วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

มหาวิทยาลัยนานาชาติเทเลอร์ Taylor's university (๑) ภาพรวม

วันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ มีวาสนาได้มาศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยเทเลอร์ (Toylor's University) คลิกที่นี่  เมืองซูบังจายา (Subang Jaya) มาเลเซีย เราดูงานกัน ๑ วันเกือบจะเต็มเต็งเวลาราชการ ตั้งแต่ ๙.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น.  ระหว่างทางรถบัสจะกลับบ้านมาลานบิน ผมขออนุญาตทำกิจกรรม AAR (After Action Review) แบบสั้น ๆ  ให้แต่ละท่านที่มาศึกษาดูงานได้สะท้อนและเสนอแนะให้ GE นำไปคิดทำต่อ

บันทึกหน้าโน้นจะมาสรุปทุกประเด็นที่ทุกท่านที่ไปด้วยกันสะท้อนมา บันทึกนี้จะสรุปเอาเฉพาะสิ่งที่ผม "ฟังทัน" มาแลกเปลี่ยนครับ


  • มหาวิทยาลัยเทเลอร์มีอายุยาวนานกว่า ๕๐ ปีที่มาเลเซีย มีการทำป้ายไทม์ไลน์ไว้ให้ผู้สนใจใคร่เห็นภาพรวมการพัฒนามหาวิทยาลัยได้สะดวกดี  
    • เริ่มตั้งแต่ปี 1969 ตั้งเป็นวิทยาลัยที่เมือง Jalan Pentai ใจกลางเมืองก่อน  ก่อนจะมาตั้งเป็นวิทยาเขต "เลคไซด์" ที่เมือง Subang Jaya ที่เราไปดู  
    • ช่วงแรกเป็นวิทยาลัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการก่อน (Hospitality) ต่อมาค่อยเพิ่มเติมให้มีศูนย์ภาษา สาขาธุรกิจ วิศวกรรม สถาปัตย์ ไอที การศึกษา และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจุบัน 
    • โดยยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยในปี 2006
  • จุดเด่นที่สุดของมหาวิทยาลัยนี้ที่เขาภูมิใจมากครับ  นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้ มีงานทำมากที่สุดเป็นอันดับ ๔ ของโลก  ... เขาบอกว่าติดท๊อป 1% ของมหาวิทยาลัยในโลกที่จบแล้วมีงานทำ 

  • ฝั่งโถงหน้าสำนักงาน จะมีห้องโถงสำหรับผู้สนใจมาดู มาเลือกหลักสูตร เขาทำโบรชัวร์รายละเอียดหลักสูตรต่าง ๆ ไว้อย่างดี หยิบอ่านได้ฟรีบนโต๊ะนั่งที่ไม่มีพื้นที่ว่างจากโฆษณาเลย .... 




  • เทียบกับ มมส. เราแล้ว Enrollment & Administration Service ของที่นี่ น่าจะทำหน้าที่ทั้งหมดด้านทะเบียน บริการการศึกษาทุกอย่าง การเงิน การคลัง ฯลฯ  แบบ One Stop Service โดยนักศึกษาสามารถจัดการงานต่าง ๆ  ออนไลน์ผ่าน Applications บนมือถือได้เอง ... คือไม่จำเป็นไม่ต้องมา จะมาเฉพาะตอนที่ต้องเจอหน้าหรือลงลายมือ 


  • ที่นี่มีนักศึกษาประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน สำเร็จการศึกษาปีละประมาณ ๓,๐๐๐ นักศึกษาร้อยละ ๗๕ เป็นคนมาเลเซีย (ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นจีนมาเลฯ) อีกร้อยละ ๒๕ เป็นนักศึกษาชาวต่างชาติ โดยมากเป็นเชื้อชาติแขกอินเดียผิวคล้ำ 
  • มีห้องโถงใหญ่ไว้ใช้ในงานพิธีและใช้เป็นสนามทดสอบ ขนาดความจุประมาณ  




  • ผู้บริหารสูงสุดมานำเสนอภาพรวมของมหาวิทยาลัยให้เราฟังด้วยตนเอง ท่านสำเร็จด้านศึกษาศาสตร์ ...  มิน่าล่ะ... การจัดการเรียนการสอนของเขาเปลี่ยนไปเป็น Teach Less Learn More หมดแล้ว



  • อัตลักษณ์สำคัญของเทเลอร์ยู คือ 
    • มีเป็นผู้บุกเบิกหลักสูตรใหม่ในมาเลเซีย
    • เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มุ่งเอาการมีงานทำของบัณฑิตเป็นสำคัญ  
    • มีหลักสูตรที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม
    • นักศึกษามีอิสระและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง 


  • มีหลักสูตรทั้งหมด ๓๖ หลักสูตร
  • มีหลักสูตรระยะสั้นแบบโมดูลทั้งหมด ๗๕๐ หลักสูตร
  • กระบวนการสอนแบบ Teah Less Learn More (TLLM)
  • พื้นที่เรียนรู้ทั้งแบบจริงและเสมือน 


  • ใช้กระบวนการประเมินผลรับการเรียนรู้ที่หลากหลายและเป็นระบบ ได้แก่
    • ประเมินจากการมอบหมายงาน และเรียนรู้ผ่านกระบวนการประเมิน
      • ประเมินความพยายาม
      • ประเมินการจัดการเวลาและความพยายาม
      • (โดยใช้หลักการของ Gibbs and Simsons (คลิกที่นี่))
    • การประเมินโดยนักศึกษามีส่วนร่วม 
      • ให้นักศึกษาได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการประเมินผลการเรียนรู้ 
      • ให้นักศึกษาได้ประเมินคุณภาพผลงานของตนเองหรือของกลุ่ม 
    • การติดตามผลสะท้อนป้อนกลับ 
      • ผลป้อนกลับ (Feedback) เป็นระยะ ๆ  ประจำ ๆ และเป็นการสะท้อนป้อนกลับในสิ่งที่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ 
      • (โดยใช้หลักการของ Gibbs and Simsons เช่นกัน)


  • หลักในการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ในเทเลอร์ยู ได้แก่
    • นำเรียน (Guide Learning)
    • การสอนหรือการเรียนรู้จากของจริง (Authentic Learning)
    • การเรียนรู้ด้วยการกำกับตนเอง (Self-Directed Learning)
    • การเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-based Learning)
    • การเรียนรู้ผ่านโครงการ (Project-based Learning)
    • การเรียนรู้จากกรณีตัวอย่าง (Case-based Learning)
    • การรเรียนรู้ในสตูดิโอ (Studio-based Learning)


  • สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สร้างพื้นที่เรียนรู้เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้ง ๓ แบบบูรณาการกัน ทั้งในตารางเป็นตาราง นอกรูปแบบ และเรียนรู้ออนไลน์ด้วยตนเอง 


  • ทักษะสำหรับอนาคต คือ ความสามารถในการที่จะแก้ปัญหาไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ได้สำเร็จ
  • ทักษะในอนาคต เป็นทักษะส่วนบุคคล แสดงออกผ่านการกระทำหรือท่าทีในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแสดงออกให้คนอื่นเห็นเป็นความสามารถ 


  • ดังนั้น ภาพแห่งอนาคตของการอุดมศึกษา จึงมีว่า 
    • ต้องเป็นมหาวิทยาลัยแห่ง "ทักษะสำหรับอนาคต" 
    • เป็นเครือข่าย (เป็นมหาวิทยาลัยเครือข่าย)
    • ต้องมองว่าเป็นภาพแห่งอนาคตของ "มหาวิทยาลัยของฉัน"
    • ภาพแห่งการเป็นมหาวิทยลัยแห่งการเรียนรู้ตลอชีวิต


  • แผนภาพนี้ท่านเสนอผลการสำรวจว่า อะไรคือทักษะหรือสมรรถนะของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา แบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ใหญ่ ๆ ได้แก่
    • Subject (ด้านอัตตวิสัย) Individual Development-related skills (ทักษะการพัฒนาตนเอง)
      • Autonomous Learning Competence  (สมรรถนะในการเรียนรู้สิ่งใหม่)
      • Personaly Agility (ความแคล่วคล่องว่องไว)
      • Self-efficacy (การรู้จักความสามารถของตนเอง)
      • Self-management (การจัดการตนเอง)
      • Self-initiative (การริเริ่มด้วยตนเอง)
      • Autonomy (การสร้างตัวตน)
      • Needs/ Motivaiton Achievement (ความต้องการหรือแรงบันดาลใจสู่ความำสำเร็จ, ความมุ่งมั่น)
    • Objective (ด้านวัตถุวิสัยหรือภววิสัย) Individual Objective-related skills (ทักษะส่วนบุคคลเกี่ยวกับวัตถุ/กายภาพ)
      • Ability to refflect (ความสามารถในการสะท้อน)
      • Digital literacy (สมรรถนะดิจิทัล)
      • Tolerence for ambiguilty (ความอดทน อดกลั้น, ทนต่อความคลุมเครือ ไม่ได้ดั่งใจ)
      • Creativity (การสร้างสรรค์)
      • Agility (ความว่องไว)
    • World (ด้านสังคม/โลกมนุษย์) Individual Organization-related skills (ทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร)
      • Communication skills (ทักษะการสื่อสาร)
      • Cooperative skills (ทักษะความร่วมมือ)
      • Sense-making (การให้ความหมาย การสร้างการรับรู้ใหม่ๆ)
      • Future mindset (กรอบคิดแห่งอนาคต)

  • ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ ๑๐ ประการที่เสนอโดยเวิร์ลอีคอโนมิคฟอรัม เรียงตามลำดับความสำคัญ  ได้ดังนี้ 
    • แก้ปัญหาที่ซับซ้อน
    • คิดอย่างมีวิจารณญาณ
    • คิดสร้างสรรค์
    • จัดการคน
    • ทำงานร่วมกับผู้อื่น
    • ฉลาดทางอารมณ์ 
    • ตัดสินใจ
    • การบริการ
    • การเจรจา
    • ความยืดหยุ่นทางความคิด 
  • สังเกตว่า มีการเปลี่ยนระดับความสำคัญของทักษะ หลังจากเวลาผ่านไปเพียง ๕ ปี  ความคิดสร้างสรรค์ พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ จากเดิมที่อยู่ลำดับ ๑๐ 


  • จุดเน้นอย่างหนึ่งที่ ม.เทเลอร์ ขับเคลื่อนและนำเสนอ คือ โมดูลการพัฒนาทักษะชีวิต (Life Skills Modules) เป็นโมดูหลักของมหาวิทยาลัย 
  • นักศึกษาได้พัฒนาเครื่องมือการใช้ชีวิตที่จำเป็นสำหรับยุค VUCA 
    • Volatile (เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว)
    • Uncertain (ไม่แน่นอน)
    • Complex (ซับซ้อน)
    • Ambiguous (คลุมเครือ)


  • การจัดการเรียนรู้ที่นี่เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง  เป็นแบบ TLLM (Teach Less Learn More)  ทั้งหมดแล้ว 
    • ห้องเรียน ๖๕ ห้อง จาก ๘๕ ห้องเรียน เป็นแบบ Active Learning Space (พื้นที่เรียนรู้แบบผู้เรียนมีส่วนร่วม)

  • มีห้องบรรยายที่ผู้เรียนจะไม่รู้สึกว่าอยู่ข้างหลังใคร 
  • มีระบบบันทึกการสอนบรรยาย ให้นักศึกษาดูซับได้จากทุกที่ ทุกเวลา 


  • ห้องเรียน Active Learning 


  • กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ นิสิตสร้างสินค้ามาขายจริงในมหาวิทยาลัย 

บันทึกต่อไป มาดูเกี่ยวกับ MOOCs ที่เราตั้งไจไปเรียนรู้ดูเขาทำครับ  บันทึกนี้ขอจบเท่านี้ 

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๑ (๒) กิจกรรมนำเสนอผลงานโครงการ "ธุรกิจพอเพียง" ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๑

วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๒ สำนักศึกษาทั่วไป จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ในหลักสูตร รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีการศึกษาที่ ๒-๒๕๖๑ ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษาที่ ๒๕๕๙ โดยภาพรวม งานด้านการส่งเสริมให้นิสิตเข้าใจและนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ค่อย ๆ ก้าวไป ... ถึงจุดที่ปีนี้ทีมงานน้อง ๆ ที่สำนักศึกษาทั่วไป ตกลงใจกันว่า เราจะเริ่มกิจกรรมขับเคลื่อนพัฒนา "ตลาดนัดพอเพียง" ให้เกิดขึ้นในปีการศึกษาหน้า .... จะนำมาเล่าต่อไปครับ

เงื่อนไขให้พัฒนา

ที่บอกว่ามีความก้าวหน้าจนเกิดความมั่นใจ ประเมินได้จากคุณภาพของผลงานนิสิตตัวแทนของแต่ละกลุ่มเรียน หลายผลงานตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ และได้ทดลองนำไปขายมาแล้ว เดี๋ยวจะยกตัวอย่างให้ท่านลองพิจารณาต่อไป  ผมวิเคราะห์ว่า ที่เห็นความสำเร็จเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเงื่อนไข ที่ปีการศึกษานี้กำหนดไว้ สำหรับการสร้างผลงาน "ธุรกิจพอเพียง"  ๓ ประการ ได้แก่

  • ใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น  ...  ข้อนี้กำหนดให้นิสิตพิจารณาหาวัตถุดิบที่มีมากในชุมชน ผลิตขึ้นเองในชุมชน  เพราะถ้าผลิตภัณฑ์ที่นิสิตสร้างสรรค์ขึ้นสู่ "ธุรกิจพอเพียง" ชาวบ้านและชุมชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มาก 
  • ต้องเริ่มจากปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริง ....  ข้อนี้กำหนดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ มาในภาคเรียนก่อน ๆ  ที่นิสิตจำนวนมาก จะสร้างผลจากการลอกเลียนสินค้าในตลาด หรือเพียงคิดขึ้นมาเองว่า น่าจะดี ไม่ได้ใช้ความพยายามคิดสิ่งใหม่ ๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบความต้องการได้จริง ๆ  และที่สำคัญมาก ๆ คือ ต้องการจะส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ของนิสิต
  • ต้องนำไปทดลองขายจริง ๆ  ... ข้อนี้กำหนดให้นิสิตต้องทำ "ธุรกิจพอเพียง" จริง ๆ  คือครบวงจรตั้งแต่ ผลิตหรือจัดหาผลผลิต->แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์-> จำหน่าย-> ปรับปรุง   โดยต้องมีการทำบัญชีรับ-จ่าย มาแสดงด้วย 
ตัวอย่างผลงานนิสิต

๑) ครีมขัดรองเท้าจากกากมะพร้าว

ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประเมินของคณาจารย์ โดยใช้เกณฑ์ทั้ง ๓ ข้อดังกล่าวนี้คือ ครีมขัดรองเท้าจากกากมะพร้าว (Coconut Polish Shoes) ดังรูป ... ผมซื้อมาสองตลับ ๆ ละ ๓๕ บาท (ราคาสินค้าในตลาดน่าจะอยู่ที่ ๓๙ บาท)  แม้ราคาจะใกล้เคียงกัน แต่นิสิตเจ้าของฯ บอกว่า ครีมขัดรองเท้านี้มีดีที่ไม่เปื้อนไม่เลอะมือต่อขัด ... ลองแล้วก็เป็นจริงตามนั้นครับ 




๒) ชอร์คไล่มดจากเปลือกไข่

อีกผลงานที่ได้รางวัลคือการทำผลิตภัณฑ์ชอล์คไล่มดจากเปลือกไข่  ทำออกมาได้ "เข้าท่า" "ราคาถูก" มีจุดเด่นที่ไม่เป็นพิษภัยต่อคน ปลอดภัยในกรณีลูกหลานเผลอเอาข้าปาก ... แต่ใช้ได้ผลจริงหรือไม่อย่างไร ยังไม่ได้ลองครับ 


วิธีการคือนับเปลือกไข่มาปดแล้วอัดขึ้นรูปด้วยกาวแป้งด้วยแม่พิมพ์ลายดอกไม้เล็ก ๆ โดยผสมสีต่าง ๆ ดัง ชิ้นงานที่นิสิตถืออยู่นั้น .... เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพชิ้นงานชัด ๆ ไว้ ... (หากมีโอกาสวันใดจะนำมาอัพเดทครับ)

๓) ภาชนะจากกาบกล้วย


ความจริงกล้วยคือวัตถุดิบที่มีมากล้น เพราะปลูกง่าย ผลกลัวยราคาขายอยู่ที่หวีละ ๒๐ บาท (ราคาต่ำสุดของหน่วยสินค้า) และราคาคงที่อย่างนี้มานานปี กลุ่มนี้เอากาบกล้วยมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะใส่/วางของ วิธีการคือเอากล้วยมาปาดผิวนอกและในออก ให้เหลือเฉพาะส่วนลำเลียงอาหาร  เมื่อนำมาผึ่งให้แห้งแล้วนไปติดกาวต่อเป็นกระเป๋าหรือภาชนะดังรูป จะได้ลายธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร ... กลุ่มนี้ได้รับรางวัลเพราะไอเดีย ...ผมสืบค้นดูในอินเตอร์เน็ตพบว่า มีผู้ทำผลิตภัณฑ์แบบนี้อยู่ก่อนไม่น้อย  อย่างไรก็ดี ก็ขอชมเชยกับไอเดียดี ๆ นี้

๔) กระถางปลูกต้นไม้จากปุ๋ยคอก


กลุ่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย  นิสิตนำเอาปุ๋ยคอก(ขี้วัว)มาอัดในแม่พิมพ์เป็นรูปกระถาง แล้วนำเชือกปอพันรอบไว้อย่างแน่นหนา ไอเดียใช้ได้เลย แต่ต้องลองนำไปใช้จริง ๆ ว่าจะได้ผลหรือไม่อย่างไร หรือจะเหมาะสมต่อพืชชนิดใดบ้าง

๕) เต้าฮวยนมถั่วเหลือง


กลุ่มนี้แม้จะไม่ได้รางวัลเพราะไม่ได้คะแนนการคิดสร้างสรรค์เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ทำขายกันอยู่แล้วในท้องตลาด  แต่สิ่งสำคัญสำหรับผมคือ นิสิตทำเป็น และสามารถหารายได้ด้วยตนเองได้  ... ผมลองชิมและอุดหนุนกลุ่มนี้มาหลายแก้ว นำมาแจกน้อง ๆ ที่ทำงาน ทุกคนบอกว่าดอร่อย รสชาติขายได้

๖) เก้าวอี้จากขวดพลาสติก


สำหรับผม ผลงานนี้น่าสนใจมาก นิสิตนำเอาขวดน้ำใช้แล้วขนาดต่าง ๆ มามัดรวมกันแล้วเย็บผ้าห่อเป็นเก้าอี้ เคลื่อนย้ายง่ายเบา นำขยะ Recycle มาเป็นขยะ Reuse ... หากนิสิตโซฟาด้วยเศษผ้าด้วยวิธีนี้ในหอพัก คงจะประหยัดได้ไม่น้อยเลย

๗) พานพุ่มจากดอกอินทะนิล


กลุ่มนี้นำดอกอินทะนิลแห้งมาระบายสีเงิน-ทอง ทากาวขึ้นรูปอย่างที่เห็น เป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามไม่น้อย แต่ได้คะแนนน้อยเพราะมีคนทำมาก่อนแล้ว และดูเหมือนว่าจะทำความสะอาดยาก .... แต่หากมองในแง่ความสวยงานและความคุ้มค่า ผมว่าใช้ได้เลยครับ

๘) กระเป๋าจากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า


นิสิตใช้ความรู้ที่เรียนมาสมัยมัธยม ระดมกำลังเพื่อน พับกระดาษเป็นเส้นหนา ๆ แล้วนำมาถักร้อยกันเป็นกระเป๋าสะพาย ... ผมคอมเมนต์ว่า ค่อนข้างจะขายยากสำหรับคนในยุคทุนนิยมหลงยี่ห้อ และแนะนำว่า ทำอย่างไร ภาพคำว่าขยะหรือของเหลือใช้จะหายไปในการ reuse  แบบนี้

๙) กระเป๋าผ้าย้อมคราม


นิสิตนำความรู้ตอนสมัยเรียนมัธยม ด้วยความที่มีสมาชิกเคยอยู่ที่นครพนม จึงนำเอาผ้ามาทำเป็นกระเป๋าแล้วเอาลงย้อมครามที่เคยทำ ได้เป็นถุงใส่ของหูรัดเอนกประสงค์ใบเล็ก ๆ  ... ผมซื้อมา ๒ ใบ เก็บเอาไว้เป็นรางวัลนิสิตในชั้นเรียนต่อไป

๑๐) พิณ


กลุ่มนี้มุ่งสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำพิณด้วยตนเอง หากไม่มีเกณฑ์ว่า จะต้องเป็นไอเดียสร้างสรรค์หรืองานใหม่ที่คิดเองทำเอง กลุ่มนี้อาจจะได้รางวัลชนะเลิศ

๑๑) ดอกไม้จากช้อนพลาสติก



เห็นเป็นดอกไม้นั้น เป็นช้อนพลาสติก ซึ่งก็มักจะพบเห็นกันทั่วไปในงานของนักเรียน  ฝีมือนิสิตประณีตใช้ได้เลย แต่การติดไว้ด้วยปืนกาวที่ปลายบาง ๆ จึงทำให้ไม่แข็งแรงนัก ... จะเห็นว่า งานส่วนใหญ่นิสิตนำความรู้เก่าสมัยมัธยมมาทำ  โจทย์คือ ทำอย่างไรจะต่อยอดจากมัธยมสมกับอยู่ระดับมหาวิทยาลัย

๑๒) ดอกไม้จากซองนม


กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์จากซองนมก็เป็นการใช้ประสบการณ์เดิมตอนมัธยม นำซองของ " นมโรงเรียน" มาตัดเป็นริ้วสร้อยเล็ก ๆ ร้อยมัดจัดเข้ากันเป็นรูปคล้ายดอกดาวเรืองโดยไม่ย้อมสี ... กระถางนี้สวยดีจึงซื้อมาในราคา ๓๕ บาท

๑๓)  สบู่สมุนไพร



กลุ่มนี้ก็ไม่ได้คะแนนสร้างสรรค์เช่นกัน เพราะเป็นผภิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปเมื่อครูให้เด็ก ๆ สร้างสินค้าจากท้องถิ่น ...  อย่างไรก็ตาม น่าจะมีนิสิตในกลุ่มที่ได้ความรู้และทักษะใหม่ในเรื่องนี้

๑๔)


กลุ่มนี้  ผมไม่แน่ใจ ต้องขออภัยด้วยครับ เนื่องจากเวลาจำกัดมาก จึงไปสอบถามนิสิตไม่ทัน น่าจะเป็นการทำแผนธุรกิจช่วยเหลือชุมชน แบบส่งเสริมการขายออนไลน์

๑๕) แยมจากเมล่อน


กลุ่มนี้นำเอาเมล่อนที่ปลูกเอง มาแปรรูปเป็นแยม ทุก ๆ ปีที่ผ่านมา อาจารย์ประจำกลุ่มเรียนนี้ จะเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้วิธีปลูกเมล่อนกลุ่มละกระถาง เพราะท่านเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก ปีนี้มีต่อยอดเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ... อาจจะเป็นเพราะได้คะแนนส่วนสร้างสรรค์นวัตกรรมน้อย จึงไม่ได้รางวัลในปีนี้ก็เป็นได้

๑๖) ข้าวโพดเกรียบปลา


นิสิตเอาเนื้อปลาผสมกับแป้งข้าวโพดแล้วทอดเป็นข้าวเกรียบ ... ผมอุดหนุนมา ๓ ห่อ รสชาติไม่ต่างจากที่เขาขายกันทั่วไปในท้องตลาด

๑๗) ชาสมุนไพรจากท้องถิ่น


เป็นชาจากสมุนไพรพื้นบ้าน นำมาผ่านกรรมวิธีทำชา โดยสร้างบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยและเก็บไกลจากน้ำและความชื้น ... อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นสินค้าที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาและความต้องการมากนัก และไม่ประจักษ์ว่าสร้างสรรค์สินค้าใหม่ จึงไม่ได้รางวัลชนะเลิศ

๑๘) โคขุนน้ำจิ้มปลาร้า


กลุ่มนี้รู้สึกจะขายดีที่สุด ทั้งเปิดตัวได้ดีด้วยการแจกให้ชิมก่อน น้ำจิ้มปลาร้าที่นิสิตคิดค้นมานี่ไม่ธรรมดาครับ อร่อยจนหยุดไม่อยู่


ความจริงมีผลิตภัณฑ์มากกว่านี้เท่าตัว แต่ก็อย่างที่แจ้งไว้คือ เวลาสอบถามค่อนข้างจำกัด จึงไม่ได้จัดมาไว้ทั้งหมด

ขอจบแบบไว้ตรงนี้ เอาไว้เทียบเปรียบต่อในเทอมหน้าครับ


วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หน้าที่ ๔ ประการ ของงาน "ผู้ช่วยผู้จัดการชั้นเรียน" หรือ CMA (Course Manager Assistant)

วันนี้น้อง ๆ ฝ่ายงานเครือข่ายอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป (มมส.) น่าจะพอเข้าใจมากขึ้นแล้วกับหน้าที่ CMA หรือ Course Manager Assitant หรือ "ผู้ช่วยผู้จัดการรายวิชา" หรือจริง ๆ ต้องเรียกว่า "ผู้ช่วยผู้ประสานงานรายวิชา"



หลักคิดสำคัญ

ปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคามคือ "อาจารย์ผู้ประสานงาน"  เพราะผู้ประสานงานรายวิชาเป็นทั้ง "ผู้จัดการรายวิชา" "ผู้บริหารรายวิชา" และ "ผู้นำในการพัฒนารายวิชา" ผู้ประสานงานรายวิชาที่เห็นความสำคัญและเข้าใจจุดมุ่งหมายของรายวิชาอย่างแท้จริง จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและหนุนให้เกิดการพัฒนาตนเองด้านการจัดการเรียนรู้ของอาจารย์ผู้สอนได้อย่างต่อเนื่อง

สำนักศึกษาทั่วไป ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป จำเป็นต้องหนุนเสริม "ผู้ประสานงานรายวิชา" ให้สามารถทำงานการขับเคลื่อนรายวิชาไปสู่เป้าหมายของหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไป จึงเห็นสมควรว่า ควรจะมีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้ประสานงานในการจัดการงานอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้

๑) งานประชุม

ทุก ๆ ภาคการศึกษา ทุกวิชาจะมีการประชุมอาจารย์ผู้สอนประจำภาคการศึกษา เพื่อพิจารณาผลการศึกษา เพื่อพิจารณาปรับแก้ไขรายวิชา เพื่อดำเนินการต่อไปในการศึกษาถัดไป  ร่วมกันจัดทำ มคอ. ๕ พิจารณา มคอ.๓ ภาคเรียนถัดไป

งานการประชุมรายวิชานี้ เป็นภาระมากหากจะให้อาจารย์ผู้ประสานงานหรืออาจารย์ผู้สอนทำ หน้าที่นี้จึงควรมี CMA เข้ามารับผิดชอบ  เพื่อทำเอกสารและรายงานการประชุม จัดการดูและบริการให้อาจารย์ผู้ประสานงานและอาจารย์ผู้สอนได้ทำงานกันอย่างสะดวกขึ้น ข้อมูลที่ได้จากการประชุม CMA จะสรุปส่งสื่อสารไปยังอาจารย์ทั้งทางตรงและทางการ ... นี่คืองานประการที่ ๑

นอกจากการประชุมประจำภาคการศึกษาแล้ว การประชุมอื่น ๆ ตามความต้องการของอาจารย์ผู้ประสานงาน  ก็ถือเป็นหน้าที่ของ CMA ด้วยครับ

๒) งานธุรการ

สำนักศึกษาทั่วไป (GE) เป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับคณะ มีภาระงานมอบหมายชัดเจน เช่นเดียวกับงานแต่ละส่วนของบุคลากร หน้าที่ CMA จัดอยู่ในส่วน "งานพัฒนาการเรียนการสอน" และ "งานเครือข่ายอาจารย์ผู้สอน"

"อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา" ถ้าเปรียบกับงานวิชาการของคณะ ท่านจะทำหน้าที่คล้าย ๆ ส่วนหนึ่งของหัวหน้าภาควิชา เมื่อจะส่งผลการศึกษา จะต้องลงลายมือชื่ออนุมัติในช่องเดียวกับหัวหน้าภาควิชาฯ  ในกรณีของวิชาเอก

ดังนั้น ในระบบปกติของการทำงานทั่วไป เมื่อผู้ประสานงานรายวิชา จะติดต่อธุรการกับสำนักศึกษาทั่วไป ท่านต้องทำเอกสารราชการ (บันทึกข้อความ) ผ่านไปยังภาควิชา ไปยังคณะ แล้วค่อยส่งมาหาสำนักฯ โดยระบุหน้าเรียนถึงผู้อำนวยการศึกษาทั่วไป ทำให้หนังสือต้องวิ่งอ้อมและเพิ่มภาระกับหัวหน้าภาควิชาและคณบดีโดยไม่มีความจำเป็นในกรณีที่เป็นเรื่องรูทีน

CMA จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสานงานในการนี้  ช่วยทำบันทึกข้อความ เป็นส่วนราชการของสำนักศึกษาทั่วไปเอง ไม่ต้องวิ่งไปผ่านภาควิชาและคณะ เรียนถึงผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ให้อาจารย์ผู้ประสานงานเป็นผู้ลงมือชื่อส่ง ผ่านรองผู้อำนวยการที่รับผิดชอบฝ่ายที่ดูแลงานของ CMA ไปยังผู้อำนวยได้เกษียนส่งต่อไปยังฝ่ายดำเนินการต่อไป

บันทึกข้อความที่ต้องช่วยทำบ่อย ๆ ได้แก่  บันทึกข้อความขอส่งรายชื่ออาจารย์ผู้สอน ขอแก้ไขรายชื่อ เปลี่ยนแปลงภาระการสอน เป็นต้น

๓) งานพัฒนารายวิชา

แต่ละวิชาควรจะมีการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นงานเชิงรุก โดยมากจะดำเนินการในลักษณะเป็นโครงการ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักศึกษาทั่วไป ให้อาจารย์พัฒนาวิชาร่วมกัน เช่น  โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาตำราเรียน....  โครงการพัฒนาอาจารย์รายวิชา ... ฯลฯ

นอกจากการอำนวยให้เกิดโครงการดีที่ว่าแล้ว  อีกงานหนึ่งซึ่งถือเป็น ภาระของ CMA คือ การพัฒนาเว็บไซต์ของรายวิชา  CMA ต้องทำหน้าที่อัพเดทข้อมูล กิจกรรม และจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องมาไว้ในเว็บไซต์รายวิชา ให้เว็บไซต์รายวิชาเป็นหน้าต่างประตูสำหรับทั้ง "ครู" และ "นักเรียน" "อาจารย์" และ "นิสิต" สามารถเข้ามาอ่านและดาวน์โหลดข้อมูล (อัพเดท) ได้ทุกเมื่อ .... (CMA ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับงานนี้  เมื่อเสร็จจากหน้างานใด ๆ ต้องมาใส่ใจกับเว็บไซต์เสมอ)

๔) งานประสานงานอาจารย์

ทำงานที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาตามที่อาจารย์ผู้ประสานงานต้องการ อำนวยความสะดวกทุกอย่างให้ท่านสามารถจัดการและขับเคลื่อนรายวิชาไปได้อย่างต่อเนื่อง

CMA จะเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ของรายวิชา และคอยติดตาม ประสานงานกับอาจารย์แต่ละท่าน คอยส่งข่าวสารที่เห็นว่าจำเป็นที่อาจารย์ในรายวิชาจำเป็นต้องทราบ ส่งข้อมูลที่สำคัญให้ คอยอธิบายถึงระบบและกลไกของการทำงานของสำนักศึกษาทั่วไป

CMA จะเข้าใจในระบบและกลไก จนสามารถอธิบายถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้อาจารย์ฟังได้เสมอ






สุดท้ายนี้ขอฝากน้อง ๆ CMA ทุกคน และแจ้งท่านอาจารย์ผู้ประสานงานทุกท่านโปรดทราบครับ