ผมเขียนบันทึกผลสรุปแนวทางการจัดการเรียนรู้ การประชุมถอดบทเรียน และปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ของรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" หนึ่งในรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งมุ่งให้นิสิต "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" ไว้ที่นี่ ต่อจากนั้นเราประชุมกันหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปว่า ให้ลองยกร่าง มคอ.๓ ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเรียนรู้ตามแนวทางที่เราตกลงกันไว้
คำอธิบายรายวิชา
ธรรมชาติทางสมองของมนุษย์และการเรียนรู้ สุนทรียะสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง
กระบวนทัศน์แบบองค์รวม หลักการพื้นฐานของการจัดกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงความจริง
ความดี ความงาม และความสุข แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับมณฑลแห่งการเรียนรู้
การบ่มเพาะสภาวะจิตตื่นรู้ ภาวะความเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่
และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
Nature of human brain and learning, dialogue, deep listening, holistic paradigms, fundamental principles of contemplative educational processes, contemplative learning, learning for promoting human competencies to attain truth; virtue; beauty and happiness, fundamental concepts of learning space, creating conscious minds, leadership in new paradigm, and lifelong learning
กิจกรรมการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น
2 ช่วง ได้แก่ การเรียนการสอนภายในห้องเรียน
เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และกิจกรรมจิตอาสา
บำเพ็ญประโยชน์ นอกห้องเรียน เพื่อบ่มเพาะสำนึกสาธารณะ และการเรียนรู้ความจริง
ความดี ความงาม ด้วยตนเองในสถานการณ์จริง ดังรายละเอียดขั้นตอนต่อไปนี้
ช่วงที่ ๑ ในห้องเรียน
เน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย
วัตถุประสงค์หลักคือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ และทักษะสำคัญๆ
ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกันผู้อื่น โดยเน้นการเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ
ที่ทีมผู้สอนเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความพร้อมของนิสิตขณะนั้นๆ การเรียนในช่วงนี้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่
· ขั้นที่ ๑ สร้างพื้นที่ปลอดภัย
หมายถึง สร้างพื้นที่ๆ เหมาะสมให้ "ใจ"
ของนิสิตพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน
และให้ทุกคนรู้เป้าหมายแบะกระบวนทัศน์ของรายวิชา
ก่อนจะจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ทีมและหน้าที่ต่อไป
· ขั้นที่ ๒ พัฒนาพื้นฐานเรื่อง "การฟัง" และ
"สุนทรียสนทนา"
เพราะสองทักษะนี้คือพื้นฐานและเป็นต้นทางของการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม...
หากเรียนรู้วิธีฟังได้จนเข้าถึง "เสียงจากภายใน" ก็ถือได้ว่า
"ใจ" พร้อม "เริ่ม เรียน รับ" สำหรับทุกอย่างแล้ว
· ขั้นที่ ๓ "ฝึก" ลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้งฐานกาย ฐานคิด
และฐานใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สอนออกแบบให้ในเบื้องแรก หากเป็นไปตามความคาดหวัง
นิสิตจะมีพลังสมาธิ มีสติตื่นรู้ (อย่างน้อยในเบื้องต้น) และหากฝึกฝนหนักเข้า
เขาอาจจะเปลี่ยน "กระบวนทัศน์" ได้เลยทีเดียว....ซึ่งเรียกได้ว่า
"รู้จักตนเอง"
· ขั้นที่ ๔ เรียนรู้ผู้อื่น ด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติตามหลักของ
"จิตตปัญญาศึกษา" เพื่อพัฒนาทักษะ 7C และ 2L
โดยเฉพาะ Learning และ Leadership
ช่วงที่ ๒ นอกห้องเรียน
ผู้สอนมุ่งส่งเสริมและออกแบบ
"กระบวนการ" ให้นิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านทักษะย่อยๆ ต่างๆ ที่ผ่านมา
ได้นำเอาทักษะเหล่านั้นมาบูรณาการปรับใช้ในชีวิตจริง สถานการณ์จริงๆ ของชีวิต
คือเน้นให้นิสิตได้ "เรียนชีวิต" นำสิ่งที่ได้เรียนใน "วิชา"
ออกไปทดลองแก้ปัญหาชีวิต
โดยเน้นให้ทำงานกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตจริงในศตวรรษที่
๒๑
· ขั้นที่ ๕ กำหนดให้นิสิตแต่ละกลุ่ม ทำโครงงานความดี
ที่พอดีกับศักยภาพ พอเหมาะกับทรัพยกรณ์ของตนเองที่มีอยู่
เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น เรียนรู้วิถีแห่งความจริง ความดี ความงาม
และพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดทั้ง "ประโยชน์ตนเอง" และ
"ประโยชน์ผู้อื่น" ด้วย "สติ" "สมาธิ" ความ
"ตระหนักรู้" หรือก็คือ "ความไม่ประมาท" นั่นเอง
การนำเสนอด้วยวิธีนี้ ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเลยครับ ... ท่านว่าไหมครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น