เราพูดคุยกันหลายเรื่องครับ คุยไปคุยมา จนตกผลึกว่า เทอมหน้าเราจะ เน้น "สอนคน สอนชีวิต" โดยไม่ยึดติดกับตำรา หรือ วิชาทฤษฎี โดยมีโครงสร้างดังรูปนี้ครับ
แบ่งโครงสร้างรายวิชาเป็น ๒ ช่วง ๕ ขั้นตอน ดังนี้
ช่วงที่ ๑ ในห้องเรียน
ช่วงนี้เน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์หลักคือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ และทักษะสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกันผู้อื่น โดยเน้นการเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทีมผู้สอนเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความพร้อมของนิสิตขณะนั้นๆ การเรียนในช่วงนี้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่
- ขั้นที่ ๑ สร้างพื้นที่ปลอดภัย หมายถึง สร้างพื้นที่ๆ เหมาะสมให้ "ใจ" ของนิสิตพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน และให้ทุกคนรู้เป้าหมายแบะกระบวนทัศน์ของรายวิชา ก่อนจะจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ทีมและหน้าที่ต่อไป
- ขั้นที่ ๒ ต้องปูพื้นเรื่อง "การฟัง" และ "สุนทรียสนทนา" เพราะสองทักษะนี้คือพื้นฐานและเป็นต้นทางของการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม... หากเรียนรู้วิธีฟังได้จนเข้าถึง "เสียงจากภายใน" ก็ถือได้ว่า "ใจ" พร้อม "เริ่ม เรียน รับ" สำหรับทุกอย่างแล้ว
- ขั้นที่ ๓ ตามด้วยการ "ฝึก" คือลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้งฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สอนออกแบบให้ในเบื้องแรก หากเป็นไปตามความคาดหวัง นิสิตจะมีพลังสมาธิ มีสติตื่นรู้ (อย่างน้อยในเบื้องต้น) และหากฝึกฝนหนักเข้า เขาอาจจะเปลี่ยน "กระบวนทัศน์" ได้เลยทีเดียว....ซึ่งเรียกได้ว่า "รู้จักตนเอง"
- ขั้นที่ ๔ เรียนรู้ผู้อื่น ด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติตามหลักของ "จิตตปัญญาศึกษา" เพื่อพัฒนาทักษะ 7C และ 2L โดยเฉพาะ Learning และ Leadership ซึ่งก็คือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั่นเอง .....
ช่วงนี้ผู้สอนมุ่งส่งเสริมและออกแบบ "กระบวนการ" ให้นิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านทักษะย่อยๆ ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้นำเอาทักษะเหล่านั้นมาบูรณาการปรับใช้ในชีวิตจริง สถานการณ์จริงๆ ของชีวิต คือเน้นให้นิสิตได้ "เรียนชีวิต" นำสิ่งที่ได้เรียนใน "วิชา" ออกไปทดลองแก้ปัญหาชีวิต โดยเน้นให้ทำงานกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตจริงในศตวรรษที่ ๒๑ ...
- ขั้นที่ ๕ เป็นการกำหนดให้นิสิตแต่ละกลุ่ม ทำโครงงานความดี ที่พอดีกับศักยภาพ พอเหมาะกับทรัพยกรณ์ของตนเองที่มีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น เรียนรู้วิถีแห่งความจริง ความดี ความงาม และพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดทั้ง "ประโยชน์ตนเอง" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" ด้วย "สติ" "สมาธิ" ความ "ตระหนักรู้" หรือก็คือ "ความไม่ประมาท" นั่นเอง....
ท่านเห็นว่าไงครับ
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ฤทธิกร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น