วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๑ (๒) กิจกรรมนำเสนอผลงานโครงการ "ธุรกิจพอเพียง" ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๑

วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๒ สำนักศึกษาทั่วไป จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ในหลักสูตร รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีการศึกษาที่ ๒-๒๕๖๑ ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษาที่ ๒๕๕๙ โดยภาพรวม งานด้านการส่งเสริมให้นิสิตเข้าใจและนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ค่อย ๆ ก้าวไป ... ถึงจุดที่ปีนี้ทีมงานน้อง ๆ ที่สำนักศึกษาทั่วไป ตกลงใจกันว่า เราจะเริ่มกิจกรรมขับเคลื่อนพัฒนา "ตลาดนัดพอเพียง" ให้เกิดขึ้นในปีการศึกษาหน้า .... จะนำมาเล่าต่อไปครับ

เงื่อนไขให้พัฒนา

ที่บอกว่ามีความก้าวหน้าจนเกิดความมั่นใจ ประเมินได้จากคุณภาพของผลงานนิสิตตัวแทนของแต่ละกลุ่มเรียน หลายผลงานตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ และได้ทดลองนำไปขายมาแล้ว เดี๋ยวจะยกตัวอย่างให้ท่านลองพิจารณาต่อไป  ผมวิเคราะห์ว่า ที่เห็นความสำเร็จเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเงื่อนไข ที่ปีการศึกษานี้กำหนดไว้ สำหรับการสร้างผลงาน "ธุรกิจพอเพียง"  ๓ ประการ ได้แก่

  • ใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น  ...  ข้อนี้กำหนดให้นิสิตพิจารณาหาวัตถุดิบที่มีมากในชุมชน ผลิตขึ้นเองในชุมชน  เพราะถ้าผลิตภัณฑ์ที่นิสิตสร้างสรรค์ขึ้นสู่ "ธุรกิจพอเพียง" ชาวบ้านและชุมชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มาก 
  • ต้องเริ่มจากปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริง ....  ข้อนี้กำหนดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ มาในภาคเรียนก่อน ๆ  ที่นิสิตจำนวนมาก จะสร้างผลจากการลอกเลียนสินค้าในตลาด หรือเพียงคิดขึ้นมาเองว่า น่าจะดี ไม่ได้ใช้ความพยายามคิดสิ่งใหม่ ๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบความต้องการได้จริง ๆ  และที่สำคัญมาก ๆ คือ ต้องการจะส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ของนิสิต
  • ต้องนำไปทดลองขายจริง ๆ  ... ข้อนี้กำหนดให้นิสิตต้องทำ "ธุรกิจพอเพียง" จริง ๆ  คือครบวงจรตั้งแต่ ผลิตหรือจัดหาผลผลิต->แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์-> จำหน่าย-> ปรับปรุง   โดยต้องมีการทำบัญชีรับ-จ่าย มาแสดงด้วย 
ตัวอย่างผลงานนิสิต

๑) ครีมขัดรองเท้าจากกากมะพร้าว

ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประเมินของคณาจารย์ โดยใช้เกณฑ์ทั้ง ๓ ข้อดังกล่าวนี้คือ ครีมขัดรองเท้าจากกากมะพร้าว (Coconut Polish Shoes) ดังรูป ... ผมซื้อมาสองตลับ ๆ ละ ๓๕ บาท (ราคาสินค้าในตลาดน่าจะอยู่ที่ ๓๙ บาท)  แม้ราคาจะใกล้เคียงกัน แต่นิสิตเจ้าของฯ บอกว่า ครีมขัดรองเท้านี้มีดีที่ไม่เปื้อนไม่เลอะมือต่อขัด ... ลองแล้วก็เป็นจริงตามนั้นครับ 




๒) ชอร์คไล่มดจากเปลือกไข่

อีกผลงานที่ได้รางวัลคือการทำผลิตภัณฑ์ชอล์คไล่มดจากเปลือกไข่  ทำออกมาได้ "เข้าท่า" "ราคาถูก" มีจุดเด่นที่ไม่เป็นพิษภัยต่อคน ปลอดภัยในกรณีลูกหลานเผลอเอาข้าปาก ... แต่ใช้ได้ผลจริงหรือไม่อย่างไร ยังไม่ได้ลองครับ 


วิธีการคือนับเปลือกไข่มาปดแล้วอัดขึ้นรูปด้วยกาวแป้งด้วยแม่พิมพ์ลายดอกไม้เล็ก ๆ โดยผสมสีต่าง ๆ ดัง ชิ้นงานที่นิสิตถืออยู่นั้น .... เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพชิ้นงานชัด ๆ ไว้ ... (หากมีโอกาสวันใดจะนำมาอัพเดทครับ)

๓) ภาชนะจากกาบกล้วย


ความจริงกล้วยคือวัตถุดิบที่มีมากล้น เพราะปลูกง่าย ผลกลัวยราคาขายอยู่ที่หวีละ ๒๐ บาท (ราคาต่ำสุดของหน่วยสินค้า) และราคาคงที่อย่างนี้มานานปี กลุ่มนี้เอากาบกล้วยมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะใส่/วางของ วิธีการคือเอากล้วยมาปาดผิวนอกและในออก ให้เหลือเฉพาะส่วนลำเลียงอาหาร  เมื่อนำมาผึ่งให้แห้งแล้วนไปติดกาวต่อเป็นกระเป๋าหรือภาชนะดังรูป จะได้ลายธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร ... กลุ่มนี้ได้รับรางวัลเพราะไอเดีย ...ผมสืบค้นดูในอินเตอร์เน็ตพบว่า มีผู้ทำผลิตภัณฑ์แบบนี้อยู่ก่อนไม่น้อย  อย่างไรก็ดี ก็ขอชมเชยกับไอเดียดี ๆ นี้

๔) กระถางปลูกต้นไม้จากปุ๋ยคอก


กลุ่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย  นิสิตนำเอาปุ๋ยคอก(ขี้วัว)มาอัดในแม่พิมพ์เป็นรูปกระถาง แล้วนำเชือกปอพันรอบไว้อย่างแน่นหนา ไอเดียใช้ได้เลย แต่ต้องลองนำไปใช้จริง ๆ ว่าจะได้ผลหรือไม่อย่างไร หรือจะเหมาะสมต่อพืชชนิดใดบ้าง

๕) เต้าฮวยนมถั่วเหลือง


กลุ่มนี้แม้จะไม่ได้รางวัลเพราะไม่ได้คะแนนการคิดสร้างสรรค์เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ทำขายกันอยู่แล้วในท้องตลาด  แต่สิ่งสำคัญสำหรับผมคือ นิสิตทำเป็น และสามารถหารายได้ด้วยตนเองได้  ... ผมลองชิมและอุดหนุนกลุ่มนี้มาหลายแก้ว นำมาแจกน้อง ๆ ที่ทำงาน ทุกคนบอกว่าดอร่อย รสชาติขายได้

๖) เก้าวอี้จากขวดพลาสติก


สำหรับผม ผลงานนี้น่าสนใจมาก นิสิตนำเอาขวดน้ำใช้แล้วขนาดต่าง ๆ มามัดรวมกันแล้วเย็บผ้าห่อเป็นเก้าอี้ เคลื่อนย้ายง่ายเบา นำขยะ Recycle มาเป็นขยะ Reuse ... หากนิสิตโซฟาด้วยเศษผ้าด้วยวิธีนี้ในหอพัก คงจะประหยัดได้ไม่น้อยเลย

๗) พานพุ่มจากดอกอินทะนิล


กลุ่มนี้นำดอกอินทะนิลแห้งมาระบายสีเงิน-ทอง ทากาวขึ้นรูปอย่างที่เห็น เป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามไม่น้อย แต่ได้คะแนนน้อยเพราะมีคนทำมาก่อนแล้ว และดูเหมือนว่าจะทำความสะอาดยาก .... แต่หากมองในแง่ความสวยงานและความคุ้มค่า ผมว่าใช้ได้เลยครับ

๘) กระเป๋าจากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า


นิสิตใช้ความรู้ที่เรียนมาสมัยมัธยม ระดมกำลังเพื่อน พับกระดาษเป็นเส้นหนา ๆ แล้วนำมาถักร้อยกันเป็นกระเป๋าสะพาย ... ผมคอมเมนต์ว่า ค่อนข้างจะขายยากสำหรับคนในยุคทุนนิยมหลงยี่ห้อ และแนะนำว่า ทำอย่างไร ภาพคำว่าขยะหรือของเหลือใช้จะหายไปในการ reuse  แบบนี้

๙) กระเป๋าผ้าย้อมคราม


นิสิตนำความรู้ตอนสมัยเรียนมัธยม ด้วยความที่มีสมาชิกเคยอยู่ที่นครพนม จึงนำเอาผ้ามาทำเป็นกระเป๋าแล้วเอาลงย้อมครามที่เคยทำ ได้เป็นถุงใส่ของหูรัดเอนกประสงค์ใบเล็ก ๆ  ... ผมซื้อมา ๒ ใบ เก็บเอาไว้เป็นรางวัลนิสิตในชั้นเรียนต่อไป

๑๐) พิณ


กลุ่มนี้มุ่งสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำพิณด้วยตนเอง หากไม่มีเกณฑ์ว่า จะต้องเป็นไอเดียสร้างสรรค์หรืองานใหม่ที่คิดเองทำเอง กลุ่มนี้อาจจะได้รางวัลชนะเลิศ

๑๑) ดอกไม้จากช้อนพลาสติก



เห็นเป็นดอกไม้นั้น เป็นช้อนพลาสติก ซึ่งก็มักจะพบเห็นกันทั่วไปในงานของนักเรียน  ฝีมือนิสิตประณีตใช้ได้เลย แต่การติดไว้ด้วยปืนกาวที่ปลายบาง ๆ จึงทำให้ไม่แข็งแรงนัก ... จะเห็นว่า งานส่วนใหญ่นิสิตนำความรู้เก่าสมัยมัธยมมาทำ  โจทย์คือ ทำอย่างไรจะต่อยอดจากมัธยมสมกับอยู่ระดับมหาวิทยาลัย

๑๒) ดอกไม้จากซองนม


กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์จากซองนมก็เป็นการใช้ประสบการณ์เดิมตอนมัธยม นำซองของ " นมโรงเรียน" มาตัดเป็นริ้วสร้อยเล็ก ๆ ร้อยมัดจัดเข้ากันเป็นรูปคล้ายดอกดาวเรืองโดยไม่ย้อมสี ... กระถางนี้สวยดีจึงซื้อมาในราคา ๓๕ บาท

๑๓)  สบู่สมุนไพร



กลุ่มนี้ก็ไม่ได้คะแนนสร้างสรรค์เช่นกัน เพราะเป็นผภิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปเมื่อครูให้เด็ก ๆ สร้างสินค้าจากท้องถิ่น ...  อย่างไรก็ตาม น่าจะมีนิสิตในกลุ่มที่ได้ความรู้และทักษะใหม่ในเรื่องนี้

๑๔)


กลุ่มนี้  ผมไม่แน่ใจ ต้องขออภัยด้วยครับ เนื่องจากเวลาจำกัดมาก จึงไปสอบถามนิสิตไม่ทัน น่าจะเป็นการทำแผนธุรกิจช่วยเหลือชุมชน แบบส่งเสริมการขายออนไลน์

๑๕) แยมจากเมล่อน


กลุ่มนี้นำเอาเมล่อนที่ปลูกเอง มาแปรรูปเป็นแยม ทุก ๆ ปีที่ผ่านมา อาจารย์ประจำกลุ่มเรียนนี้ จะเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้วิธีปลูกเมล่อนกลุ่มละกระถาง เพราะท่านเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก ปีนี้มีต่อยอดเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ... อาจจะเป็นเพราะได้คะแนนส่วนสร้างสรรค์นวัตกรรมน้อย จึงไม่ได้รางวัลในปีนี้ก็เป็นได้

๑๖) ข้าวโพดเกรียบปลา


นิสิตเอาเนื้อปลาผสมกับแป้งข้าวโพดแล้วทอดเป็นข้าวเกรียบ ... ผมอุดหนุนมา ๓ ห่อ รสชาติไม่ต่างจากที่เขาขายกันทั่วไปในท้องตลาด

๑๗) ชาสมุนไพรจากท้องถิ่น


เป็นชาจากสมุนไพรพื้นบ้าน นำมาผ่านกรรมวิธีทำชา โดยสร้างบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยและเก็บไกลจากน้ำและความชื้น ... อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นสินค้าที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาและความต้องการมากนัก และไม่ประจักษ์ว่าสร้างสรรค์สินค้าใหม่ จึงไม่ได้รางวัลชนะเลิศ

๑๘) โคขุนน้ำจิ้มปลาร้า


กลุ่มนี้รู้สึกจะขายดีที่สุด ทั้งเปิดตัวได้ดีด้วยการแจกให้ชิมก่อน น้ำจิ้มปลาร้าที่นิสิตคิดค้นมานี่ไม่ธรรมดาครับ อร่อยจนหยุดไม่อยู่


ความจริงมีผลิตภัณฑ์มากกว่านี้เท่าตัว แต่ก็อย่างที่แจ้งไว้คือ เวลาสอบถามค่อนข้างจำกัด จึงไม่ได้จัดมาไว้ทั้งหมด

ขอจบแบบไว้ตรงนี้ เอาไว้เทียบเปรียบต่อในเทอมหน้าครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น