วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา สรุปผลการประชุมเตรียมสอนปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

เรียนอาจารย์ผู้สอน รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา ประจำปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙ ทุกท่าน

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙  อาจารย์ผู้ประสานงาน อาจารย์ผู้สอน และผมในฐานะผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ประชุม KM กันเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ และตกลงบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้ประสานงาน ต่อเนื่องจากที่ร่างกันไว้ตั้งแต่ตอนไปฝึกอบรมที่อินเตอร์รีสอร์ท อ.หนองแสง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ ๙-๑๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา   รวมทั้งสองการประชุม มีข้อสรุปร่วมกันดังนี้

๑) เนื้อหา

หลังจากผ่านการจัดการเรียนการสอนมาแล้ว ๓ ภาคเรียน  เนื้อหาที่ใช้สอนค่อนข้างลงตัว ข้อตกลงคือ เราจะยึดเอาเนื้อหานี้ (เนื้อหานิ่งแล้ว) ในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ให้เสร็จภายในปีการศึกษา ๒/๒๕๕๙ นี้


เนื้อหาที่ตกลงกัน เพิ่มเติมจากเดิมที่ประชุมกันในภาคเรียนที่แล้วมาเพียงเล็กน้อย (อ่านได้ที่นี่ครับ) คือ เพิ่มบทเรียนเรื่อง "มนุษย์กับวัฒนธรรม" และสลับหัวเรื่องใหม่เท่านั้น ภาพรวมยังคงเป็นการเรียนจากภาพใหญ่เรื่องไกลมายังเรื่องใกล้ตัว เรียนโลกทั้งใบ โลกภูมิ -> ชาติภูมิ -> มาตุภูมิ ->มาสู่ภูมิสังคม โดยแบ่งเป็นทั้งหมด ๑๓ บทเรียน ดังนี้ครับ

  • บทที่ ๑ อารยธรรมตะวันตก 
  • บทที่ ๒ อารยธรรมตะวันออก : จีน - ญี่ปุ่น 
  • บทที่ ๓ อารยธรรม อินเดีย - เขมร 
  • บทที่ ๔ อารยธรรมอิสลาม
  • บทที่ ๕ รัฐชาติ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์
  • บทที่ ๖ โลกาภิวัฒน์
  • บทที่ ๗ อารยธรรมไทย
  • บทที่ ๘ อารยธรรมอีสาน
  • บทที่ ๙ มนุษย์กับสังคม
  • บทที่ ๑๐ มนุษย์กับวัฒนธรรม
  • บทที่ ๑๑ มนุษย์กับเศรษฐกิจ
  • บทที่ ๑๒ มนุษย์กับการเมือง
  • บทที่ ๑๓ มนุษย์กับศาสนา 
ที่ประชุมตกลงว่า เนื้อหาเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงโดยง่าย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาการเรียนการสอนและเอกสารประกอบการสอน

๒) แนวทางการสอน

วิธีการสอน ให้เป็นแบบบรรยาย คล้ายการบรรยายพิเศษในหัวเรื่องตามบทเรียน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียน ได้เห็นภาพกว้าง รู้กว้างขวาง ได้รับองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในหัวเรื่องนั้นๆ ให้อาจารย์ผู้สอนบรรยายให้จบและมอบหมายงาน (ถ้ามี)  โดยอาจารย์ผู้สอนไม่ต้องกังวลเรื่องความเชื่อมโยงของระหว่างบทเรียน   ...  คุยกันว่า หลังจากได้พัฒนาเอกสารประกอบการสอนหรือตำราเสร็จแล้ว อาจารย์แต่ละท่านจะเห็นความเชื่อมโยงสอดคล้อง และลดความซ้ำซ้อนของการสอนได้เอง

๓) การประเมินผล

การประเมินผล ให้เป็นไปตาม มคอ.๓ (ที่ส่งไปยังสำนักศึกษาทั่วไปแล้ว ดาวน์โหลดที่นี่)  ประเมินเป็นระบบเกรด ในอัตรา ๖๐:๔๐  โดยเก็บคะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรมและใบงาน ๔๐ คะแนน และคะแนนสอบ ๖๐ คะแนน โดยแยกละเอียดย่อย ดังนี้
  • เข้าร่วมกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของคะแนนทั้งหมด
  • คะแนนงาน/ใบงาน/ทดสอบย่อย ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  โดยเก็บคะแนนร้อยละ ๕ จากบทเรียนที่ ๒ ๓ ๔ ๖ ๑๑ และ ๑๓  
  • คะแนนสอบกลางภาคเรียน ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  โดยครอบคลุมเนื้อหาบทที่ ๑ - ๖
  • คะแนนสอบปลายภาคเรียน ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  ครอบคลุมเนื้อหาบทที่ ๗ - ๑๓
โดยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบแต่ละบทเรียน ออกข้อสอบ ๑๐ ข้อ ... ดังนั้นหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ข้อสอบกลางภาคเรียนจะมีทั้งหมด ๖๐ ข้อ  และข้อสอบปลายภาค ๗๐ ข้อ

๔) เกี่ยวกับผู้ประสานงาน

เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน จัดทำและจัดส่ง มคอ.๓ มคอ.๕ รวบรวมข้อสอบ  และ การพัฒนาการเรียนการสอน เอกสารประกอบการสอน จึงแต่งตั้งให้วิชานี้มีอาจารย์ผู้ประสานงาน ๒ ท่าน  ให้ทำงานคู่กัน  โดยในแต่ละปีการศึกษา ควรจะมีการจัดประชุมอาจารย์ผู้สอน ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย ได้แก่
  • ประชุมเพื่อพิจารณาผลการศึกษา (ประชุมเกรด) 
  • ประชุมเพื่อจัดทำ มคอ.๕  และ มคอ.๓ ของภาคการศึกษาถัดไป  (ประชุม KM รายวิชาประจำภาคเรียน)
สำหรับวิธีการประชุม ให้อาจารย์ผู้ประสานงานแจ้งและส่งวาระประชุมมายังเจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไปให้เป็นผู้นัดประชุม  สำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุม เพื่อบันทึกกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นระบบ

๕) เอกสารประกอบการสอน

กำหนดข้อตกลงในการพัฒนาดังนี้
  • อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน ส่งต้นฉบับมายังอาจารย์ผู้ประสานงาน ภายในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ 
  • อาจารย์ผู้ประสานงาน รวบรวมและจัดส่งต้นฉบับ เอกสารมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดรูปเล่มภายในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๙ 
  • จัดประชุมวิพากษ์ร่างเอกสารในช่วงสอบกลางภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙
  • จัดพิมพ์ให้ทันใช้ในปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๙
สำหรับปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙  ให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน นำส่งเอกสารประกอบการสอนและสื่อพาวเวอร์พอยท์ มายังสำนักศึกษาทั่วไป ภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙

ทั้งหมดคือข้อสรุปของการประชุมครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น