บทที่ ๑๓ มนุษย์กับศาสนา 
ที่ประชุมตกลงว่า เนื้อหาเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงโดยง่าย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาการเรียนการสอนและเอกสารประกอบการสอน

๒) แนวทางการสอน

วิธีการสอน ให้เป็นแบบบรรยาย คล้ายการบรรยายพิเศษในหัวเรื่องตามบทเรียน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียน ได้เห็นภาพกว้าง รู้กว้างขวาง ได้รับองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในหัวเรื่องนั้นๆ ให้อาจารย์ผู้สอนบรรยายให้จบและมอบหมายงาน (ถ้ามี)  โดยอาจารย์ผู้สอนไม่ต้องกังวลเรื่องความเชื่อมโยงของระหว่างบทเรียน   ...  คุยกันว่า หลังจากได้พัฒนาเอกสารประกอบการสอนหรือตำราเสร็จแล้ว อาจารย์แต่ละท่านจะเห็นความเชื่อมโยงสอดคล้อง และลดความซ้ำซ้อนของการสอนได้เอง

๓) การประเมินผล

การประเมินผล ให้เป็นไปตาม มคอ.๓ (ที่ส่งไปยังสำนักศึกษาทั่วไปแล้ว ดาวน์โหลดที่นี่)  ประเมินเป็นระบบเกรด ในอัตรา ๖๐:๔๐  โดยเก็บคะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรมและใบงาน ๔๐ คะแนน และคะแนนสอบ ๖๐ คะแนน โดยแยกละเอียดย่อย ดังนี้
  • เข้าร่วมกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของคะแนนทั้งหมด
  • คะแนนงาน/ใบงาน/ทดสอบย่อย ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  โดยเก็บคะแนนร้อยละ ๕ จากบทเรียนที่ ๒ ๓ ๔ ๖ ๑๑ และ ๑๓  
  • คะแนนสอบกลางภาคเรียน ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  โดยครอบคลุมเนื้อหาบทที่ ๑ - ๖
  • คะแนนสอบปลายภาคเรียน ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  ครอบคลุมเนื้อหาบทที่ ๗ - ๑๓
โดยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบแต่ละบทเรียน ออกข้อสอบ ๑๐ ข้อ ... ดังนั้นหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ข้อสอบกลางภาคเรียนจะมีทั้งหมด ๖๐ ข้อ  และข้อสอบปลายภาค ๗๐ ข้อ

๔) เกี่ยวกับผู้ประสานงาน

เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน จัดทำและจัดส่ง มคอ.๓ มคอ.๕ รวบรวมข้อสอบ  และ การพัฒนาการเรียนการสอน เอกสารประกอบการสอน จึงแต่งตั้งให้วิชานี้มีอาจารย์ผู้ประสานงาน ๒ ท่าน  ให้ทำงานคู่กัน  โดยในแต่ละปีการศึกษา ควรจะมีการจัดประชุมอาจารย์ผู้สอน ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย ได้แก่
  • ประชุมเพื่อพิจารณาผลการศึกษา (ประชุมเกรด) 
  • ประชุมเพื่อจัดทำ มคอ.๕  และ มคอ.๓ ของภาคการศึกษาถัดไป  (ประชุม KM รายวิชาประจำภาคเรียน)
สำหรับวิธีการประชุม ให้อาจารย์ผู้ประสานงานแจ้งและส่งวาระประชุมมายังเจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไปให้เป็นผู้นัดประชุม  สำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุม เพื่อบันทึกกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นระบบ

๕) เอกสารประกอบการสอน

กำหนดข้อตกลงในการพัฒนาดังนี้
  • อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน ส่งต้นฉบับมายังอาจารย์ผู้ประสานงาน ภายในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ 
  • อาจารย์ผู้ประสานงาน รวบรวมและจัดส่งต้นฉบับ เอกสารมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดรูปเล่มภายในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๙ 
  • จัดประชุมวิพากษ์ร่างเอกสารในช่วงสอบกลางภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙
  • จัดพิมพ์ให้ทันใช้ในปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๙
สำหรับปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙  ให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน นำส่งเอกสารประกอบการสอนและสื่อพาวเวอร์พอยท์ มายังสำนักศึกษาทั่วไป ภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙

ทั้งหมดคือข้อสรุปของการประชุมครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๓ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาเอกสารประกอบการสอน (๑)


วันที่ ๙-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ อาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๑๒ ท่าน (จากทั้งหมด ๒๕ ท่าน) เข้าร่วมโครงการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ประจำปี ๒๕๕๙ ที่จัดขึ้นที่โรงแรมอินเตอร์รีสอร์ท อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ร่วมกับอีก ๘ รายวิชาที่ไปในคราวเดียวกัน

เอกสารประกอบการสอนที่ใช้ผ่านมา ๒ ภาคเรียน ทีมอาจารย์เรายังไม่ได้เป็นเขียนหรือผู้เรียบเรียง เป็นเพียงการรวบรวมและคัดลอกเอาเนื้อหาจากหนังสือของ ดร.ปียานุช ธรรมปิยา และเอกสารเผยแพร่จากสำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. เกือบทั้งหมด ด้วยวัตถุประสงค์ให้อาจารย์ผู้สอนได้เข้าใจถึงแนวทางของรายวิชาให้ตรงกัน 

มาถึงเวลา ณ เวทีนี้ ผมเสนอต่ออาจารย์หลายท่านว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ทีมอาจารย์ผู้สอนน่าจะเรียบเรียงหรือเขียนเอกสารประกอบการสอนขึ้นเอง จึงได้ตกลงกันจัดแบ่งให้แต่ละกลุ่มอาจารย์ร่วมด้วยช่วยกันเขียนยกร่างขึ้น อย่างไรก็ดี คงจะไม่ทันใช้ในภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙ นี้ จึงได้ตั้งเป้าหมายและทำไทม์ไลน์กันว่า เอกสารเล่มใหม่ที่จะได้จากการรวบรวมเรียบเรียงขึ้นนี้ จะใช้ในปี ๒/๒๕๕๙ เป็นปีแรก โดยผ่านกระบวนการของทางสำนักศึกษาทั่วไป

เนื่องจากอาจารย์หลายท่านไม่สามารถไปร่วมในการประชุมครั้งนี้ได้  จึงขอสรุปให้เข้าใจข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้ครับ

เอกสารประกอบการสอนสำหรับปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

  • นำเอกสารที่ใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๘  มาปรับให้เป็นไปตามรูปแบบที่สำนักศึกษาทั่วไปกำหนด (อ่านได้ที่นี่)
  • สิ่งที่ต้องทำสำหรับการปรับปรุงครั้งนี้มี ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ตรวจทานเวิร์ดดิ้งของเอกสารฉบับเดิมให้ดีขึ้น ๒)เขียนเพิ่มเติมองค์ประกอบที่กำหนด เช่น วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม วิธีการสอน/กิจกรรมการเรียนรู้ วิธีประเมินผล และหนังสืออ้างอิง   และ ๓) ออกข้อสอบสำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๙ บทละ ๓๐ ข้อ โดยแบ่งหน้าที่กันแต่ละบทเรียนดังนี้ 
    • บทที่ ๑ ที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้รับผิดชอบคือ อ.จิรภา อ.วิลาวัณย์ อ.วรรณชัย อ.โสภา 
    • บทที่ ๒  ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้รับผิดชอบคือ อ.ธวัช อ.เบญจวรรณ อ.ประสิทธิ์ อ.ประภัสสร ....  (ท่านอาจารย์ประภัสสรได้ออกข้อสอบและส่งมาที่ผมแล้วส่วนหนึ่งครับ)
    • บทที่ ๓ ศาสตร์พระราชาและหลักการทรงงาน ผู้รับผิดชอบคือ อ.มัณฑนา อ.อุษา อ.พรทิพย์ อ.วรัญญู และ อ.เกรียงศักดิ์ ... (อ.เกียงศักดิ์ได้ส่งข้อสอบให้ผมแล้วขอบพระคุณมากครับ)
    • บทที่ ๔ เกษตรทฤษฎีใหม่ ผู้รับผิดชอบคือ อ.เบญจพร อ.พัฒนพล อ.บังอร อ.ปณรัตน์ และ อ.วรากร 
    • บทที่ ๕ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ผู้รับผิดชอบ คือ  อ.มาระตี อ.สุดารัตน์ อ.ขวัญใจ อ.วันทกาญจน์ และ อ.วันทนา 
ขณะนี้หน้าที่ ๒ ประการแรกได้เสร็จเรียบร้อยครับ เหลือเพียงการจัดทำข้อสอบสำหรับ ปีการศึกษา ๒๕๕๙  ซึ่งอาจารย์กำลังทยอยส่งมาครับ  เรามีนัดหมายกันที่จะประชุมหารือกันในวันที่ ๒๖ ก.ค. ๒๕๕๙ นี้

เอกสารประกอบการสอนสำหรับปีการศึกษา ๒/๒๕๕๙ เป็นต้นไป

สรุปตกลงกันดังนี้ครับ 
  • ปรับปรุงเอกสารประกอบการสอนให้มี ๘ บทเรียน (จากเดิม ๕ บทเรียน) โดยให้ผู้รับผิดชอบไปเขียนในลักษณะเรียบเรียงหรือรวบรวม ไม่ใช่การคัดลอก เพื่อจะได้พัฒนาเป็นหนังสือหรือตำราต่อไป 
  • กำหนดทีมผู้เขียนยกร่างในแต่ละบทเรียน และกำหนดให้มีผู้ประสานงานกลุ่มย่อย ด้งนี้  
    • บทที่ ๑ ที่มาของ ปศพพ.  ผู้เขียน ๔ ท่าน คือ อ.ฤทธิไกร อ.จิรภา อ.วิลาวัณย์ และ อ.วรรณชัย  มอบให้ อ.จิรภา เป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่อย 
    • บทที่ ๒ ปศพพ.  ผู้เขียนมี ๔ ท่าน ได้แก่ อ.ธวัช อ.ประสิทธิ์ อ.เบญจวรรณ อ.เทอดศักดิ์  โดยมี อ.ธวัช เป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่อย 
    • บทที่ ๓ ศาสตร์พระราชาและหลักการทรงงาน ผู้เขียนมี ๒ ท่าน คือ อ.มัณฑนา กับ อ.วรัญญู ให้ อ.วัญญูเป็นผู้ประสาน
    • บทที่ ๔ ปศพพ.กับการดำเนินชีวิต มีผู้เขียน ๓ ท่าน คือ อ.มาระตี อ.สุดารัตน์ และ อ.ขวัญใจ  ให้ อ.มาระตีเป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่อย
    • บทที่ ๕ เกษตรทฤษฎีใหม่ มีผู้เขียน ๔ ท่าน ได้แก่ อ.เบญจพร อ.พัฒนพล อ.วรากร และ อ.บังอร โดยให้ อ.เบญจพร เป็นผู้ประสานกลุ่มย่อย 
    • บทที่ ๖ เศรษฐศาสตร์กับความพอเพียง มีผู้เขียน ๓ ท่าน ได้แก่ อ.โสภา อ.จันทร์ฉาย และ อ.วันทกาญจน์ ให้ อ.โสภาเป็นผู้ประสานกลุ่มย่อย
    • บทที่ ๗ ปศพพ. กับการพัฒนาท้องถิ่น มีผู้เขียน ๔ ท่าน คือ อ.พรทิพย์ อ.เกรียงศักดิ์ อ.อุษา อ.ประภัสสร โดยให้ อ.พรทิพย์ เป็นผู้ประสานกลุ่มย่อย
    • บทที่ ๘ ปศพพ. กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (ระดับประเทศ&โลก)  มีผู้เขียน ๓ ท่าน คือ อ.ปณรัตน์ อ.สิริภัค และ อ.วันทนา
  • กำหนดเวลาคือ ร่างฉบับแรกเสร็จก่อนสอบกลาง (ประมาณกลางกันยายน ๒๕๕๙)  และมีกำหนดรวบรวมกันแล้วนำเข้าวิพากษ์กันในช่วงสอบกลางภาค ก่อนจะส่งให้สำนักศึกษาทั่วไป นำไปผ่านผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป 
  • วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นี้ ให้แต่ละกลุ่มนำร่างการเขียนแต่ละบทเรียน (หัวข้อย่อย) มานำเสนอและร่วมกันวิพากษ์ ก่อนจะเริ่มเขียนตามแนวทางที่กำหนดร่วมกันต่อไป  
จบครับ.... เชิญดูรูปครับ ...








วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา จับประเด็นจากคลิปบรรยาย (๓) วัฒนธรรมไทย


บันทึกที่ (๑)
บันทึกที่ (๒)

เชิญครับ สำหรับคนที่ชอบดูคลิป


ดูสไลด์ของท่านประกอบได้ด้านล่างครับ






  • มีคำ ๓ คำที่ควรรู้ มีความหมายต่างกัน ได้แก่  
    • Tai หรือ ไท หมายถึง เชื้อชาติไท ประกอบด้วยคนจำนวนมาก ที่พูดภาษาไท 
    • Thai หรือ ไทย หมายถึง คนไทกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า สยาม จนกระทั่งมาเปลี่ยนเรียกตนเองเป็น ประเทศไทย ในปี 1939
    • Siam หรือ สยาม ก็คือคนไทกลุ่มหนึ่ง ดังที่กล่าวไป 
  • คนไท (Tai) นั้นเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่  หลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธ์ แต่ใช้ภาษาเดียวกัน เรียกว่า ภาษาไท  อาศัยอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิ  เช่น 
    • สยาม อยู่แถวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 
    • ลาว อยู่แถวแม่น้ำโขง  ฝั่งซ้ายเรียกลาวล้านนา ฝั่งขวาเรียกลาวล้านช้าง 
    • ภูไท อยู่เหนือลาวขึ้นไป  สาเหตุที่คนไทยมีเชื้อชาติภูไทยในปัจจุบันเยอะเกิดจากการกวาดต้อนผู้คนหลังสงคราม  ภาษาภูไท จะคล้าย ๆ ภาษาไทย 
    • จ้วง  อยู่เหนือภูไทขึ้นไป อยู่ทางตอนใต้ของจีน  ปัจจุบันอยู่ในมณฑลกวางสี 
    • ลื้อ หรือ เขิน   อยู่เหนือเชียงใหม่ขึ้นไป ในอาณาจักรสิบสองปันนา เชียงรุ้ง  
    • ชาน  หรือเราเรียกว่า ไทยใหญ่ 
    • อาหม ตอนนี้กลุ่มนี้ไม่เป็นไทยแล้ว แต่งชุดแขก พูดภาษาแขกหมดแล้ว  เหลือแต่ร่องรอยตัวหนังสือเท่านั้น 
    • คัมเต  อยู่ติดกับชายแดนทิเบต  ...  มีอาจารย์ภาคภาษาไทยเคยไปที่นั่นแล้วกลับมาเล่าให้ฟังว่า เขาใช้ภาษาไทย คุยกันรู้เรื่อง มีกษัตริย์ปกครอง อยู่เรือนไม้ทรงสูง เหมือนบ้านทางอีสานในปัจจุบัน เขาถามว่า  "มึงมาแต่ไส"  
  • สมัยจอมพลปอ พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็น ประเทศไท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชาวไท  เป็นรัฐชาติ  มีบางคนบอกว่าควรจะมี ยอยักษ์ (ย.)  จะได้สวยๆ  เหมือนการเขียนคิ้วทาหน้า    จึงเปลี่ยนมาเป็นประเทศไทย จนปัจจุบัน
  • คนไทยเป็นอย่างไร ?   ที่เด่นที่สุดคือ มีจิตใจโอบอ้อมอารี แบ่งปันกัน ชอบความสนุกสนาน เคารพผู้ใหญ่ และ ๘่.๐๐ น. ยืนตรงเคารพธงชาติ  ... สิ่งดี ๆ เหล่านี้ เริ่อมเสื่อมไปในปัจจุบัน
  • วัฒนธรรมขี้อาย (Shame Culture) ผู้บรรยายยกตัวอย่างกรณีด้วยการขายเสียง  ไม่ใช่มองหน้าแล้วอาย  แต่อายเมื่อรู้ว่าตนเองทำไม่ดี (ทำความชั่ว) แต่จะทำต่อ ๆ ไป ตราบเท่าที่ไม่มีคนรู้  เมื่อมีคนรู้ จึงเกิดความอายขึ้น ...  คือ ตอนทำไม่อาย ตอนโกงไม่อาย แต่จะอายเมื่อถูกจับได้
  • Shame Culture  ไม่ใช่เฉพาะเป็นนิสัยของคนไทย แต่เป็นนิสัยของคนในเอเชียอาคเนย์... จึงไม่ต้องแปลกใจที่ ประเทศเหล่านี้ ขึ้นชื่อเรื่องอันดับการคอรัปชั่นสูง 


  • การสาดน้ำ การรดน้ำดำหัว การรดน้ำดำหัว เป็นประเพณีของชาวมอญ ที่ทำต่อกันมาเป็นพันปี 
  • ต่อมาเมื่อพม่าได้มอญเป็นเมืองขึ้น ได้นำเอาประเพณีนี้ไปเล่นในพม่าด้วย 
  • เมื่อบุเลงนอง ตีกรุงศรีอยูธยาได้ตอนปี ๒๑๑๒ จึงนำเอาประเพณีเหล่านี้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่นั้นมา จึงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง
  • ไทยรับวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของไทย รับมาจากอินเดีย ได้แก่  การไหว้ นุ่งโจงกระเบน ใช้มือเปิปข้าว เป็นต้น 
  • อาณาจักรที่เจริญก่อนไทยคือเขมร  อินเดียส่งต่อให้เขมร  ดังนั้นไทยจึงได้รับวัฒนธรรมเหล่านี้จากเขมรอีกที

  • ในปี พ.ศ. ๑๘๙๕  กรุงศรีอยุธยาไปตีเขมรแตก จึงกวาดต้อนคนและปราชญ์มาอยู่ที่อยุธยา จึงรับเอาวัฒนธรรมมาจากเขมร  เช่น ภาษา ราชาศัพท์ ลายกนกไทย ที่กลับซ้ายเป็นขวา กลับขวาเป็นซ้าย ฯลฯ
  • ขนมต่างๆ ตามภาพ อะไรก็ตามที่มีผสมไข่ กะทิ  มาจากโปรตุเกส  เพราะแต่ก่อนเราไม่มี .... เรารับมาแล้วนำมาเพิ่มเติมปรับปรุงต่อ จนอร่อยกว่าต้นฉบับที่ใด ๆ 

  • รัชกาลที่ ๔  ได้เริ่มรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา  ได้สร้างถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย 
  • อังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งไทยเสียเปรียบอย่างมาก พระองค์ท่านทรงคิดว่า แม้จะเสียเปรียบแต่เป็นการซื้อเวลาในการปรับตัว  คือไม่หนีฝรั่งเหมือนราชสำนักอื่นๆ ซึ่งต่อมาตกเป็นเมืองขึ้นทั้งหมด 
  • สนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้เราขายข้าว  เริ่มปลูกข้าวเยอะ เริ่มมีโรงสี .... เริ่มระบบทุนนิยม

  • มีโรงสีโรงแรกในสมัย ร.๔  ที่ขัดข้าวเป็นข้าวขาว  ส่วนใหญ่คนไทยกินข้าวกล้องทั้งหมด
  • คนไทยไม่ทำโรงสี คนที่ทำโรงสีคือคนจีน
  • สมัย ร.๓ มีคนจีนคนหนึ่งชื่อยิ้ม  พาภรรยายอพยพ ลงเรือมาทำงานในโรงสีในไทย  โดยขอยืมเงินเป็นค่าจ้างเรือเดินทางมาไทย 
  • เริ่มมาเป็นกรรมกรในโรงสีอยู่หลายปี จนสามารถจ่ายหนี้ค่าเรือหมด  จึงเดินทางไปเชียงใหม่ ไปพบพระเจ้าเชียงใหม่  ไปแนะนำวิธีการเก็บภาษี จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีฝิ่น เมื่อมีเงินมีทองจึงเดินทางมากรุงเทพ 
  • ร. ๔ แต่งตั้งให้เป็นพระภาษีสมบัติบริบูณ์ กลายเป็น "ท่านยิ้ม"  ร่ำรวยมาก  ขุดคลองภาษีเจริญ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ตรงปากครอง ท่านยิ้มสร้างโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่นั่น เป็นเจ้าของบริษัทเดินเรือระหว่างกรุงเทพสิงคโปร์ เป็นเจ้าของธุรกิจทุกอย่างที่มีในเมืองไทยขณะนั้น และเป็นเศรษฐีใหญ่ที่สุดของเมืองไทย 
  • ยิ้มมีลูกชายคนหนึ่ง ชื่อ ขุนสาทรราชาวุฒิ (อาจฟังผิดนะครับ) เป็นที่มาของถนนสาทร ในปัจจุบัน  
  • ยิ้มมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ ห่วง  ซึ่ง ร.๕ จึงมาขอไปเป็นเจ้าจอม ได้โอรสองค์โต คือ พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์  
  • พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์ มีลูกชายคนโตชื่อ พระจันทรบุรีสุรนาถ ซึ่งก็คือ เสด็จพ่อของพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบันนั่นเอง 


  • ร. ๔ ท่านคำนวณและทำนายวันเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคา ที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ และเชิญเซอร์แอริอ็อด เจ้าเมืองอังกฤษที่สิงคโปร์  เชิญฑูตจาประเทศต่างๆ ไปร่วมเป็นสักขีพยาน 
  • นักประวัติศาสตร์มองว่า  ร.๔ ทรงอยากจะบอกว่า คนไทยไม่ใช่คนโง่ ถ้ามีโอกาสอย่างพระองค์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่นเดียวกับที่ฝรั่งทำ 
  • ร.๔ ทรงติดไข้มาลาเรีย ท่านทรงฝากให้ ร.๕ ทำต่อ  เริ่มรับวัฒธรรมฝรั่งมามากขึ้น

  • หัวลำโพง ลอกแบบ King Cross Station ที่อังกฤษมาทั้งหมด

  • ถนนราชดำเนิน ได้แบบมาจาก ถนนชองค์ซาทิเซ ฝรั่งเศส



  • พระบรมรูปทรงม้า ได้ดัดแปรงแบบมาจากอังกฤษ อิตาลี
  • ปฏิวัติไม่สำเร็จ จึงกลายเป็นกบฏ 
  • ปฏิบัติสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๕
  • สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยกเลิกวัฒนธรรมไทย ให้ทำเป็นสากลหมด 
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการใช้อำนาจของจอมพล ป.
  • ปัจจุบัน คนไทยอยากเป็นเกาหลี อยากเป็นญี่ปุ่น 
 
  • คนไทยปรับตัวเก่ง คนไทยเป็นนักผสมผสาน 
  • ชาวฝรั่งเศสบอกว่า  "คนไทยเปรียบเหมือนสีของน้ำในแม่น้ำ เมื่อไหลผ่านบริเวณท้องฟ้าที่มีสีฟ้า น้ำจะมีสีฟ้า และถ้าไหลผ่านท้องฟ้ามีเมฆครึ้ม ท้องฟ้าจะมีสีหม่นครึ้มไปด้วย" 
  • หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยเป็นผู้ชนะสงครามในสายตาอเมริกัน แต่เป็นผู้แพ้สงครามในสายตาของฝรั่งเศสและอังกฤษ
  • จุดประสงค์ของไพร่ คือเพื่อควบคุมและเกณฑ์แรงงานคน เนื่องจากต้องทำสงครามอยู่เสมอ จึงต้องหาทางคุมคนและเรียกคนให้เร็ว



  • การพึ่งนาย กลายมาเป็น "เส้นสาย" เล่นพรรคเล่นพวก


  • จอมพล ป. ทำตรงกันข้ามกับกษัตริย์ทำ  เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ  ก็ทำตรงข้ามกับจอมพล ป. คือทำการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์  
  • ในหลวงทรงรื้อฟื้นความเป็นไทย โดยเฉพาะ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 






  • ข้าวผัดอเมริกัน กล้วยแขก ขนมจีน ซุกี้ยากี้ รอดช่องสิงคโปร์ เหล่านี้ ไม่มีในต่างประเทศ 
  • อาหารที่อร่อยที่สุดในโลกคือ อาหารไทย