ผมรับหน้าที่เขียน บทที่ ๘ บทสุดท้ายของเอกสารประกอบการสอนรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" ที่จะใช้ในภาคการศึกษานี้ จากการพบปะสนทนาตั้งแต่ตอนไปเชียงคาน (บันทึกนี้ และ บันทึกนี้) ผมเพิ่งจะทำ "การบ้าน" นี้ โดยมีชื่อบทว่า "เรียนรู้ตลอดชีวิต"
“การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง Life-Long Learning ที่มักใช้กันทั่วไปในวงการศึกษา
ซึ่งนักการศึกษามักหมายถึง
การขยายโอกาสและการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและครอบคลุมต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสังคม
เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ผู้เขียนมุ่งหมายถึง
การเรียนรู้ภายในอย่างใคร่ครวญตลอดชีวิตที่ไม่เลือกกาล เวลา หรือสถานที่ใดๆ
ตราบใดที่ยังมี “จิตใจ” กระบวนการเรียนรู้ก็ยังคงเป็นไปไม่รู้จบ ดังนั้น "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผมจึง "จงใจ" ตีความถึง การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพด้วยใจที่ใคร่ครวญ หรือเรียกว่า "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Transformative Learning)
เราทุกคน “เรียนรู้ตลอดชีวิต”อยู่แล้วไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ
ที่ส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
การเรียนรู้ที่มีคุณภาพจะส่งผลให้พัฒนาการด้านจิตวิญญาณยกระดับสูงขึ้น
ผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงองค์ประกอบและปัจจัยที่ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ
จาก อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ในเวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภาคประชาสังคม
จึงได้นำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการเรียนรู้ที่ได้ศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเองมาอย่างต่อเนื่องหลายปี
ขอนำเสนอให้พิจารณา ดังภาพด้านล่าง
องค์ประกอบที่สำคัญต่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง หรือเรียกว่า “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” เมื่อเราประสบการณ์ใหม่จากสิ่งแวดล้อมใหม่
ความเชื่อหรือศรัทธาในเรื่องต่างๆ
ความเชื่อที่แตกต่างกันย่อมทำให้แต่ละบุคคลมีกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดแตกต่างกัน
ซึ่งจะส่งผลต่อท่าทีหรือเจตคติต่อเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแตกต่างกันไป
องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความรู้และประสบการณ์เดิมที่สั่งสมในแต่ละบุคคล
ความเชื่อและประสบการณ์เดิมจะส่งผลต่อการฟัง การคิด และการลงมือปฏิบัติ ทำให้ “กระบวนการเรียนรู้”
ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไปด้วย
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่ คือ
การมีสติรู้ตัว มีปัญญาระลึกรู้
ซึ่งตามพุทธวิธีจะต้องฝึกสมาธิให้ใจตั้งมั่นและเจริญสติให้จิตจดจำสภาวะต่างๆ
ให้ได้ก่อน ส่วนประสิทธิภาพของการเรียนรู้ของแต่ละคนนั้น
จะแตกต่างกันไปตามทักษะหรือความสามารถในการฟัง การคิด การปฏิบัติ
ซึ่งโดยทั่วไปจะแสดงให้เห็นจากความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเอง
และประสิทธิผลหรือความสำเร็จของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร
จะขึ้นอยู่กับปัจจัยแห่งความสำเร็จ ๔ ประการ ได้แก่ แรงบันดาลใจในการเรียนรู้
(ฉันทะ) ความเพียรพยายาม (วิริยะ) การจดจ่อต่อเนื่อง (จิตตะ) และการสะท้อนป้อนกลับที่ถูกต้องเหมาะสม
(วัมังสา)
เราตอนนี้ อาจเหมือนปลา "อยู่ในน้ำ แต่ไม่เคยเห็นน้ำ" "ทางสายเอก" เท่านั้นจะพาเราไปเท่าทันและ "สิ้นสุดการเรียนรู้"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น