วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

เรียนรู้ "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" จากคลิปบรรยายพิเศษ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม

"ศาสตร์พระราชา" คือเนื้อหาบทหนึ่งในการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นิสิตรู้และเข้าใจในศาสตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างและพระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่่ทรงครองราช และให้ทุกคนสามารถน้อมนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนๆ ตามสมควร

ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ของพระราชา ทั้งที่เป็นองค์ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และองความรู้ฝังลึกในพระองค์ (ความรู้ฝังลึกในตัวตน Tacit Knowledge) ซึ่งสามารถศึกษาเรียนรู้ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท หรือพระราชอัตยาศัย

ผู้ที่บรรยายให้ความรู้เรื่องนี้ (ศาสตร์พระราชา) ได้ดีที่สุดและได้รับการยอมรับที่สุดท่านหนึ่งคือ อาจารย์วิษณุ เครืองาม (ขณะที่กำลังเขียนบันทึกนี้ท่านดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) ในช่วงหลังวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ท่านบรรยายเรื่องนี้ไว้หลายที่หลายวาระ เช่น ที่นี่ และ ที่นี่ ฯลฯ  โดยใช้ชื่อการบรรยายพิเศษว่า "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" .... ฟังเพลินและประเทืองปัญญายิ่งครับ

ศาสตร์พระราชา

รัชกาลที่ ๑ ทรงเป็นนักรบ

  • ทรงชนะสงครามเก้าทัพ อันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย... ศาสตร์พระราชาแห่งรชกาลที่ ๑ คือ การรบ การทำศึก

รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นกวี

  • ทรงแต่งกลอน แต่งโครง เสภา ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กวีอย่างสุนทรภู่ก็มีชื่อเส่ียงในสมัยนี้  โขน ระบำ รำ ฟ้อน ก็รุ่งเรืองในยุคนี้ หลังจากที่กรำศึกมานาน  ๑๕ ปี... ดังนั้นศาตร์พระราชาแห่งรัชกาลที่สองก็คือ ศิลปวัฒนธรรม 

รัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นธรรมิกราชาและนักค้าขาย

  • ทรงไม่ทอดพระเนตรโขน ระบำรำฟ้อนละครเลย ทรงเชี่ยวชาญ ๒ เรื่อง คือ เรื่องวัดในพระพุทธศาสนาและเรื่องเศรษฐกิจ 
  • เงินทองที่ทรงได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ใช้ในราชการแผ่นดิน ๑ อีกส่วนใช้ส่วนพระองค์ และส่วนที่เหลือทรงบรรจุไว้ในถุงแดง รวบรวมไว้ข้างที่พระบรรทม แล้วทรงสั่งว่าให้เอาไว้ใช้ในการทำนุบำรุงวัดวาอารามที่ทรงสร้างขึ้นในภายหน้า และเอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมืองในรัชกาลต่อไป
  • ทรงโปรดและส่งเสริมเรื่องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและเรื่องเศรษฐกิจค้าขาย ผู้ค้าขายเก่งจะทรงโปรด ... ศาสตราพระราชาจึงเป็น เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องพระพุทธศาสนา  
  • รัชกาลที่ ๓ แม้มีภรรยามาก มีลูกมาก แต่ท่านทรงไม่แต่งตั้งองค์ใดเป็นพระมเหสีเลย ลูกท่านจึงไม่ได้เป็นพระองค์เจ้า ไม่มีคุณสมบัติที่จะสืบต่อราชสมบัติเลย 
รัชกาลที ๔ วิทยาการที่ทันสมัย ทัดเทียมฝรั่ง
  • ทรงผนวชอยู่ ๒๗ ปีตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงทรงแตกฉานกาลพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง 
  • สิ่งแรกที่ทรงทำคือ ปฏิรูปประเทศไปสู่อารยธรรมสากล ทรงสั่งให้คนทั้งหลายสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า  เป็นสัญญาณสำคัญของการปฏิรูปประเทศไปสู่อารยประเทศ 
  • เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่จ้างชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษ และทรงใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยม
  • ทรงสามารถทำนายสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ ... ทรงรับสั่งว่า ทำการนี้เพื่อเอกราช  ทรงแสดงให้เห็นว่า เราไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน เรามีความรู้ เราก้าวเท่าทันสมัย ทำให้ต่างชาติไม่ดูถูกคนไทย เกิดความเกรงใจ จนประเทศไทยมีเอกราชมาถึงทุกวันนี้ 
  • ศาสตร์พระราชาของสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ วิทยาการสมัยใหม่ เท่าทันสมัยต่างชาติ 

รัชกาลที่ ๕ นักปฏิรูป
  • ทรงเลิกทาสสำเร็จอย่างเรียบร้อยไม่เสียเลือดเนื้อใดๆ โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไปใน ๔๐ ปี (ทรงเตรียมการอยู่ ๑๐ ปี และใช้เวลาเลิกทาส ๓๐ ปี) 
  • ทรงโปรดการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ใครเป็นนักปฏิรูปจะได้รับการโปรด
  • ๒๔๒๘ ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มี กระทรวง ทบวง กรม
  • ทรงมีศาสตร์ในการดูแล เลี้ยงดู และส่งเสริมการศึกษาให้กับลูกๆ ของท่าน
  • ลูกคนที่ประหยัด เก็บเงินดี ส่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษ  คือ กรมพระยาจันทบุรีนฤนาถ ต้นสกุลกิตตยากร มาทำผู้สร้างกระทรวงพาณิชย์ 
  • ลูกคนนี้รักความเป็นธรรม ชอบตัดสิน ส่งไปเรียนอังกฤต คือ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บิดาของกฎหมายไทย 
  • ลูกคนนี้เหมาะที่จะเรียนทหารเพราะองอาจผึ่งผาย รักษาวินัยดี แต่ต้องไปเรียนทหารเรือ  คือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อีกคนไปเรียนทหารบก คือ สมเด็จเจ้าฟ้านครสวรรค์วรพินิจ ฯลฯ 
  • ท่านส่งลูกชายทั้ง ๓๗ คนไปเรียนต่างประเทศหมด 
  • ปกเกล้าปกกระหม่อม ฝรั่งเรียกว่า The King's Rain ไม่ได้ปกครองแต่ปกเกล้าปกกระหม่อม

รัชกาลที่ ๖ สร้างแรงบันดาลใจให้รักชาติ

  • สมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ใครที่รักชาติ ก็จะโปรด  เช่น ตอนนั้นใครช่วยบริจาคเงินซื้อเรือรบ ก็จะโปรด ฯลฯ
  • ทรงเขียนหนังสือ (เทศนาเสือป่า หัวใจพระร่วง) แต่ง ประพันธ์ เพลง กลอน เพื่อให้คนไทยมีแรงบันดาลใจให้รักชาติ 

รัชกาลที่ ๗ ใครแก้ไขเศรษฐกิจได้จะทรงโปรด

  • เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี มีการต้องเอาคนออกจากงาน ดังนั้นใครที่คิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จะเป็นคนโปรด

รัชกาลที่ ๘ ใครที่เรียกขวัญกำลังใจคนให้กลับมาได้น่าจะโปรดปราน

  • ใครที่เรียกขวัญกำลังใจคนให้กลับมาได้น่าจะเป็นที่โปรดปราน 

รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา

  • ทรงขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ตอนนั้นทรงพระเยาว์ เรียนยังไม่จบ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เองว่า ต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิทเซอร์แลนด์  วันที่ทรงเสด็จกลับ ทรงให้เครื่องบินพระที่นั่งบินวน ๓ รอบ ด้วยความยากยิ่งในการตัดสินใจเสด็จกลับ 
  • เดิมทรงศึกษาวิทยาศาสตร์ จำต้องเปลี่ยนมาเรียนรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง 
  • ทรงกำพร้ามาตั้งแต่ ๒ พรรษา ทรงรับสั่งว่าทรางจำพระพักตร์ของพระบรมราชชนกไม่ได้  แต่ทรงเจริญด้วยการเลี้ยงดูของพระบรมราชชน 
  • ทรงศึกษาจากศาสตร์ต่างๆ ที่ได้จากครอบครัว จากโรงเรียน และที่สำคัญคือได้จากการลงมือปฏิบัติในประเทศ 
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังพระบรมราชาภิเษก  ทรงเริ่มออกเยี่ยมประชาชน  
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ คนไทยได้เห็นรูปในหลวงทรงคุกเข่าต่อหน้าประชาชน ทำให้ประชาชนคนไทยประหลาดใจต่อบทบาทของพระราชาอย่างมาก 
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ แม่เฒ่าวัยชรานำดอกบัวมารอถวายตั้งแต่เช้า พระองค์ทรงน้อมพระองค์ลงต่ำ ถือเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ
  • ศาสตร์พระราชา ก็คือ "กิจที่ทรงทำ คำที่ทรงแนะ" ทรงทำอย่างมีขั้นตอน มีการวางแผน มีการศึกษา 
  • คราวหนึ่ง... ในขณะที่ประชวรอยู่ เมื่อทรงทราบว่าดินพรุที่นาราธิวาส สามารถปลูกข้าวได้ หลังจากที่พระองค์ทรงแก้ไขด้วยการแกล้งดิน ทรงปลื้มพระทัยกับความสำเร็จนั้นมาก  
  • ในหลวงราชกาลที่ ๙ นั้น ทรงทำและทรงสอน ตรงกับหลักการศึกษาและศาสนา  คือ ต้อง ทำอะไรก็ต้อง ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ  ... บางประเทศ เช่น พม่า ถึงขั้นตั้งเป็นคำขวัญของประเทศทีเดียว
  • ศาสตร์พระราชานั้น ได้มาจาก ๓ ทาง ได้แก่ ๑) พระราชประสบการณ์ ๒) พระราชกรณียกิจ และ ๓) 
  • พระราชประสบการณ์อันยาวนาน ทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี จะต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ห้องทอง ที่วังสวนจิตรลดา  แต่ละปีนั้นมีเป็น ๑๐ ครั้ง  ...  บุคคลเปลี่ยนหน้ามารับ แต่ทรงเป็นพระองค์เดิมยืนอยู่ ... ดังนั้น  พระราชประสบการณ์นั้นมากล้นยิ่ง 
  • เริ่มต้นจาก กปร. (สำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ได้รวบรวม หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อ ต่อมาจึงเรียกว่า "ศาสตร์พระราชา" 
  • ศาสตร์พระราชามีเนื้อหา ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ศาสตร์แห่งการพัฒนา ๒) ศาสตร์แห่งการครองตนครองงาน และ ๓) ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสงบสุข
  • ศาสตร์แห่งการพัฒนา เช่น เรื่องพัฒนาดิน พัฒนาน้ำ ฯลฯ จนได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติว่าเป็น "กษัตริย์นักพัฒนา"
  • กษัตริย์จิ๊กมี่ของประเทศภูฏาน พูดเรื่องพระเจ้าอยู่หัวของเราว่า  ท่านรักเหลือเกิน ท่านประทับใจเหลือเกินที่ ในหลวงตรัสตอนไปเยี่ยมราษฎร ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน แล้วในหลวงนั่งกับพื้นแทนที่จะนั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ แต่ผู้ใหญ่บ้านไม่สบายใจ... ทรงรับสั่งว่า รู้ไหมว่าทำไมพระเจ้าแผ่นดินต้องนั่งกับพื้น ทำไมไม่นั่งอยู่บนบันลังก์ ... เพราะคนไทยยังจนอยู่ เมื่อยังจนอยู่ ก็ยังไม่มีการศึกษา เมื่อไม่มีการศึกษาก็ไม่มีความรู้ เมื่อไม่มีความรู้ ก็จะยังไม่มีประชาธิปไตยได้  ทรงประทับใจอีกตอนหนึ่งที่ ในหลวงรับสั่งว่า ประเทศไทยเหมือนสามเหลี่ยมพีระมิดกลับด้านที่ในหลวงอยู่ด้านล่าง แบกรับทุกสิ่งไว้ 
  • ศาสตร์แห่งการครองตน ครองงาน ทรงมีวิธีการสอนที่แยบยลยิ่ง หากแต่ทรงใช้วิธีทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เช่น ....
  • ครั้งหนึ่ง ตอนที่ ดร.วิษณุ เป็นเลขาธิการสำนักนายกฯ  มีมหาดเล็กนำเอาซองสีน้ำตาลมาคืนให้ บอกว่า สำนักราชเลขาธิการฯ ได้รับพระกระแสรับสั่งว่า ให้เอากลับไปใช้ใหม่ และต่อไปอย่าใส่เลขที่หนังสือหนังสือบนซอง ให้เขียนแต่เพียง "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย.." จะได้เรียบร้อย
  • ครั้งหนึ่ง สมัยนายกฯ ชวนหลีกภัย ได้อนุมัติกฎหมายขึ้นเงินเดือนราชการ  ได้เขียนหน้าซองกฎหมายเพื่อขอทรงลงพระปรมาภิไธย ว่า "ทูลเกล้าฯ ...."  ไม่มีคำว่าถวาย เป็น "ทูลเกล้าฯ ถวาย" แล้วรอเรื่องอยู่นานจนทนไม่ได้ จึงทูลถามในวันหนึ่งในโอกาสที่ทรงเลี้ยงอาหารค่ำ  ทรงมีพระราชอารมณ์ขัน ดร.วิษณุเล่าว่า ทรงรับสั่งว่า".. ทูลเกล้าทูลกระหม่อม จึงยังอยู่บนเกล้า ยังมาไม่ถึงฉัน ..." "...ไม่ต้องตกใจ ฉันก็ไม่ใช่คนเจ้ายศเจ้าอย่าง แต่วันนี้วันที่ ๒๙ ธันวาคม กะว่าจะเซ็นวันที่ ๑ มกราคม เป็นของขวัญให้ข้าราชการ...."  ทรงสอนทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน รายละเอียดในการทำงาน 
  • ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกัน ทรงพระปรีชายิ่ง เช่น ครั้งหนึ่งมีการโต๊ะแย้งกันสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลของตน  ทรงรับสั่งว่า ในเมืองดีทั้งคู่ ก็ใช้อาวุโสก็แล้วกัน .... 
  • ทรงรับสั่งว่า "กฎหมาย กับ ความยุติธรรม นั้นเป็นคนละอันกัน ความยุติธรรมเป็นจุดหมาย กฎหมายนั้นเป็นวิถีทางหนึ่งไปสู่ความยุติธรรม อาจมีวิถีทางอื่นอยู่ด้วยก็ได้" 
  • ครั้งหนึ่งทรงรับสั่งว่า "...กฎหมายบอกคนบุกรุกป่า  แท้จริงแล้วอาจเป็นกฎหมายบุกรุกคน..." 

ผมสรุปจากการฟังบรรยายนี้ว่า  "ศาสตร์พระราชา " คือ ศาสตร์ของในหลวงองค์รัชกาลที่ ๙ เป็น "สิ่งที่ทรงทำ คำที่ทรงสอน" แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) ศาสตร์แห่งการพัฒนา ๒) ศาสตร์ในการครองตนและครองงาน และ ๓) ศาสตร์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ศาสตร์พระราชามีที่มาจาก ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) จากพระราชประสบการณ์ ๒) จากพระราชกรณียกิจ และ ๓) 




วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

mini-UKM : การวัดผลประเมินผลด้านคุณธรรมและจริยธรรม

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงาน mini-UKM ครั้งที่ ๑๘ ณ มรภ.สวนสุนันทา เมื่อวันที่ ๔-๕ เมษายน ๒๕๖๑ (ดูกำหนดการที่นี่) ที่ผ่านมา แบ่งเป็นหลายกลุ่มตาม "หัวปลา" ๕ ประเด็นได้แก่ ๑) เทคนิคการสอนแบบอาจารย์มืออาชีพ ๒) การพัฒนา Successor เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณภาพอุดมศึกษา ๓) เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน ๔) Best Practice เรื่องเทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ ๕) Data analysis for QA development system ... ผมเข้าร่วมกลุ่มที่ ๔) เทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ ด้านคุณธรรม จริยธรรม.... บันทึกนี้สรุป "ความคิด-ความอ่าน" และประสบการณ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนวันนั้นครับ 



BP และ GP 

BP คือ Best Practice เรียกว่า แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ส่วน GP คือ Good Practice เรียกว่า แนวปฏิบัติที่ดี สองคำนี้แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

ผมเพิ่งจะได้ "ความหมาย" และ "คำอธิบาย" ที่เป็นคำตอบของคำถามนี้ ชัดเจนที่สุดก็คราวที่ ศ.นพ.วุฒิชัย นี้เองครับ ท่านบอกว่า แนวปฏิบัติที่ดี คือ แนวปฏิบัติที่ได้ผลของตน (ของคนคนเดียว) ส่วนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ แนวปฏิบ้ติที่ดีที่ได้ผลที่สุด (เปรียบเทียบของคนหลายคน) ...  สรุปคือ BP คือ GP ที่ดีที่สุด

การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ท่านได้มอบการบ้านให้แต่ละมหาวิทยาลัย ส่งตัวแทนที่มี GP เกี่ยวกับ "หัวปลา" และให้ส่ง GP มาตามแบบฟอร์มที่กำหนด ... ผมสนใจเรื่องการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านคุณธรรมและจริยธรรม จึงอาสาและส่ง GP ของตนเองมาร่วม  (ดาวน์โหลดที่นี่หากท่านสนใจ)

เป้าหมาย

ฟังทั้ง ๒ วันแล้ว ผมเข้าใจว่า ศ.นพ.วุฒิชัย ท่านมีความเห็นว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม ที่กำหนดไว้ใน มคอ. (TQF) นั้น ส่วนใหญ่ไม่ชัดเจน และไม่ได้ระบุวิธีการประเมินไว้ ท่านจึงได้ตั้ง "หัวปลา" นี้ขึ้น เพื่อค้นหา BP การวัดประเมินคุณธรรม เพื่อนำไปขยายผลต่อไป หรือ เป้าหมายข้อใดไม่สามารถวัดได้ก็ไม่ควร กำหนดไว้ในแผนผัง "ดำ กลวง" ใน TQF

ผมเสนอในที่ประชุมแบบ "สวนทาง" กับแนวคิดข้างต้น ผมมีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่สามารถวัดให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างแม่นยำ  คุณธรรมบางประการไม่สามารถวัดให้ได้ข้อมูลจริงได้  เป็นสิ่งที่รู้เองและรู้ได้เฉพาะตน ... (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว อ่านได้ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ท่านก็เตือนว่า เราต้องพยายามที่จะหาวิธีวัดและประเมินให้รู้ว่า สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้เป็น Learning Outcome นั้น บรรลุผลหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้รู้และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

คุณธรรม จริยธรรม

มีผู้รู้กำหนดประเด็นคุณธรรมจริยธรรมไว้ต่างกรรมต่างวาระไว้หลายหมวด ผมเคยสรุปไว้ในบันทึกนี้ ดังภาพด้านล่าง


ตามความหมายที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ไว้ คุณธรรม หมายถึง ธรรมะที่เป็นความดีที่ควรมีประจำตน ธรรมะที่เป็นประโยชน์สุขต่อมวลมนุษย์ (มีการขยายความเพิ่ม อ่านได้ที่นี่)

ผมเข้าใจว่า "คุณธรรม" คือ คุณลักษณะประจำจิตใจของสัตว์โลกผู้ประเสริฐ ตามตำราพุทธศาสนา ลักษณะของ "ธรรม" ประจำจิตจะเป็นสิ่งกำหนดภพภูมิที่ต้องเกิดเวียนว่ายไปตามการกระทำของตน ๆ ที่อยู่ใน "กรรมาวัฏจรภูมิ" นี้  สัตว์โลกที่มีคุณธรรมประจำจิตใจจะมีสุขคติเป็นที่ไป สัตว์โลกที่ไม่มีคุณธรรมจะมีทุกข์คติเป็นที่ไป  ตัวอย่าง "ธรรม" ประจำจิตใจของสัตว์โลก เช่น

  • ธรรมประจำใจของมนุษย์คือ ศีล ๕ ข้อ (ไม่เบียดเบียนร่างกาย ทรัยพ์สิน จิตใจ ชื่อเสียง ของคนอื่น สัตว์อื่น และไม่ดื่มสุราเมรัยให้เสียสติ)
  • ธรรมประจำใจของเทวดาคือ "หิริ" ละอายต่อบาป และ "โอตัปปะ" ความเกรงกลัวต่อผลของบาป
  • ธรรมประจำใจของพระพรหม คือ พรหมวิหาร ๔ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 
  • สัตว์เดรัจฉานคือ "ความหลง" อสุรกายคือ "ทิฐิ ความยึดตัวกู" เปรตคือ "ความโลภ" สัตว์นรกคือ "ความโกรธ ซึมเศร้า" 
  • ฯลฯ 
สังเกตว่า "คุณธรรม" เป็นสิ่งประจำใจให้เกิดการกระทำหรือ "กรรม" ที่เป็นความดีมีประโยชน์ เรียกว่า "ทำกรรมดี" การกระทำใด ๆ ของมนุษย์นั้นตั้งอยู่บนการยึดมั่นใน "ตัวตน" เป็นหลัก คือมีผู้กระทำ มีฉันมีเธอ มีเรามีเขา มีใคร  และการอยู่รวมกันเป็นสังคมของมนุษย์ก็ทำให้เกิดการสมมติ "บทบาท" หรือ "หัวโขน" แต่ละหัวโขนจะมีบทบาทหน้าที่ที่สังคมคาดหวังตาม "คุณธรรม" ประจำจิตใจของคนในสังคมนั้น ๆ   

ด้วยหลักคิดดังที่ว่ามานี้  เราจึงควรที่จำนำเอาหลัก "คุณธรรม" ประจำจิตใจที่กำหนดไว้ในคำสอนของศาสนาพุทธที่เรานับถือ มาเป็นแนวทางในการปลูกฝังและประเมินผลของการปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม  ดังนี้ 
  • คุณธรรมพื้นฐานประจำใจคน คือ ศีล ๕ 
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะลูก คือ ความตัญญู กตเวที 
  • คณธรรมประจำใจในฐานะเพื่อนหรือมิตร คือ สัจจะ กัลยาณมิตร 
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะนิสิตนักศึกษา คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ ใฝ่เรียนรู้ ฯลฯ 
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะพลเมือง คือ จิตสาธารณะ จิตอาสา พอเพียง ยึดมั่นในความเป็นธรรม
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะอาชีพต่างๆ คือ จรรยบรรณวิชาชีพนั้น ๆ 
  • ฯลฯ 
อย่างไรก็ดี การกำหนดข้อคุณธรรมให้เป็นกฎเกณฑ์มากมายหลากหลายคงไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะความดีนั้นสอนกันไม่ได้ ต้องใช้การปลูกฝังต่อเนื่องยาวนานจึงกลายเป็นนิิสัย 

จากที่ได้ฟังผู้รู้ในการแลกเปลี่ยน ผมจับประเด็นได้ว่า การประเมินด้านคุณธรรมจริยธรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนใหญ่ ได้แก่ ๑) ประเมินจากการใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม (ประเมินความคิด ความเห็น หรือทักษะทางปัญญาด้านคุณธรรม) ๒) ประเมินจากพฤติกรรมที่แสดงออก  แบบแรกสามารถประเมินจากแบบทดสอบหรือแบบสัมภาษณ์หรือแบบสอบถามก็ได้ ส่วนแบบหลังต้องใช้แบบสังเกตเท่านั้น.... สิ่งที่วงสนทนาของของเราสนใจเป็นพิเศษคือ การสร้างเครื่องมือสังเกตแบบรูบริก (Rubric Scale)

ผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ที่กำหนดไว้ใน TQF ที่ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเห็นร่วมกันว่า สำคัญมาก ๗ ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา จิตสาธารณะ การยึดมั่นในคุณธรรม(ยุติธรรม) ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน(เมตตา) และความ "พอเพียง"  ผลสรุปการ ลปรร. ได้แนวทางและวิธีการในการประเมินผลวัดผลฯ หลากหลายเทคนิค ... ขอสรุปตามความเข้าใจของตนเอง ดังนี้

ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์ ควรเรียกให้เต็มว่า ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ตรงต่อความจริง ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ความไม่ซื่อสัตย์คือปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ การค้นหาและยกย่องว่าใครซื่อสัตย์ง่ายกว่า การค้นหาว่าใครไม่ซื่อสัตย์ คนที่จะรู้ว่าใครซื่อสัตย์หรือไม่ ต้องเป็นผู้ที่ได้อยู่ร่วมกันกับคนนั้นนานพอสมควร  ผู้ที่สามารถบอกได้ว่าใครซื่อสัตย์ต้องรู้จักคนนั้นหลายปี เช่น พ่อ แม่ พี่-น้อง ครูประจำชั้นสมัยประถม มัธยม หรือเพื่อนสนิท เป็นต้น การประเมินที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนที่ว่ามานี้ ไม่น่าจะได้คำตอบที่แม่นตรง  โดยเฉพาะการถามจากผู้ถูกประเมินโดยตรง

ดังนั้น ในการประเมินเรื่องความซื่อสัตย์ของนิสิตนักศึกษา ที่เรานำมาแลกเปลี่ยนกันวันนี้ จึงมีแต่วิธีการประเมินทางอ้อม แบบควบคุม ได้แก่

  • สังเกตการคัดลอกผลงาน หรือลอกงาน (หรือไม่อ้างอิงผลงาน)
  • สังเกตจากผลหรือชิ้นงานที่ผิดสังเกต ไม่ได้ทำเอง แต่บอกว่าทำด้วยตนเอง 
  • ฯลฯ
ความรับผิดชอบ


ความรับผิดชอบ  หมายถึง  การประพฤติปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดีของกลุ่มและสังคม ด้วยความตั้งใจ พากเพียร ละเอียดรอบคอบและมีเหตุมีผล รวมทั้งยอมรับผลแห่งการกระทำนั้น (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ความรับผิดชอบประเมินได้ง่าย ค่อนข้างแม่นยำ สามารถประเมินด้วยการสังเกตจากพฤติกรรมการทำงานที่ได้รับมอบหมายและการส่งงาน ซึ่งสามารถแปลงเป็นคะแนนรายวัตถุประสงค์ได้ไม่ยากนัก โดยอาจกำหนดให้มีผู้ประเมินที่หลากหลาย เช่น อาจารย์ ประเมินตนเอง หรือให้เพื่อนเป็นผู้ประเมินในกระบวนการกลุ่ม

ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบนั้น มักถูกกำหนดไว้ใน Learning Outcome ของ TQF3 ทั้งด้านคุณธรรม และด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ คำถามคือ "ความรับผิดชอบ" ที่เขียนไว้ทั้งสองด้านนั้นเหมือนกันหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร?

ผู้บริหารจากแม่ฟ้าหลวงได้แลกเปลี่ยนว่า มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ ความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนนั้นถือเป็นความรับผิดชอบในหมวดคุณธรรม ส่วนความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนนั้นอยู่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลฯ

ผมเสนอในที่ประชุมว่า ความรับผิดชอบด้านคุณธรรม น่าจะเป็นคุณธรรมประจำใจของตนเอง กำกับตนเองให้เป็นคนดี ทำความดี ตั้งใจ พากเพียรในการรักษาความดี ทั้งต่อตนเองและสังคม  ส่วนความรับผิดชอบที่อยู่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลฯ น่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่บทบาทของตน รับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตนในการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี คงไม่มีผิดถูก .... แต่ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า คนที่คิดเรื่องนี้เป็นท่านแรก ท่านกำลังหมายถึงอะไรใน TQF ด้านที่๔

ความตรงต่อเวลา

ความตรงต่อเวลา น่าจะรวมอยู่กับคำว่า "ความรับผิดชอบ" หรือไม่ก็รวมไว้ในคำว่า "ความมีวินัย" ซึ่งหมายถึง การประพฤติตนตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ กติตา หรือข้อตกลงต่างๆ ในสังคม (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ)  แต่เนื่องจากความตรงต่อเวลา เป็นสิ่งที่สากลยอมรับและให้ความสำคัญมากโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงจำเป็นต้องปลูกฝังอย่างเข้มข้น

วิธีประเมินความตรงต่อเวลาที่เสนอกันมา คือการสังเกตจากพฤติกรรมการเข้าเรียนของนิสิตนักศึกษา เป็นหลัก

จิตสาธารณะ

จิตสาธารณะ หมายถึง จิตที่คิดสร้างสรรค์ เป็นกุศล และมุ่งทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ประเมินโดยการสังเกตจากพฤติกรรมการทำงานกลุ่มหรือทำงานเดี่ยว เช่น ทำโครงงานความดี โครงงานบริการวิชาการ หรือโครงการบริการสังคม ฯลฯ  โดยให้เขียนสะท้อน (Reflection)  เช่น อาจให้เขียนอนุทินสะท้อนความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง เพิ่มเติมจากที่เขียนรายงาน ฯลฯ

การยึดมั่นในคุณธรรม

การยึดมั่นในการคุณธรรม คือการยึดมั่น มุ่งมั่น แน่วแน่ในการรักษาคุณความดี รักษาความถูกต้อง เป็นธรรม ชอบธรรม (ผมนิยามเอง)

อาจารย์หมอที่แลกเปลี่ยนเรื่องนี้ ท่านเล่าว่าสามารถสังเกตหรือสอบถามได้โดยใช้แบบประเมินแบบรูบริก เสียดายที่ไม่ได้เอาเครื่องมือมาแลกกันในรอบนี้

ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (เมตตา)

น่าจะใช้คำว่า ความเสียสละ ซึ่งหมายถึง การมีน้ำใจ แบ่งปันให้แก่ผู้อื่น ด้วยกำลังกาย  กำลังใจ กำลังทรัพย์  หรือกำลังปัญญา (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ประเมินโดยให้นิสิตสะท้อนคิดหลังการเรียนหรือกิจกรรม กิจกรรมการเรียนการสอนที่ท่านนำมาแลกเปลี่ยน ที่ให้นักศึกษาพยาบาลได้ลองทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ต้องการความช่วยเหลือ โดยมีการทำ AAR และ ALR ด้วยการให้เขียนสะท้อนคิดนั้น ผมถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ที่ผมจะลองนำเอาไปปรับใช้ต่อไป

"ความพอเพียง" 

"ความพอเพียง" เกิดจากการน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เกี่ยวข้องครอบคลุมกับคุณธรรมทุกข้อที่กล่าวมา รวมถึงคุณธรรมอื่นๆ อีก เช่น

  • การพึ่งตนเอง ซึ่งหมายถึง ความสามารถและทักษะในการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว การเรียนและการทำงานอย่างมีความสุข  
  • ความประหยัด ซึ่งหมายถึง การใช้ทรัพยากรหรือสิ่งของต่าง ๆ ทั้งของตนเองและส่วนรวม อย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและความคุ้มค่า และ 
  • ความอุตสาหะ หมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจ เพียรพยายามทำหน้าที่การงานทั้งของตนเองและส่วนรวมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอด้วยความอดทน เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงาน  
  • ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียง ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำกิจกรรมที่ดีงามเป็นหมู่คณะ  โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
  • ฯลฯ

หลัก ๒ เงื่อนไข ๓ ห่วง ๔ มิติ และหลักแห่งทางสายกลางนั้น ครอบคลุมและตีความหรือนำไปปรับใช้ได้ทุกสิ่งอย่างทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

ผมแลกเปลี่ยนว่า วิธีหนึ่งในการประเมิน "ความพอเพียง" คือให้ทำบัญชีรับ-จ่าย ที่มีองค์ประกอบ ๕ กรรม ดังนี้ได้แก่

  • มีการตั้งใจออมทุกครั้งที่ได้รับเงิน 
  • มีการบันทึกรายรับ-รายจ่าย ตามเป็นจริง ทุกวันอย่างน้อย ๒ เดือน 
  • มีการแบ่งปันตามสมควร (มีคอลัมน์แบ่งปัน)
  • มีการบันทึกรายละเอียดการใช้จ่ายที่ "ไม่พอเพียง" ประจำวัน (คอลัมน์สุดท้าย)
  • มีการ AAR หรือ Refletion ประจำเดือนถึง "ความพอเพียง" ในการใช้จ่ายของตนเอง และตั้งเป้าด้วยว่าจะปรับปรุงพัฒนาตนเองอย่างไร 
แม้การทำบัญชีรับจ่าย จะเน้นด้านมิติวัตถุ/เศรษฐกิจ แต่หากสังเกตการทำบัญชีของนิสิตอย่างละเอียด จะพบคุณธรรมข้ออื่นๆ เกี่ยวข้องมาก  เช่น  ความซื่อสัตย์ ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ฯลฯ 

... ตั้งใจว่า บันทึกครั้งถัดไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะนำตัวอย่างที่ดี มาแสดงด้วยครับ ....

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561

เรียนรู้เรื่อง "กระทรวงอุดมศึกษา" จาก ศ.นพ.อุดม คชินทร

ในงาน mini-UKM ครั้งที่ ๑๘ (๔-๕ เมษายน ๒๕๖๑) ศาสตราจารย์คลีนิค นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับเชิญมาบรรยายเรื่อง "กระทรวงอุดมศึกษา สู่มหาวิทยาลัย 4.0" ผมเข้าใจว่า บุคลากรมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังไม่เคยฟัง จึงตั้งใจเขียนบันทึกแบ่งปัน ประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้


  • ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. กระทรวงมหาวิทยาลัย ๓ ฉบับได้ร่างเสร็จแล้ว ผ่านคณะกรรมการพิจารณาแล้ว  การตั้งกระทรวงใหม่เหลืออีกสองขั้นตอนใหญ่ น่าจะใช้เวลาสัก ๔ เดือน และ ๓ เดือน ตามลำดับ  หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก่อนสิ้นปีนี้ (๒๕๖๑) เราน่าจะได้กระทรวงอุดมศึกษา 
  • กระทรวงนี้ถ้าไม่ได้เกิดก่อนเลือกตั้ง ไม่น่าจะได้เกิด เพราะมีคนค้านเยอะมาก 
ท่านเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุดมศึกษา ดังสไลด์ด้านล่าง 



  • กระทรวงฯ นี้ จะทำให้มหาวิทยาลัยทำอะไรจะต้องตอบโจทย์ประเทศ มหาวิทยาลัยจะต้องวิจัยและสร้างนวัตกรรม นำประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง 
  • มหาวิทยาลัยจะได้รับงบประมาณมากขึ้น โดยเฉพาะงบสนับสนุนในลักษณะ Area-based Approach (๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย) 
  • งบวิจัยและพัฒนา จะมากขึ้นจากปัจจุบัน ๐.๖ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็น ๑ เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า และมากขึ้น (ประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ ๔ ถึง ๖ เปอร์เซ็นต์)




  • ท่านบอกว่า ประเทศไทยไม่เคยมีแผนและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนอย่างนี้มาก่อน 
  • แผน ๒๐ ปี กำหนดไว้ ๖ ประการ ได้แก่ ๑) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ๒) 











































วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561

KM beyound 4.0

วันที่ ๔-๕  เมษายน ๒๕๖๑ มีงาน ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ของกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ​" mini-UKM" ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมาถึงครั้งที่ ๑๘ (อ่านที่มาได้ที่นี่​) ครั้งนี้จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มี "หัวปลา" ๕ ประเด็นได้แก่ ๑) เทคนิคการสอนแบบอาจารย์มืออาชีพ ๒) การพัฒนา Successor เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณภาพอุดมศึกษา ๓) เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน ๔) Best Practice เรื่องเทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ ๕) Data analysis for QA development system มีช่วง "ให้อาหารปลา" (ยกระดับความรู้) ๒ ช่วง เป็นการบรรยายพิเศษขององค์ปาฐกเรื่อง "KM beyound 4.0" โดย ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช และก่อนปิดงานเรื่อง "กระทรวงอุดมศึกษา สู่มหาวิทยาลัย 4.0" โดย ศาสตราจารย์คลีนิค นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ...  
ผม ALR ว่า ตนเองได้ทั้งประเทืองความรู้เดิม ได้เติมความรู้ใหม่ ได้ไอเดียและแนวทางที่จะไปทำต่อ และที่สำคัญได้มิตรภาพสำคัญที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ mini-UKM และเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนความหมาย หลักการ และวิธีการในการนำเอา KM ไปใช้ในการพัฒนางาน จึงเขียนบันทึก KM beyond 4.0 นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่าน ในการนี้ ...
ศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร กับ รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ น่าจะเป็นหัวใจของการนำเอา KM มาใช้ในงานมหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศ กลุ่ม mini-UKM ที่ท่านทั้งสองร่วมกันเป็นวิทยากรหลัก สามารถจัดต่อเนื่องได้ยาวนานหลายปี ดังนั้นประสบการณ์ของท่านทั้งสอง น่าจะเป็นแนวทางให้เราไม่หลงทาง และโดยเฉพาะ ศ.นพ.วิจารณ์ ผู้บุกเบิกนำเอา KM มาใช้ในประเทศไทย ที่มาให้ความมั่นใจในครั้งนี้
หลายท่านคงคิดเชิงวิพากษ์ว่า ทำไมต้องสร้างวาทะกรรม "4.0" ขึ้นมา สำหรับผมเห็นว่านี้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความเข้าใจและความนิยมเบื้องต้น เป็นวิธีการสื่อสารที่ใช้กันมานานมากแล้ว โดยเฉพาะในการบริหารจัดการสมัยใหม่ การสร้างคำหรือวาทะกรรมแบบนี้ สามารถสร้างความสนใจ สร้างความสงสัย หรือสร้างคำที่แทนความหมายหรือเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง 
การบรรยายของรัฐมนตรี ท่านเน้นย้ำว่า เป้าหมายของมหาวิทยาลัยต้องทำให้เป้าหมายของประเทศบรรลุผล ไม่มียุคใดสมัยไหนที่เป้าหมายของประเทศไทยชัดเจนเท่านี้มาก่อน (มีแผนชัด) คือทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง วิธีที่จะทำให้ก้าวไปสู่ประเทศที่ "มั่งคั่ง" ได้คือทำให้ก้าวไปสู่ "ประเทศไทย ๔.๐" ซึ่งจำเป็นต้องทำให้การศึกษาเป็น "การศึกษาไทย ๔.๐"  ดังสไลด์ด้านล่าง ... 
ผมเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ในวงการ KM คงคิดต่อว่า  จะทำให้การศึกษาไปสู่จุดนั้น จะต้องพัฒนาไปให้ถึง KM 4.0 และเสนอต่อไปอีกว่า KM beyond 4.0 จะเป็นอย่างไร 
(สไลด์ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมต.ช่วย กระทรวงศึกษาธิการ)

ความแตกต่างระหว่าง KM 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 โดยศาสตราจารย์ นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร
ศ.นพ.วุฒิชัย ท่านอธิบายให้ทุกคนได้สะท้อนระดับการพัฒนาของ KM ด้วยการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง KM 1.0, 2.0, 3.0, และ 4.0 ดังภาพ 

ผมชอบความชัดเจนของบรรทัดสุดท้าย ที่เรียงลำดับ "การรับรู้" (Perception) ต่อ KM ๔ ระดับ ได้แก่
  • KM 1.0 เข้าใจว่า KM เป็นภาระงานเพิ่มเติมที่ฉันต้องทำ
  • KM 2.0 เข้าใจว่า KM เป็นส่วนหนึ่งของงานของฉัน 
  • KM 3.0 เข้าใจว่า KM คือเครื่องมือที่ช่วยฉันทำงาน 
  • KM 4.0 เข้าใจว่า KM คือเครื่องมือที่ช่วยฉันและองค์กรทำงานของเรา 
ผมตีความลักษณะของ KM 4.0 ตามที่ ศ.นพ.วุฒิชัย เสนอ ดังนี้ 
  • เน้นเอาผลผลิตและนวัตกรรมเป็นศูนย์กลาง 
  • เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชุมชนนักปฏิบัติ (สังคม) 
  • เน้นพัฒนาที่ตัวคนและทีม ความร่วมมือ โดยใช้ระบบกระจายอำนาจ 
  • ชุมชนร่วมกันเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ 
  • ใช้ KM ในการทำงานทั้งกับตนเอง เพื่อนร่วมงาน และองค์กร (องค์กรแห่งการเรียนรู้) อย่างเป็นธรรมชาติ 
หากตีความว่า KM 4.0 เป็นดังนี้ คำถามคือ แล้ว "KM beyond 4.0" จะเป็นอย่างไร ... ไปดูคำตอบของผู้รู้ทั้งสองท่านครับ

KM beyond 4.0 ในมุมมองของ รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ (คุณหมอ JJ)


คุณหมอ JJ เขียนแผนที่ KM ดังสไลด์ด้านล่างนี้ 
ผมตีความเอาเองจากสไลด์นี้ว่า KM ในแต่ละยุค ท่านหมายถึง 
  • KM 1.0 เป็น Hard Science เน้นให้ความสำคัญเฉพาะ "วิชาการ" ทฤษฎี ข้อเท็จจริงชัดแจ้ง ให้ความสำคัญเฉพาะความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge, EK) เช่น ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ ผลการวัด ผลการทดลอง ฯลฯ  โดยไม่สนใจความรู้สึกนึกคิดของคนและสังคม 
  • KM 2.0 เป็น Soft Science สนใจประสบการณ์การเรียนรู้ของคนและระหว่างคนกับคน โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ (tools) ในการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อจะสร้างวัฒนธรรมในการทำงานเชิงราบร่วมกัน... ในระดับ KM 2.0 นี้ กระบวนการ KM ต่าง ๆ อาจยังเป็นรูปแบบ 
  • KM 3.0 คือความสำเร็จของ KM 2.0 เกิดขึ้นเมื่อการนำ KM Tools มาใช้ต่อเนื่องจนเกิดเป็น "วิถี" (อยู่ในวิถีชีวิต วิถีการทำงาน) เกิดเป็นวัฒนธรรมในการทำงาน มีเป้าหมาย มีกระบวนการตาม SECI Model ครบวงจร ดังนี้ 
    • S (Socialization) คือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge, TK) ระหว่างกันแบบเผชิญหน้า
    • E (Externalization) คือ มีการถอดบทเรียนหรือสกัดความรู้ จากความรู้ฝังลึกไปเป็นความรู้ชัดแจ้ง (เปลี่ยนจาก TK ไปเป็น EK) 
    • C (Combination) คือ การควบรวมหรือบูรณาการความรู้ชัดแจ้งเข้าด้วยกัน สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ 
    • I (Internalization) คือ การนำเอาความรู้ชัดแจ้งไปใช้ เกิด(กลาย)เป็นความรู้ฝังลึกในคน
  • KM 4.0 ในสไลด์นี้ ท่านสรุปลักษณะของ KM ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ บรรยายในฐานะองค์ปาฐกครั้งนี้ ... ดังจะกล่าวต่อไป 
  • KM beyond 4.0 จะต้องไม่ใช่เพียง การนำเอา KM ไปใช้เป็นวิถี แต่ฝังลึกลงไปในใจ จนกลายอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ (เรียนรู้ตลอดชีวิต) เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้(วัฒนธรรมเรียนรู้) และมีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) ในองค์กร ชุมชน สังคม ประเทศ ฯลฯ 
KM beyond 4.0 ในมุมมองของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ฟังท่านพูดกี่ครั้งก็ได้ความรู้ใหม่เสมอ วิธีการหยิบเอา "แก่นความรู้" ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาเรียงต่อบรรทัด เป็นวิธีลัดในการทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้เสมอ  ท่านสรุปแก่นของ KM ในเบื้องต้น บอกองค์ประกอบของ KM 4.0 และเปรียบต่างให้เห็นในตอนกลาง และลงรายละเอียดวิธีการนำไป Internalized ในตอนท้าย โดยเฉพาะเรื่อง Framework ในตอนท้าย ... เข้าใจว่า ท่านคงจะเผยแพร่ Narrated ppt เร็วๆ นี้  ขอนำมาแลกเปลี่ยนบางส่วน ดังนี้ 
  • KM คือ การจัดการให้ "ความรู้" ออกฤทธิ์ ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน  คนได้เรียนรู้มาก องค์กรได้บรรยากาศที่ดี มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรเรียนรู้ 
  • KM คือ เครื่องมือ ของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ สะท้อนคิดร่วมกัน คือการจัดให้มีความรู้พร้อมใช้ในการทำงาน หมุนเกลียวยกระดับความรู้ 
  • KM เป็น Tools,  ความรู้เป็น means, End คือ งาน คน และองค์กร 
(สไลด์ คุณหมด JJ)


ท่านเปรียบเทียบ KM ในแต่ละยุค ดังนี้ว่า 
  • KM 1.0 สร้างถังใส่ความรู้ 
  • KM 2.0  Human KM , เน้นฝึกทักษะคน เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง เรื่องเล่าเร้าพลัง AI(Appriciative Inquiry), เปิดใจ ยินดี กล้าแลกเปลี่ยน EK, TK, SECI cycle, BAR, DAR, AAR, ถอดความรู้, Peer Assist เป็นต้น 
  • KM 3.0 อยู่ในวิถี มีเป้าหมาย ใช้ IT มีการจัดการ "หัวปลา" และสารสนเทศ มีการจัดการความรู้จากภายนอก
  • KM 4.0 มี Framework KM (กรอบงาน KM) มีการจัดระบบ คือ จับเป้า ทำเป็นระบบ ทำอย่างเป็นขั้นตอน มีการวัดและการสื่อสาร  
    • จับเป้า -> มีเป้าหมายที่ยึดกุมภาพใหญ่ ครอบคลุม ทำเล็กแต่ต้องพุ่งเป้าภารกิจหลักขององค์กร  จับเป้าจัดการความรู้ที่จะทำให้เป้าหมายที่กำหนดสำเร็จ (Critical K.) 
    • ทำเป็นระบบ -> มีกรอบงาน KM ที่กำหนดชัดถึง คน ผู้แสดงบทบาทและรับผิดชอบ (roles) กระบวนการที่ช้ (process) ที่เป็นมาตรฐานกลาาง เทคโนโลยี เพื่อหนุนการ ลปรร. และกลไกกำกับดูแล (governance) คือสร้างกติกาและข้อตกลง
    • ทำอย่างเป็นขั้นตอน -> มียุทธศาสร์ มีการวางแผน มีการทดสอบ&โครงการนำร่องก่อนการขยายผล และมีการบูรณาการกับงานประจำ 
    • มีการวัดและสื่อสาร -> ตั้งเป้าหรือผลที่คาดจะได้รับ มีการสร้างวิธีวัด สื่อสารผล และสร้างการยอมรับ ทำให้เกิดพลังมวลชน เกิดพลังนโยบาย 
สไลด์ที่ผมสะดุดใจมากที่สุด คือ ตังอย่างภารกิจด้าน KM 4.0 นอกเหนือจากที่เรารู้จักกันอยู่แล้ว ท่านลิสท์เป็นข้อ ๆ ดังนี้ 
  • K Engineer : กำหนด critical knowledge, ถอดความรู้, จัดระบบ K. Assets, จัดประเมินความรู้ 
  • Lessons-Learned Facilitator : จัดการประชุม, จัดเสวนาจนความรู้สำคัญ "โผล่", ตรวจจับความรู้, ทำเป็นเอกสารที่ใช้ง่าย (Lessons Management Systems), ติดตามผลการใช้งาน สู่การเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงาน
  • Learning Historian: สัมภาษณ์เก็บข้อมูล, กลั่นกรองร้อยเรียง, เขียนเป็นพรรณนาโวหาร, ตรวจจำความแม่นยำ, เผยแพร่
  • K Base Publisher: เขียนบทความเผยแพร่ออกภายนอก 

หลายข้อผมกำลังทำอยู่ บางข้ออยู่ในแผน เป็นเส้นทางที่กำลังเดิน แต่บางข้อก็ยังทำไม่สำเร็จ ... ผมเข้าใจว่า ศ.นพ.วิจารณ์ ท่านกำลังให้แผนที่การเดินทางของคน KM ทุกท่าน  ทุกข้อท่านได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างทั้งหมดแล้ว....

สไลด์สุดท้าย ท่านสรุปว่า KM beyond 4.0 จะทำให้เกิดผลลัพธ์/ผลกระทบที่ต้องการ มีเป้าหมายชัด มีการจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการองค์กร มีการวัดและปรับตัวสม่ำเสมอ เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

ข้อสรุป KM beyond 4.0 

หลังจากศึกษามุมมองของผู้รู้ทั้ง ๓ ท่าน ผมสรุปว่า KM ไม่ได้มียุค 1.0, 2.0, 3.0, หรือ 4.0  ทุกท่านมองไปที่ระดับความสำเร็จของการนำ KM มาใช้  ผมตีความว่า ท่านเพียงจะนิยามลักษณะองค์ประกอบหรือลักษณะของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังยกระดับความเข้าใจและแนวทางการนำไปพัฒนาตนเองเท่านั้น  ซึ่งสามารถแบ่งระดับความสำเร็จได้ ๕ ระดับ ดังนี้ 
  • ระดับ ๑ ได้เพียงองค์ความรู้ คลังความรู้ หรือถังใส่ความรู้ ซึ่งอาจจะเก็บอยู่ในลักษณะฐานข้อมูล 
  • ระดับ ๒ เกิดกิจกรรมหรือกระบวนการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการใช้ KM เป็นเครื่องมือในรูปแบบ เป็นทางการ 
  • ระดับ ๓ เกิดเป็นวิถีในการทำงาน มีกระบวนการ SECI ครบวงจร อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวิถีในการดำเนินชีวิต 
  • ระดับ ๔ เป็นวิถีในชีวิต มีกรอบการทำ KM มีเป้าหมายชัดเจน มีระบบ มีขั้นตอน มีการวัดและสื่อสาร เป็นนโยบายขององค์กร 
  • ระดับ ๕ เกิดผลลัพธ์บรรลุตามเป้าหมายของงาน เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ระดับบุคคลเกิดอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ ระดับองค์กรเกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ บุคลากรเกิดจิตสำนึกรักและเป็นเจ้าขององค์กร
คำถามสำคัญคือ KM ในหน่วยงานของเรา สำเร็จหรือไม่ อยู่ในระดับความสำเร็จใด?  ...  ผมมีพลังใจขึ้นมานิดหน่อย เมื่อผู้รู้ท่านบอกว่า 
  • KM ไม่ใช่สุกี้ ที่ ๓ นาทีพร้อมทาน 
  • KM ไม่ใช่เกมเศรษฐี ไม่มีสูตรสำเร็จ 
  • KM จะต้องพบกับความไม่ราบรื่นแน่นอน...
  • ฯลฯ
ขอจบเท่านี้ครับ ....

 รองอธิการ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวเปิดงาน

 รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ BAR พาเข้าสู่กระบวนการ


ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บรรยายพิเศษ