วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ดูงานรายวิชาศึกษาทั่วไป _ ๐๓ : ม.ธรรมศาสตร์ "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" (๓)

ดูงานรายวิชาศึกษาทั่วไป _ ๐๑ : ม.ธรรมศาสตร์ "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" (๑)
ดูงานรายวิชาศึกษาทั่วไป _ ๐๒ : ม.ธรรมศาสตร์ "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" (๒)

ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ ที่ศูนย์รังสิต มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จัดไว้สำหรับแสดงนิทรรศการและการแสดงขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ the Deck ที่เป็นพื้นที่โล่งราบขนาดใหญ่, the Grand เป็นพื้นที่โล่งหลังคาสูง, และ the Circle พื้นที่เหมือนเป็นสเตเดียมจุคนได้หลายพันคน ดูรูปที่นี่ ...

ส่วนแรก The Deck จัดให้โครงงานจำนวน ๑๘๐ โครงงานของนักศึกษาที่เรียนรายวิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม (TU100) แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่คือโครงงานบริการสังคมภายในมหาวิทยาลัยหรือชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัย แต่ละกลุ่มแบ่งเป็น ๖ หมวดของปัญหา ได้แก่
  • ปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือสภาพแวดล้อมชุมชน 
  • การใช้จักรยาน
  • ลดขยะ
  • การจราจร
  • ส่งเสริมจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันในสังคม  หรือ สร้างความร่วมมือหรือพัฒนาชุมชน
  • โครงงานการเรียนการสอนโดยบริการสังคม
โครงงานทั้งหมดเป็นการ "บริการ" ด้วยความพยายามในการแก้ปัญหาของชุมชนและสังคม ของแต่ละกลุ่มนักศึกษา จำนวนประมาณ ๑๕ คน จะระดมวิเคราะห์ปัญหา หลังจากที่กลับมาจากการลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งทางมหวิทยาลัยได้สาธิตกระบวนการไว้แล้วตอนที่พาลงพื้นที่พร้อมกัน (ซึ่งภาคการศึกษาที่ผ่าน ได้พาไปโรงเก็บขยะ)  นักศึกษาจะวางแผนและลงพื้นที่พบผู้นำชุมชน เพื่อสอบถามถึงความต้องการและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาตามทุนทางปัญญาและทุนทรัพย์ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมากลุ่มละ ๒,๐๐๐ บาท สำหรับปัญหาภายในมหาวิทยาลัย หรือ ๔,๐๐๐ บาท สำหรับบริการชุมชนนอกมหาวิทยาลัย (อาจารย์ที่มาบรรยายกระบวนการเรียนรู้ของ TU100 บอกว่า มีนิสิตบางกลุ่มสามารถไประดมทุนเพิ่มเติมได้หลายพันบาท หรือบางกลุ่มถึง ๒๕๐,๐๐๐ บาท) และกลับไปดำเนินการตามแผน และลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อสำรวจตรวจและประเมินผลความพึงพอใจของชุมชนที่ได้รับบริการ... จากการสอบถามหลายคน นักศึกษาบอกตรงกันว่า ได้ลงพื้นที่จริงอย่างน้อย ๓ ครั้ง

ตัวอย่างโครงงานภายใน ได้แก่ การแก้ปัญหาเล็กน้อยๆ ที่เห็นได้ทั่วไป เช่น ซ่อมหลอดไฟตามถนนหรือทางเดิน รณรงค์ห้ามผิดกติกาในสถานที่ต่างๆ ทำความสะอาดบริเวณ  ทำแผนที่ ทำสัญลักษณบอกทาง ทำเมนูอาหารให้เพื่อนชาวต่างชาติ รณรงค์แยกขยะ ไม่สูบบุหรี่ ซ่อมเก้าอี้ซ่อมโต๊ะ เป็นต้น

ตัวอย่างโครงงานภายนอก ได้แก่ ไปสร้างห้องน้ำ ทาสีสนาม อุปกรณ์ หรือตามผนัง ไปช่วยเด็กๆ ที่โรงเรียนทำกิจกรรมส่งเสริมความดี หนังสือไปให้ เปลี่ยนหลอดไฟตามถนน ทำสัญลักษณ์ทางเดิน ทำปุ๋ยอินทรีย์ไปให้ เป็นต้น









ผู้เข้าร่วมงานและนักศึกษาทุกคน จะมีสิทธิ์ให้คะแนนกับแต่ละกลุ่ม โดยใช้สัญลักษณ์เป็น "ดาว"  เรียกว่า Peer evaluation เมื่อนำไปรวมกับคะแนนของกรรมการซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอน และรวมคะแนนการมีส่วนร่วมคือเข้าเรียนและร่วมทำกิจกรรม ที่ใช้วิธีการเซ็นต์ชื่อลงแบบฟอร์ม จะได้คะแนนกิจกรรมที่ทำกันตลอดเทอม




นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยเชิงลึก ที่เล็งผลประโยชน์ให้ประชาชน จัดแสดงและนิสิตประจำพร้อมนำเสนอในทุกๆ Pavilion  ไม่ขอนำมาเล่าทั้งหมด แต่ท่านสามารถดูรูปที่ผมถ่ายไว้ได้ทั้งหมดที่นี่ครับ  สนใจลองขยายใหญ่ๆ แล้วอ่านดูเองครับ ...

ที่ผมไม่ได้บอกว่า อันไหนได้รางวัล เพราะในมุมมองของผมนั้น เทียบเคียงความแตกต่างของโครงงานแต่ละอันได้ยาก... ผมจึงเลือกให้ "ดาว" ของผมกับ นักศึกษาที่ใช้ความ "อุตสาหะ" "พยายาม" ในงานที่พวกเขา อีกกลุ่มหนึ่งถือความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก กลุ่มสุดท้ายผมให้ความยั่งยืนในการนำไปใช้เป็นเกณฑ์ ... (ได้คนละ ๓ ดาว)

มีผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ยกมือตั้งคำถามในห้องประชุม ว่า สิ่งที่ธรรมศาสตร์ทำมานั้นมันถูกทางไหม ใช่หน้าที่ของนักศึกษาหรือไม่... ท่านตอบว่า.. สิ่งที่ได้และบรรลุตามมุ่งหวังคือกระบวนการเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่กับสังคมอย่างรับผิดชอบ .... ถือเป็นคำตอบที่ยุติสำหรับผมครับ....


ดูงานรายวิชาศึกษาทั่วไป _ ๐๒ : ม.ธรรมศาสตร์ "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" (๒)

ดูงานรายวิชาศึกษาทั่วไป _ ๐๑ : ม.ธรรมศาสตร์ "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" (๑)

ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีเนื้อที่ในครอบครองทั้งหมด ๒,๗๗๗ ไร่ ให้สถาบันเอไอทีเช่า ๘๓๔ ไร่ สวทช.เช่า ๑๘๕ ไร่ ดูแลและใช้ประโยชน์เองประมาณ ๑,๗๕๗ ไร่  (ถ้าเทียบกับ มมส.ใหม่ (ขามเรียง) ๑,๓๐๐ ไร่ ถือว่าไม่ใหญ่ไกลกันมากนัก) ผมตีความจากการหยิบและยกผลงานของอาจารย์มาโชว์บนเวทีในงาน  "ธรรมศาสตร์วิชาการเพื่อประชาชน" ว่า สิ่งที่เป็นไฮไลน์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอต่อผู้มาร่วมงานคือ ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้มอเตอรไซด์ เปลี่ยนเป็นใช้ "รถ NGV ประจำทาง" และจักรยาน

ผลงานอาจารย์

หลังพิธีเปิดงาน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รับหน้าที่เป็นพิธีกรนำเสนอ ผลงานเด่นของอาจารย์ ที่ถือเป็นไฮไลต์นำสู่สาระและเจตนารมณ์ว่า "เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"  ๔ ผลงานได้แก่ รถบัสพลังคนขับ รถก๊อฟพลังลม แอ็ปธรรมะทรานส์ และหมากรุกยักษ์ไทย  ซึ่งผมจะให้รายละเอียดพอสังเขปให้เข้าใจดังนี้ครับ

๑) รถบัสพลังคน

ผมสืบค้นพบว่า ม.ธรรมศาสตร์ เปิดตัว "รถบัสพลังคน" ไปแล้ว โดยใช้ชื่อว่า "รถเมล์ปั่นพลังคน" ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ก.ย. ๒๕๕๗ แล้ว  ท่านบอกว่าเป็นรถบัสปั่นด้วยพลังคนคันแรกในประเทศไทย จุได้ทั้งหมด ๒๐ ที่นั่ง โดยที่ทุกที่นั่งสามารถสามัคคีร่วมกันปั่นได้ หรือต้องปั่นอย่างน้อย ๑๐ คน ต้นทุนเบื้องต้นของรถต้นแบบอยู่ที่ ๔๐๐,๐๐๐ บาท  ผมตีความว่า การทำรถคันนี้ มีผลทางยุทธศาสตร์ภายในใจที่คุ้มค่าในเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าจะสร้างไว้ให้ใช้จริง ผมคิดว่าผู้บริหารเองก็คงหวังแบบนั้น


(ขอบคุณภาพจาก http://pantip.com/topic/32587270)


๒) รถพลังลม

ผลงานที่สองคือ  รถพลังลม  ผู้ทำได้โจทย์ว่า ทำอย่างไรจะไปไหนมาไหนด้วยพลังงานสะอาด จากประสบการณ์และความรู้ที่มี จึงใช้วิธีอัดลมใส่ถังดำน้ำ แล้วควบคุมทิศทางด้วยการทิศทางลมไหล และความเร็วด้วยอัตราการไหล  โดยใช้รถก๊อฟมาดัดแปลง  ความเร็วสูงสุดที่ทำได้คือ ๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง  และที่สำคัญใช้เวลาเติมลมเพียง ๖๕ นาที สั้นกว่าการชาร์ทไฟล์หลายชั่วโมง





๓) App Thamma Trans แอปพลิเคชั่นสำหรับ iphone และ android 

ผลงานที่สามเรียกว่า ธรรมะทรานส์  เป็นแอปในการบริหารจัดการเวลารอรถ NGV ใน ม. ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ ๓ สาย ๒๕ คัน ปัญหาคือ ไม่รู้ว่าตอนนี้รถอยู่ที่ไหน  สามารถดาวโหลดมาใช้ได้ฟรี ผู้สนใจคลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ 

๔) หมากรุกไทยยักษ์

งานชิ้นที่สี่คือหมากรุกไทยยักษ์ เป้าหมายเพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมกันในกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยใช้กิจกรรมการปั้นตัวหมากรุกขนาดเล็ก ก่อนจะคัดเลือกตัวต้นแบบ ทำเป็นหมากรุกยักษ์อีกครั้งหนึ่ง...




บันทึกนี้จบไว้ก่อนนะครับ  ผลงานนักศึกษาเป็นอย่างไร จะมาเล่าให้ฟังบันทึกหน้า...

ผมคิดว่า ผลงานอาจารย์ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องมือและวิธีสำคัญ ที่จะแบ่งปันและปลูกฝังค่านิยมร่วมของธรรมศาสตร์ ให้ทุกคนรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน
เมื่อพูดถึงการเสียสละให้ประชาชน ความรู้สึกภูมิใจในมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็ผุดขึ้นเต็มหัวใจ เพราะว่าที่นี่เราก็มุ่งสอนให้บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ตลอดมา.....

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ดูงานรายวิชาศึกษาทั่วไป _ ๐๑ : ม.ธรรมศาสตร์ "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" (๑)

วันที่ ๑๒-๑๓ พ.ย. ๒๕๕๗ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด"มหกรรม" "ธรรมศาสตร์วิชาการเพื่อประชาชน" ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต และเชิญตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมศึกษาดูงาน การจัดการเรียนรู้โดยการบริการสังคม (Service Learning) โดยระบุหนังสือเชิญว่า "...เพื่อแสดงผลงานทางวิชาการการเรียนการสอนและการวิจัย ของนักศึกษาและอาจารย์ ที่เป็นการใช้ความรู้แก้ปัญหาให้กับประชาชน..."  โดยกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ทั้งนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา "พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม" (หรือ TU100) กว่า ๔,๐๐๐ คน ประชาชนทั่วไป และนักเรียนชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่รับเชิญ (เดินทาง) มาจากทั่วประเทศ




เหตุที่ผมใช้คำว่า "มหกรรม" ไม่ใช่เพราะงานที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพราะหลังจากมาดูงานแล้วพบว่า ม.ธรรมศาสตร์ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง บูรณาการ เชื่อมโยง เป็นองค์รวมในการพัฒนานักศึกษา... ผมพบตัวอย่างของ "๓ เชื่อม" ของการบูรณการระหว่างรายวิชาศึกษาทั่วไป กิจกรรมพัฒนานิสิต และการดำเนินชีวิตจริงๆ ซึ่งผมเองเคยนำเสนอบนเวทีสัมมนาเครือข่ายศึกษาทั่วไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังภาพด้านล่าง




เมื่อพิจารณาเค้าโครงร่างการเรียนของรายวิชา TU100  (ดาวโหลดที่นี่ หรือดูคำอธิบายรายวิชาที่นี่) จะเห็นชัดว่า เป็นรายวิชาที่เรียนแบบ Active Learning ร่วมกับกิจกรรมพัฒนาด้วยการพาลงพื้นที่สัมผัสปัญหาจริงในชีวิต และเน้น Learning by Doing โดยการแบ่งกลุ่มให้ช่วยกันแก้ปัญหาของสังคมและชุมชนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย... จึงถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของ "ความเชื่อมโยง" แบบ "๓ เชื่อม" ที่ผมกล่าวถึง


ศูนย์กลางของาน "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" อยู่ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ และกระจายไปอีก ๓ Pavilion แยกออกไปจัดไว้ในแต่ละอาคาร ได้แก่ Health Science Paviliion จัดไว้ใกล้คณะแพทย์และโรงพยาบาล อาคารปาริชาติ Science and Technology Pavilion จัดไว้ในอาคาร บร.๔ ที่เป็นศูนย์รวมของคณะสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ Social Science Pavilion จัดไว้ใต้อาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีรถเมล์ NGV ให้บริการฟรีตลอดวัน















(ดูรูปทั้งหมดได้ที่นี่)

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้  ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและดำเนินการงานนี้ บอกว่า "...ไฮไลต์ของงานนี้คือ การแสดงผลงานโครงงานวิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม (TU100) จำนวน ๑๘๐ โครงงาน และการแสดงผลงานจากโครงงานการเรียนการสอนโดยบริการสังคม (Service Learning)... "  หลังจากการศึกษาดูงานทั้งหมดที่จัดไว้อย่างยิ่งใหญ่ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย  ผมพบว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยของความสำเร็จจริงๆ นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้นำแล้ว น่าจะเป็นระบบและกลไกการขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพมาก คือ ทุกสาขาวิชาได้นำเอาผลงานทั้งของนักศึกษาและอาจารย์ที่ถือได้ว่าประชาชนได้ประโยชน์ ออกมาแสดงและนำเสนออย่างคึกคักตลอดวัน  (ผมไปเยี่ยมแต่ละ Pavilion ในช่วงก่อนเที่ยงวันที่สอง)

จากการสังเกตและสอบถามกับหลากหลายแหล่งตอบ ผมตีความว่า สิ่งที่ทำให้สำเร็จยิ่งใหญ่ คือปัจจัยดังต่อไปนี้
  • วิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย และความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ที่มุ่ง "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" เป็นแบบ Active Learning 
  • ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายอย่างบูรณาการ ทั้งจากห้องเรียนโดยใช้รายวิชาศึกษาทั่วไป จากฝ่ายการนักศึกษาคือใช้งบประมาณในกิจการพัฒนานักศึกษา และใช้ปัญหาจริงของชุมชนและสังคม ทั้งที่ลงไปหนุนโดยตรงผ่านโครงการให้กับอาจารย์จากคณะต่างๆ มีการสนับสนุนทุนสำหรับการทำโครงงานของนิสิตรายวิชา TU100 (ภายในมหาวิทยาลัย ๒,๐๐๐ บาท ภายนอกมหาวิทยาลัย ๔,๐๐๐ บาท) และขอความร่วมมือจากแต่ละคณะวิชาสาขา
  • การขับเคลื่อนโดยใช้มิติจากภายใน (ให้ระเบิดจากภายใน) มีการกำหนดค่านิยมร่วม (Share valued) เช่น ปลูกฝังผ่านคำนิยม..."ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"
 
๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖๖
บันทึกต่อไป ค่อยมาว่าเรื่องผลงานอะไรที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้แบบสนุกและมีความสุขนะครับ


วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รายวิชาศึกษาทั่วไป : มนุษย์กับการเรียนรู้ _๐๓ "เรียนรู้ตลอดชีวิต"



 ผมรับหน้าที่เขียน บทที่ ๘ บทสุดท้ายของเอกสารประกอบการสอนรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" ที่จะใช้ในภาคการศึกษานี้ จากการพบปะสนทนาตั้งแต่ตอนไปเชียงคาน (บันทึกนี้ และ บันทึกนี้) ผมเพิ่งจะทำ "การบ้าน" นี้ โดยมีชื่อบทว่า "เรียนรู้ตลอดชีวิต" 

 “การเรียนรู้ตลอดชีวิตในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง Life-Long Learning ที่มักใช้กันทั่วไปในวงการศึกษา ซึ่งนักการศึกษามักหมายถึง การขยายโอกาสและการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและครอบคลุมต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ผู้เขียนมุ่งหมายถึง การเรียนรู้ภายในอย่างใคร่ครวญตลอดชีวิตที่ไม่เลือกกาล เวลา หรือสถานที่ใดๆ ตราบใดที่ยังมี จิตใจกระบวนการเรียนรู้ก็ยังคงเป็นไปไม่รู้จบ ดังนั้น "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผมจึง "จงใจ" ตีความถึง การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพด้วยใจที่ใคร่ครวญ หรือเรียกว่า "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Transformative Learning)

เราทุกคน เรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่แล้วไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล การเรียนรู้ที่มีคุณภาพจะส่งผลให้พัฒนาการด้านจิตวิญญาณยกระดับสูงขึ้น ผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงองค์ประกอบและปัจจัยที่ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ จาก อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ในเวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภาคประชาสังคม จึงได้นำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการเรียนรู้ที่ได้ศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเองมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ขอนำเสนอให้พิจารณา ดังภาพด้านล่าง


องค์ประกอบที่สำคัญต่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง หรือเรียกว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อเราประสบการณ์ใหม่จากสิ่งแวดล้อมใหม่ ความเชื่อหรือศรัทธาในเรื่องต่างๆ ความเชื่อที่แตกต่างกันย่อมทำให้แต่ละบุคคลมีกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดแตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อท่าทีหรือเจตคติต่อเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแตกต่างกันไป องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความรู้และประสบการณ์เดิมที่สั่งสมในแต่ละบุคคล ความเชื่อและประสบการณ์เดิมจะส่งผลต่อการฟัง การคิด และการลงมือปฏิบัติ ทำให้ กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไปด้วย ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่ คือ การมีสติรู้ตัว มีปัญญาระลึกรู้ ซึ่งตามพุทธวิธีจะต้องฝึกสมาธิให้ใจตั้งมั่นและเจริญสติให้จิตจดจำสภาวะต่างๆ ให้ได้ก่อน ส่วนประสิทธิภาพของการเรียนรู้ของแต่ละคนนั้น จะแตกต่างกันไปตามทักษะหรือความสามารถในการฟัง การคิด การปฏิบัติ ซึ่งโดยทั่วไปจะแสดงให้เห็นจากความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเอง   และประสิทธิผลหรือความสำเร็จของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร จะขึ้นอยู่กับปัจจัยแห่งความสำเร็จ ๔ ประการ ได้แก่ แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ (ฉันทะ) ความเพียรพยายาม (วิริยะ) การจดจ่อต่อเนื่อง (จิตตะ) และการสะท้อนป้อนกลับที่ถูกต้องเหมาะสม (วัมังสา)

เราตอนนี้ อาจเหมือนปลา "อยู่ในน้ำ แต่ไม่เคยเห็นน้ำ"  "ทางสายเอก" เท่านั้นจะพาเราไปเท่าทันและ "สิ้นสุดการเรียนรู้" 



วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รายวิชาศึกษาทั่วไป : มนุษย์กับการเรียนรู้ _๐๒


ผมเขียนบันทึกผลสรุปแนวทางการจัดการเรียนรู้ การประชุมถอดบทเรียน และปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ของรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" หนึ่งในรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งมุ่งให้นิสิต "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" ไว้ที่นี่ ต่อจากนั้นเราประชุมกันหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปว่า ให้ลองยกร่าง มคอ.๓ ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเรียนรู้ตามแนวทางที่เราตกลงกันไว้ 



คำอธิบายรายวิชา

ธรรมชาติทางสมองของมนุษย์และการเรียนรู้  สุนทรียะสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง กระบวนทัศน์แบบองค์รวม หลักการพื้นฐานของการจัดกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา  การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงความจริง ความดี ความงาม และความสุข แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับมณฑลแห่งการเรียนรู้ การบ่มเพาะสภาวะจิตตื่นรู้  ภาวะความเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          Nature of human brain and learning, dialogue, deep listening, holistic paradigms, fundamental principles of contemplative educational processes, contemplative learning, learning for promoting human competencies to attain truth; virtue; beauty and happiness, fundamental concepts of learning space, creating conscious minds, leadership in new paradigm, and lifelong learning


กิจกรรมการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การเรียนการสอนภายในห้องเรียน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และกิจกรรมจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ นอกห้องเรียน เพื่อบ่มเพาะสำนึกสาธารณะ และการเรียนรู้ความจริง ความดี ความงาม ด้วยตนเองในสถานการณ์จริง ดังรายละเอียดขั้นตอนต่อไปนี้



ช่วงที่ ๑  ในห้องเรียน
เน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์หลักคือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ และทักษะสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกันผู้อื่น โดยเน้นการเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทีมผู้สอนเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความพร้อมของนิสิตขณะนั้นๆ  การเรียนในช่วงนี้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่
·  ขั้นที่ ๑ สร้างพื้นที่ปลอดภัย  หมายถึง สร้างพื้นที่ๆ เหมาะสมให้ "ใจ" ของนิสิตพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน  และให้ทุกคนรู้เป้าหมายแบะกระบวนทัศน์ของรายวิชา ก่อนจะจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ทีมและหน้าที่ต่อไป
·  ขั้นที่ ๒ พัฒนาพื้นฐานเรื่อง "การฟัง" และ "สุนทรียสนทนา" เพราะสองทักษะนี้คือพื้นฐานและเป็นต้นทางของการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม... หากเรียนรู้วิธีฟังได้จนเข้าถึง "เสียงจากภายใน" ก็ถือได้ว่า "ใจ" พร้อม "เริ่ม เรียน รับ" สำหรับทุกอย่างแล้ว
·  ขั้นที่ ๓ "ฝึก" ลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้งฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สอนออกแบบให้ในเบื้องแรก หากเป็นไปตามความคาดหวัง นิสิตจะมีพลังสมาธิ มีสติตื่นรู้ (อย่างน้อยในเบื้องต้น) และหากฝึกฝนหนักเข้า เขาอาจจะเปลี่ยน "กระบวนทัศน์" ได้เลยทีเดียว....ซึ่งเรียกได้ว่า "รู้จักตนเอง"
·  ขั้นที่ ๔ เรียนรู้ผู้อื่น ด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติตามหลักของ "จิตตปัญญาศึกษา" เพื่อพัฒนาทักษะ 7C และ 2L โดยเฉพาะ Learning และ Leadership

ช่วงที่ ๒ นอกห้องเรียน
ผู้สอนมุ่งส่งเสริมและออกแบบ "กระบวนการ" ให้นิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านทักษะย่อยๆ ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้นำเอาทักษะเหล่านั้นมาบูรณาการปรับใช้ในชีวิตจริง สถานการณ์จริงๆ ของชีวิต คือเน้นให้นิสิตได้ "เรียนชีวิต" นำสิ่งที่ได้เรียนใน "วิชา" ออกไปทดลองแก้ปัญหาชีวิต โดยเน้นให้ทำงานกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตจริงในศตวรรษที่ ๒๑

·  ขั้นที่ ๕ กำหนดให้นิสิตแต่ละกลุ่ม ทำโครงงานความดี ที่พอดีกับศักยภาพ พอเหมาะกับทรัพยกรณ์ของตนเองที่มีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น เรียนรู้วิถีแห่งความจริง ความดี ความงาม และพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดทั้ง "ประโยชน์ตนเอง" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" ด้วย "สติ" "สมาธิ" ความ "ตระหนักรู้" หรือก็คือ "ความไม่ประมาท" นั่นเอง

กิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง ๕ ขั้นตอนนี้ คือส่วนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใน มคอ. ๓ ซึ่งสามารถที่จะแสดงให้แผนการสอนทั้งหมด ด้วยแผนผัง Timeline ดังภาพนี้ เพื่อนำเสนอและสื่อสารไปยังเพื่อนอาจารย์ผู้สอนต่อไป





การนำเสนอด้วยวิธีนี้ ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเลยครับ ... ท่านว่าไหมครับ
 



รายวิชาศึกษาทั่วไป : มนุษย์กับการเรียนรู้ _๐๑

วันที่ ๑๔ บ่าย - ๑๕ เช้า ของเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เราชาวผู้สอนรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" ได้จัดเวที "ถอดบทเรียน" แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานสอนที่ผ่านมา ผมเองไม่ได้มีอะไรไปแลกเปลี่ยนมากนัก เพราะเทอมนี้ไม่ได้เป็นผู้สอน ... แต่เทอมหน้าผมพิจารณาดีแล้ว หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบ "เปลี่ยนสี" ผมจะทำให้ดีที่สุดในฐานะผู้สอน....

เราพูดคุยกันหลายเรื่องครับ คุยไปคุยมา จนตกผลึกว่า เทอมหน้าเราจะ เน้น "สอนคน สอนชีวิต" โดยไม่ยึดติดกับตำรา หรือ วิชาทฤษฎี โดยมีโครงสร้างดังรูปนี้ครับ



แบ่งโครงสร้างรายวิชาเป็น ๒ ช่วง ๕ ขั้นตอน ดังนี้

ช่วงที่ ๑ ในห้องเรียน

ช่วงนี้เน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์หลักคือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ และทักษะสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกันผู้อื่น โดยเน้นการเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทีมผู้สอนเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความพร้อมของนิสิตขณะนั้นๆ  การเรียนในช่วงนี้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่
  • ขั้นที่ ๑ สร้างพื้นที่ปลอดภัย  หมายถึง สร้างพื้นที่ๆ เหมาะสมให้ "ใจ" ของนิสิตพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน  และให้ทุกคนรู้เป้าหมายแบะกระบวนทัศน์ของรายวิชา ก่อนจะจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ทีมและหน้าที่ต่อไป 
  • ขั้นที่ ๒ ต้องปูพื้นเรื่อง "การฟัง" และ "สุนทรียสนทนา" เพราะสองทักษะนี้คือพื้นฐานและเป็นต้นทางของการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม... หากเรียนรู้วิธีฟังได้จนเข้าถึง "เสียงจากภายใน" ก็ถือได้ว่า "ใจ" พร้อม "เริ่ม เรียน รับ" สำหรับทุกอย่างแล้ว 
  • ขั้นที่ ๓ ตามด้วยการ "ฝึก" คือลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้งฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สอนออกแบบให้ในเบื้องแรก หากเป็นไปตามความคาดหวัง นิสิตจะมีพลังสมาธิ มีสติตื่นรู้ (อย่างน้อยในเบื้องต้น) และหากฝึกฝนหนักเข้า เขาอาจจะเปลี่ยน "กระบวนทัศน์" ได้เลยทีเดียว....ซึ่งเรียกได้ว่า "รู้จักตนเอง"
  • ขั้นที่ ๔ เรียนรู้ผู้อื่น ด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติตามหลักของ "จิตตปัญญาศึกษา" เพื่อพัฒนาทักษะ 7C และ 2L โดยเฉพาะ Learning และ Leadership ซึ่งก็คือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั่นเอง .....
ช่วงที่ ๒ นอกห้องเรียน

ช่วงนี้ผู้สอนมุ่งส่งเสริมและออกแบบ "กระบวนการ" ให้นิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านทักษะย่อยๆ ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้นำเอาทักษะเหล่านั้นมาบูรณาการปรับใช้ในชีวิตจริง สถานการณ์จริงๆ ของชีวิต คือเน้นให้นิสิตได้ "เรียนชีวิต" นำสิ่งที่ได้เรียนใน "วิชา" ออกไปทดลองแก้ปัญหาชีวิต โดยเน้นให้ทำงานกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตจริงในศตวรรษที่ ๒๑ ...
  • ขั้นที่ ๕ เป็นการกำหนดให้นิสิตแต่ละกลุ่ม ทำโครงงานความดี ที่พอดีกับศักยภาพ พอเหมาะกับทรัพยกรณ์ของตนเองที่มีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น เรียนรู้วิถีแห่งความจริง ความดี ความงาม และพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดทั้ง "ประโยชน์ตนเอง" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" ด้วย "สติ" "สมาธิ" ความ "ตระหนักรู้" หรือก็คือ "ความไม่ประมาท" นั่นเอง....
ผมเรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่า การออกแบบการเรียนการสอนโดยเน้น "กระบวนการ" ผ่านหลักคิดและหลักปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา... ที่ผมกำลังทำด้วยจิตอาสาอย่างเต็มกำลังที่ CADL สำนักศึกษาทั่วไป


ท่านเห็นว่าไงครับ

๑๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ฤทธิกร