วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๔ : ถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๘

วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙  เราเชิญตัวแทนอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มาร่วมแลกปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒/๒๕๕๘ ที่ผ่านมา  ขอขอบคุณ  เราพบว่าแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละคณะแตกต่างกัน อย่างน่าสนใจ  จึงขอนำเอาไทมไลน์กิจกรรมการเรียนรู้ของแต่ละคณะมาแลกเปลี่ยน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของ คณะ-วิทยาลัยที่จะเปิดสอนต่อ ๆ ไป

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คือการปลูกฝัง "จิตอาสา" ด้วยกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชน  เครื่องมือสำคัญของอาจารย์ คือการโยนคำถามว่า  "ชุมชนต้องการอะไร"  และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ชุมชนต้องการเป็นอันดับแรก การทำงานร่วมกันอย่างหนักของนิสิต ความสุขจากการอุทิศแรงกาย แรงใจ และการสละทรัพย์เงินส่วนตัว น่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการ "ระเบิดจากภายใน" เป็นเหตุให้เกิดจิตอาสาที่แท้จริง

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่สัปดาห์แรกถึงสัปดาห์สุดท้าย  ท่านผู้อ่านสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมมากนัก





คณะวิทยาการสารสนเทศ

จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนของคณะวิทยาการสารสนเทศ คือ การบรูณาการความรู้ในสาขาไปใช้ในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการทำงานเป็นทีม  คำถามสำคัญในการสอนคือ จะนำความรู้ในสาขาวิชา (หลักสูตร) ของตนเองไปใช้ในการทำงานเป็นทีมเพื่อสังคมอย่างไร?





ผม AAR ว่า การจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรก (๒/๒๕๕๘) ที่ผ่านมานั้น แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จแบบงดงาม เนื่องจากปัญหาด้านการบริหารจัดการในการประสานและขับเคลื่อนของผมเอง  แต่ก็ถือว่าได้รับ "องค์ความรู้" ที่จะนำมาสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป ที่คุ้มค่า  โดยเฉพาะข้อค้นพบที่เราต้องยอมรับ ดังนี้
  • เนื้อหาร่วม (เนื้อหาส่วนกลางที่ต้องสอนร่วมกัน) ค่อนข้างลงตัว คือบทที่ ๑ ถึงบทที่ ๓ ได้แก่ 
    • บทที่ ๑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   ซึ่งจะกล่าวถึงความเป็นมาของจังหวัด การก่อตั้งมหาวิทยาลัย วิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ค่านิยม และคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย และรวมไปถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรด้วย 
    • บทที่ ๒ บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการรับใช้สังคม การบริการวิชาการ และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ 
    • บทที่ ๓ การศึกษาชุมชน  ซึ่งเน้นภาพกว้างของหลักการ ความสำคัญ เครื่องมือ เทคนิค และข้อปฏิบัติเมื่อจะลงพื้นที่ศึกษาชุมชน  
  • เนื้อหาร่วมนี้ จะวัดผลในการสอบกลางภาคเรียน ด้วยข้อสอบชุดเดียวกันทุกคณะ-วิทยาลัย  คิดเป็นคะแนน ๓๐ คะแนน 
  • กำหนดให้มีคะแนนสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้  ๑๐ คะแนน 
  • คณะ-วิทยาลัย มีอิสระที่จะออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง  โดยเฉพาะในส่วนหลังสอบกลางภาค  และกำหนดแนวทางการวัดผลประเมินผลของตนเอง ทั้ง ๖๐ คะแนน  
  • ปลายภาคเรียน สำนักศึกษาทั่วไป จะจัดเวทีนำเสนอผลงาน/ผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการเรียนการสอนของรายวิชา  และมีการเชิญกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก มาร่วมสะท้อนความเห็น และประเมินผลการเรียนรู้  โดยไม่มีข้อบังคับว่า แต่ละคณะ-วิทยาลัย จะต้องนำคะแนนนั้นๆ ไปใช้ 
ขอจบเท่านี้ครับ 

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา สรุปผลการประชุมเตรียมสอนปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

เรียนอาจารย์ผู้สอน รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา ประจำปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙ ทุกท่าน

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙  อาจารย์ผู้ประสานงาน อาจารย์ผู้สอน และผมในฐานะผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ประชุม KM กันเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ และตกลงบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้ประสานงาน ต่อเนื่องจากที่ร่างกันไว้ตั้งแต่ตอนไปฝึกอบรมที่อินเตอร์รีสอร์ท อ.หนองแสง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ ๙-๑๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา   รวมทั้งสองการประชุม มีข้อสรุปร่วมกันดังนี้

๑) เนื้อหา

หลังจากผ่านการจัดการเรียนการสอนมาแล้ว ๓ ภาคเรียน  เนื้อหาที่ใช้สอนค่อนข้างลงตัว ข้อตกลงคือ เราจะยึดเอาเนื้อหานี้ (เนื้อหานิ่งแล้ว) ในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ให้เสร็จภายในปีการศึกษา ๒/๒๕๕๙ นี้


เนื้อหาที่ตกลงกัน เพิ่มเติมจากเดิมที่ประชุมกันในภาคเรียนที่แล้วมาเพียงเล็กน้อย (อ่านได้ที่นี่ครับ) คือ เพิ่มบทเรียนเรื่อง "มนุษย์กับวัฒนธรรม" และสลับหัวเรื่องใหม่เท่านั้น ภาพรวมยังคงเป็นการเรียนจากภาพใหญ่เรื่องไกลมายังเรื่องใกล้ตัว เรียนโลกทั้งใบ โลกภูมิ -> ชาติภูมิ -> มาตุภูมิ ->มาสู่ภูมิสังคม โดยแบ่งเป็นทั้งหมด ๑๓ บทเรียน ดังนี้ครับ

  • บทที่ ๑ อารยธรรมตะวันตก 
  • บทที่ ๒ อารยธรรมตะวันออก : จีน - ญี่ปุ่น 
  • บทที่ ๓ อารยธรรม อินเดีย - เขมร 
  • บทที่ ๔ อารยธรรมอิสลาม
  • บทที่ ๕ รัฐชาติ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์
  • บทที่ ๖ โลกาภิวัฒน์
  • บทที่ ๗ อารยธรรมไทย
  • บทที่ ๘ อารยธรรมอีสาน
  • บทที่ ๙ มนุษย์กับสังคม
  • บทที่ ๑๐ มนุษย์กับวัฒนธรรม
  • บทที่ ๑๑ มนุษย์กับเศรษฐกิจ
  • บทที่ ๑๒ มนุษย์กับการเมือง
  • บทที่ ๑๓ มนุษย์กับศาสนา 
ที่ประชุมตกลงว่า เนื้อหาเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงโดยง่าย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาการเรียนการสอนและเอกสารประกอบการสอน

๒) แนวทางการสอน

วิธีการสอน ให้เป็นแบบบรรยาย คล้ายการบรรยายพิเศษในหัวเรื่องตามบทเรียน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียน ได้เห็นภาพกว้าง รู้กว้างขวาง ได้รับองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในหัวเรื่องนั้นๆ ให้อาจารย์ผู้สอนบรรยายให้จบและมอบหมายงาน (ถ้ามี)  โดยอาจารย์ผู้สอนไม่ต้องกังวลเรื่องความเชื่อมโยงของระหว่างบทเรียน   ...  คุยกันว่า หลังจากได้พัฒนาเอกสารประกอบการสอนหรือตำราเสร็จแล้ว อาจารย์แต่ละท่านจะเห็นความเชื่อมโยงสอดคล้อง และลดความซ้ำซ้อนของการสอนได้เอง

๓) การประเมินผล

การประเมินผล ให้เป็นไปตาม มคอ.๓ (ที่ส่งไปยังสำนักศึกษาทั่วไปแล้ว ดาวน์โหลดที่นี่)  ประเมินเป็นระบบเกรด ในอัตรา ๖๐:๔๐  โดยเก็บคะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรมและใบงาน ๔๐ คะแนน และคะแนนสอบ ๖๐ คะแนน โดยแยกละเอียดย่อย ดังนี้
  • เข้าร่วมกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของคะแนนทั้งหมด
  • คะแนนงาน/ใบงาน/ทดสอบย่อย ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  โดยเก็บคะแนนร้อยละ ๕ จากบทเรียนที่ ๒ ๓ ๔ ๖ ๑๑ และ ๑๓  
  • คะแนนสอบกลางภาคเรียน ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  โดยครอบคลุมเนื้อหาบทที่ ๑ - ๖
  • คะแนนสอบปลายภาคเรียน ร้อยละ ๓๐ ของคะแนนทั้งหมด  ครอบคลุมเนื้อหาบทที่ ๗ - ๑๓
โดยให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบแต่ละบทเรียน ออกข้อสอบ ๑๐ ข้อ ... ดังนั้นหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ข้อสอบกลางภาคเรียนจะมีทั้งหมด ๖๐ ข้อ  และข้อสอบปลายภาค ๗๐ ข้อ

๔) เกี่ยวกับผู้ประสานงาน

เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน จัดทำและจัดส่ง มคอ.๓ มคอ.๕ รวบรวมข้อสอบ  และ การพัฒนาการเรียนการสอน เอกสารประกอบการสอน จึงแต่งตั้งให้วิชานี้มีอาจารย์ผู้ประสานงาน ๒ ท่าน  ให้ทำงานคู่กัน  โดยในแต่ละปีการศึกษา ควรจะมีการจัดประชุมอาจารย์ผู้สอน ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย ได้แก่
  • ประชุมเพื่อพิจารณาผลการศึกษา (ประชุมเกรด) 
  • ประชุมเพื่อจัดทำ มคอ.๕  และ มคอ.๓ ของภาคการศึกษาถัดไป  (ประชุม KM รายวิชาประจำภาคเรียน)
สำหรับวิธีการประชุม ให้อาจารย์ผู้ประสานงานแจ้งและส่งวาระประชุมมายังเจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไปให้เป็นผู้นัดประชุม  สำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุม เพื่อบันทึกกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นระบบ

๕) เอกสารประกอบการสอน

กำหนดข้อตกลงในการพัฒนาดังนี้
  • อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน ส่งต้นฉบับมายังอาจารย์ผู้ประสานงาน ภายในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ 
  • อาจารย์ผู้ประสานงาน รวบรวมและจัดส่งต้นฉบับ เอกสารมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดรูปเล่มภายในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๙ 
  • จัดประชุมวิพากษ์ร่างเอกสารในช่วงสอบกลางภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙
  • จัดพิมพ์ให้ทันใช้ในปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๙
สำหรับปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙  ให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน นำส่งเอกสารประกอบการสอนและสื่อพาวเวอร์พอยท์ มายังสำนักศึกษาทั่วไป ภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙

ทั้งหมดคือข้อสรุปของการประชุมครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๓ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาเอกสารประกอบการสอน (๑)


วันที่ ๙-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ อาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๑๒ ท่าน (จากทั้งหมด ๒๕ ท่าน) เข้าร่วมโครงการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ประจำปี ๒๕๕๙ ที่จัดขึ้นที่โรงแรมอินเตอร์รีสอร์ท อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ร่วมกับอีก ๘ รายวิชาที่ไปในคราวเดียวกัน

เอกสารประกอบการสอนที่ใช้ผ่านมา ๒ ภาคเรียน ทีมอาจารย์เรายังไม่ได้เป็นเขียนหรือผู้เรียบเรียง เป็นเพียงการรวบรวมและคัดลอกเอาเนื้อหาจากหนังสือของ ดร.ปียานุช ธรรมปิยา และเอกสารเผยแพร่จากสำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. เกือบทั้งหมด ด้วยวัตถุประสงค์ให้อาจารย์ผู้สอนได้เข้าใจถึงแนวทางของรายวิชาให้ตรงกัน 

มาถึงเวลา ณ เวทีนี้ ผมเสนอต่ออาจารย์หลายท่านว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ทีมอาจารย์ผู้สอนน่าจะเรียบเรียงหรือเขียนเอกสารประกอบการสอนขึ้นเอง จึงได้ตกลงกันจัดแบ่งให้แต่ละกลุ่มอาจารย์ร่วมด้วยช่วยกันเขียนยกร่างขึ้น อย่างไรก็ดี คงจะไม่ทันใช้ในภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙ นี้ จึงได้ตั้งเป้าหมายและทำไทม์ไลน์กันว่า เอกสารเล่มใหม่ที่จะได้จากการรวบรวมเรียบเรียงขึ้นนี้ จะใช้ในปี ๒/๒๕๕๙ เป็นปีแรก โดยผ่านกระบวนการของทางสำนักศึกษาทั่วไป

เนื่องจากอาจารย์หลายท่านไม่สามารถไปร่วมในการประชุมครั้งนี้ได้  จึงขอสรุปให้เข้าใจข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้ครับ

เอกสารประกอบการสอนสำหรับปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

  • นำเอกสารที่ใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๘  มาปรับให้เป็นไปตามรูปแบบที่สำนักศึกษาทั่วไปกำหนด (อ่านได้ที่นี่)
  • สิ่งที่ต้องทำสำหรับการปรับปรุงครั้งนี้มี ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ตรวจทานเวิร์ดดิ้งของเอกสารฉบับเดิมให้ดีขึ้น ๒)เขียนเพิ่มเติมองค์ประกอบที่กำหนด เช่น วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม วิธีการสอน/กิจกรรมการเรียนรู้ วิธีประเมินผล และหนังสืออ้างอิง   และ ๓) ออกข้อสอบสำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๙ บทละ ๓๐ ข้อ โดยแบ่งหน้าที่กันแต่ละบทเรียนดังนี้ 
    • บทที่ ๑ ที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้รับผิดชอบคือ อ.จิรภา อ.วิลาวัณย์ อ.วรรณชัย อ.โสภา 
    • บทที่ ๒  ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้รับผิดชอบคือ อ.ธวัช อ.เบญจวรรณ อ.ประสิทธิ์ อ.ประภัสสร ....  (ท่านอาจารย์ประภัสสรได้ออกข้อสอบและส่งมาที่ผมแล้วส่วนหนึ่งครับ)
    • บทที่ ๓ ศาสตร์พระราชาและหลักการทรงงาน ผู้รับผิดชอบคือ อ.มัณฑนา อ.อุษา อ.พรทิพย์ อ.วรัญญู และ อ.เกรียงศักดิ์ ... (อ.เกียงศักดิ์ได้ส่งข้อสอบให้ผมแล้วขอบพระคุณมากครับ)
    • บทที่ ๔ เกษตรทฤษฎีใหม่ ผู้รับผิดชอบคือ อ.เบญจพร อ.พัฒนพล อ.บังอร อ.ปณรัตน์ และ อ.วรากร 
    • บทที่ ๕ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ผู้รับผิดชอบ คือ  อ.มาระตี อ.สุดารัตน์ อ.ขวัญใจ อ.วันทกาญจน์ และ อ.วันทนา 
ขณะนี้หน้าที่ ๒ ประการแรกได้เสร็จเรียบร้อยครับ เหลือเพียงการจัดทำข้อสอบสำหรับ ปีการศึกษา ๒๕๕๙  ซึ่งอาจารย์กำลังทยอยส่งมาครับ  เรามีนัดหมายกันที่จะประชุมหารือกันในวันที่ ๒๖ ก.ค. ๒๕๕๙ นี้

เอกสารประกอบการสอนสำหรับปีการศึกษา ๒/๒๕๕๙ เป็นต้นไป

สรุปตกลงกันดังนี้ครับ 
  • ปรับปรุงเอกสารประกอบการสอนให้มี ๘ บทเรียน (จากเดิม ๕ บทเรียน) โดยให้ผู้รับผิดชอบไปเขียนในลักษณะเรียบเรียงหรือรวบรวม ไม่ใช่การคัดลอก เพื่อจะได้พัฒนาเป็นหนังสือหรือตำราต่อไป 
  • กำหนดทีมผู้เขียนยกร่างในแต่ละบทเรียน และกำหนดให้มีผู้ประสานงานกลุ่มย่อย ด้งนี้  
    • บทที่ ๑ ที่มาของ ปศพพ.  ผู้เขียน ๔ ท่าน คือ อ.ฤทธิไกร อ.จิรภา อ.วิลาวัณย์ และ อ.วรรณชัย  มอบให้ อ.จิรภา เป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่อย 
    • บทที่ ๒ ปศพพ.  ผู้เขียนมี ๔ ท่าน ได้แก่ อ.ธวัช อ.ประสิทธิ์ อ.เบญจวรรณ อ.เทอดศักดิ์  โดยมี อ.ธวัช เป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่อย 
    • บทที่ ๓ ศาสตร์พระราชาและหลักการทรงงาน ผู้เขียนมี ๒ ท่าน คือ อ.มัณฑนา กับ อ.วรัญญู ให้ อ.วัญญูเป็นผู้ประสาน
    • บทที่ ๔ ปศพพ.กับการดำเนินชีวิต มีผู้เขียน ๓ ท่าน คือ อ.มาระตี อ.สุดารัตน์ และ อ.ขวัญใจ  ให้ อ.มาระตีเป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่อย
    • บทที่ ๕ เกษตรทฤษฎีใหม่ มีผู้เขียน ๔ ท่าน ได้แก่ อ.เบญจพร อ.พัฒนพล อ.วรากร และ อ.บังอร โดยให้ อ.เบญจพร เป็นผู้ประสานกลุ่มย่อย 
    • บทที่ ๖ เศรษฐศาสตร์กับความพอเพียง มีผู้เขียน ๓ ท่าน ได้แก่ อ.โสภา อ.จันทร์ฉาย และ อ.วันทกาญจน์ ให้ อ.โสภาเป็นผู้ประสานกลุ่มย่อย
    • บทที่ ๗ ปศพพ. กับการพัฒนาท้องถิ่น มีผู้เขียน ๔ ท่าน คือ อ.พรทิพย์ อ.เกรียงศักดิ์ อ.อุษา อ.ประภัสสร โดยให้ อ.พรทิพย์ เป็นผู้ประสานกลุ่มย่อย
    • บทที่ ๘ ปศพพ. กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (ระดับประเทศ&โลก)  มีผู้เขียน ๓ ท่าน คือ อ.ปณรัตน์ อ.สิริภัค และ อ.วันทนา
  • กำหนดเวลาคือ ร่างฉบับแรกเสร็จก่อนสอบกลาง (ประมาณกลางกันยายน ๒๕๕๙)  และมีกำหนดรวบรวมกันแล้วนำเข้าวิพากษ์กันในช่วงสอบกลางภาค ก่อนจะส่งให้สำนักศึกษาทั่วไป นำไปผ่านผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป 
  • วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นี้ ให้แต่ละกลุ่มนำร่างการเขียนแต่ละบทเรียน (หัวข้อย่อย) มานำเสนอและร่วมกันวิพากษ์ ก่อนจะเริ่มเขียนตามแนวทางที่กำหนดร่วมกันต่อไป  
จบครับ.... เชิญดูรูปครับ ...








วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา จับประเด็นจากคลิปบรรยาย (๓) วัฒนธรรมไทย


บันทึกที่ (๑)
บันทึกที่ (๒)

เชิญครับ สำหรับคนที่ชอบดูคลิป


ดูสไลด์ของท่านประกอบได้ด้านล่างครับ






  • มีคำ ๓ คำที่ควรรู้ มีความหมายต่างกัน ได้แก่  
    • Tai หรือ ไท หมายถึง เชื้อชาติไท ประกอบด้วยคนจำนวนมาก ที่พูดภาษาไท 
    • Thai หรือ ไทย หมายถึง คนไทกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า สยาม จนกระทั่งมาเปลี่ยนเรียกตนเองเป็น ประเทศไทย ในปี 1939
    • Siam หรือ สยาม ก็คือคนไทกลุ่มหนึ่ง ดังที่กล่าวไป 
  • คนไท (Tai) นั้นเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่  หลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธ์ แต่ใช้ภาษาเดียวกัน เรียกว่า ภาษาไท  อาศัยอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิ  เช่น 
    • สยาม อยู่แถวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 
    • ลาว อยู่แถวแม่น้ำโขง  ฝั่งซ้ายเรียกลาวล้านนา ฝั่งขวาเรียกลาวล้านช้าง 
    • ภูไท อยู่เหนือลาวขึ้นไป  สาเหตุที่คนไทยมีเชื้อชาติภูไทยในปัจจุบันเยอะเกิดจากการกวาดต้อนผู้คนหลังสงคราม  ภาษาภูไท จะคล้าย ๆ ภาษาไทย 
    • จ้วง  อยู่เหนือภูไทขึ้นไป อยู่ทางตอนใต้ของจีน  ปัจจุบันอยู่ในมณฑลกวางสี 
    • ลื้อ หรือ เขิน   อยู่เหนือเชียงใหม่ขึ้นไป ในอาณาจักรสิบสองปันนา เชียงรุ้ง  
    • ชาน  หรือเราเรียกว่า ไทยใหญ่ 
    • อาหม ตอนนี้กลุ่มนี้ไม่เป็นไทยแล้ว แต่งชุดแขก พูดภาษาแขกหมดแล้ว  เหลือแต่ร่องรอยตัวหนังสือเท่านั้น 
    • คัมเต  อยู่ติดกับชายแดนทิเบต  ...  มีอาจารย์ภาคภาษาไทยเคยไปที่นั่นแล้วกลับมาเล่าให้ฟังว่า เขาใช้ภาษาไทย คุยกันรู้เรื่อง มีกษัตริย์ปกครอง อยู่เรือนไม้ทรงสูง เหมือนบ้านทางอีสานในปัจจุบัน เขาถามว่า  "มึงมาแต่ไส"  
  • สมัยจอมพลปอ พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็น ประเทศไท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชาวไท  เป็นรัฐชาติ  มีบางคนบอกว่าควรจะมี ยอยักษ์ (ย.)  จะได้สวยๆ  เหมือนการเขียนคิ้วทาหน้า    จึงเปลี่ยนมาเป็นประเทศไทย จนปัจจุบัน
  • คนไทยเป็นอย่างไร ?   ที่เด่นที่สุดคือ มีจิตใจโอบอ้อมอารี แบ่งปันกัน ชอบความสนุกสนาน เคารพผู้ใหญ่ และ ๘่.๐๐ น. ยืนตรงเคารพธงชาติ  ... สิ่งดี ๆ เหล่านี้ เริ่อมเสื่อมไปในปัจจุบัน
  • วัฒนธรรมขี้อาย (Shame Culture) ผู้บรรยายยกตัวอย่างกรณีด้วยการขายเสียง  ไม่ใช่มองหน้าแล้วอาย  แต่อายเมื่อรู้ว่าตนเองทำไม่ดี (ทำความชั่ว) แต่จะทำต่อ ๆ ไป ตราบเท่าที่ไม่มีคนรู้  เมื่อมีคนรู้ จึงเกิดความอายขึ้น ...  คือ ตอนทำไม่อาย ตอนโกงไม่อาย แต่จะอายเมื่อถูกจับได้
  • Shame Culture  ไม่ใช่เฉพาะเป็นนิสัยของคนไทย แต่เป็นนิสัยของคนในเอเชียอาคเนย์... จึงไม่ต้องแปลกใจที่ ประเทศเหล่านี้ ขึ้นชื่อเรื่องอันดับการคอรัปชั่นสูง 


  • การสาดน้ำ การรดน้ำดำหัว การรดน้ำดำหัว เป็นประเพณีของชาวมอญ ที่ทำต่อกันมาเป็นพันปี 
  • ต่อมาเมื่อพม่าได้มอญเป็นเมืองขึ้น ได้นำเอาประเพณีนี้ไปเล่นในพม่าด้วย 
  • เมื่อบุเลงนอง ตีกรุงศรีอยูธยาได้ตอนปี ๒๑๑๒ จึงนำเอาประเพณีเหล่านี้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่นั้นมา จึงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง
  • ไทยรับวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของไทย รับมาจากอินเดีย ได้แก่  การไหว้ นุ่งโจงกระเบน ใช้มือเปิปข้าว เป็นต้น 
  • อาณาจักรที่เจริญก่อนไทยคือเขมร  อินเดียส่งต่อให้เขมร  ดังนั้นไทยจึงได้รับวัฒนธรรมเหล่านี้จากเขมรอีกที

  • ในปี พ.ศ. ๑๘๙๕  กรุงศรีอยุธยาไปตีเขมรแตก จึงกวาดต้อนคนและปราชญ์มาอยู่ที่อยุธยา จึงรับเอาวัฒนธรรมมาจากเขมร  เช่น ภาษา ราชาศัพท์ ลายกนกไทย ที่กลับซ้ายเป็นขวา กลับขวาเป็นซ้าย ฯลฯ
  • ขนมต่างๆ ตามภาพ อะไรก็ตามที่มีผสมไข่ กะทิ  มาจากโปรตุเกส  เพราะแต่ก่อนเราไม่มี .... เรารับมาแล้วนำมาเพิ่มเติมปรับปรุงต่อ จนอร่อยกว่าต้นฉบับที่ใด ๆ 

  • รัชกาลที่ ๔  ได้เริ่มรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา  ได้สร้างถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย 
  • อังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งไทยเสียเปรียบอย่างมาก พระองค์ท่านทรงคิดว่า แม้จะเสียเปรียบแต่เป็นการซื้อเวลาในการปรับตัว  คือไม่หนีฝรั่งเหมือนราชสำนักอื่นๆ ซึ่งต่อมาตกเป็นเมืองขึ้นทั้งหมด 
  • สนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้เราขายข้าว  เริ่มปลูกข้าวเยอะ เริ่มมีโรงสี .... เริ่มระบบทุนนิยม

  • มีโรงสีโรงแรกในสมัย ร.๔  ที่ขัดข้าวเป็นข้าวขาว  ส่วนใหญ่คนไทยกินข้าวกล้องทั้งหมด
  • คนไทยไม่ทำโรงสี คนที่ทำโรงสีคือคนจีน
  • สมัย ร.๓ มีคนจีนคนหนึ่งชื่อยิ้ม  พาภรรยายอพยพ ลงเรือมาทำงานในโรงสีในไทย  โดยขอยืมเงินเป็นค่าจ้างเรือเดินทางมาไทย 
  • เริ่มมาเป็นกรรมกรในโรงสีอยู่หลายปี จนสามารถจ่ายหนี้ค่าเรือหมด  จึงเดินทางไปเชียงใหม่ ไปพบพระเจ้าเชียงใหม่  ไปแนะนำวิธีการเก็บภาษี จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีฝิ่น เมื่อมีเงินมีทองจึงเดินทางมากรุงเทพ 
  • ร. ๔ แต่งตั้งให้เป็นพระภาษีสมบัติบริบูณ์ กลายเป็น "ท่านยิ้ม"  ร่ำรวยมาก  ขุดคลองภาษีเจริญ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ตรงปากครอง ท่านยิ้มสร้างโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่นั่น เป็นเจ้าของบริษัทเดินเรือระหว่างกรุงเทพสิงคโปร์ เป็นเจ้าของธุรกิจทุกอย่างที่มีในเมืองไทยขณะนั้น และเป็นเศรษฐีใหญ่ที่สุดของเมืองไทย 
  • ยิ้มมีลูกชายคนหนึ่ง ชื่อ ขุนสาทรราชาวุฒิ (อาจฟังผิดนะครับ) เป็นที่มาของถนนสาทร ในปัจจุบัน  
  • ยิ้มมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ ห่วง  ซึ่ง ร.๕ จึงมาขอไปเป็นเจ้าจอม ได้โอรสองค์โต คือ พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์  
  • พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์ มีลูกชายคนโตชื่อ พระจันทรบุรีสุรนาถ ซึ่งก็คือ เสด็จพ่อของพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบันนั่นเอง 


  • ร. ๔ ท่านคำนวณและทำนายวันเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคา ที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ และเชิญเซอร์แอริอ็อด เจ้าเมืองอังกฤษที่สิงคโปร์  เชิญฑูตจาประเทศต่างๆ ไปร่วมเป็นสักขีพยาน 
  • นักประวัติศาสตร์มองว่า  ร.๔ ทรงอยากจะบอกว่า คนไทยไม่ใช่คนโง่ ถ้ามีโอกาสอย่างพระองค์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่นเดียวกับที่ฝรั่งทำ 
  • ร.๔ ทรงติดไข้มาลาเรีย ท่านทรงฝากให้ ร.๕ ทำต่อ  เริ่มรับวัฒธรรมฝรั่งมามากขึ้น

  • หัวลำโพง ลอกแบบ King Cross Station ที่อังกฤษมาทั้งหมด

  • ถนนราชดำเนิน ได้แบบมาจาก ถนนชองค์ซาทิเซ ฝรั่งเศส



  • พระบรมรูปทรงม้า ได้ดัดแปรงแบบมาจากอังกฤษ อิตาลี
  • ปฏิวัติไม่สำเร็จ จึงกลายเป็นกบฏ 
  • ปฏิบัติสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๕
  • สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยกเลิกวัฒนธรรมไทย ให้ทำเป็นสากลหมด 
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการใช้อำนาจของจอมพล ป.
  • ปัจจุบัน คนไทยอยากเป็นเกาหลี อยากเป็นญี่ปุ่น 
 
  • คนไทยปรับตัวเก่ง คนไทยเป็นนักผสมผสาน 
  • ชาวฝรั่งเศสบอกว่า  "คนไทยเปรียบเหมือนสีของน้ำในแม่น้ำ เมื่อไหลผ่านบริเวณท้องฟ้าที่มีสีฟ้า น้ำจะมีสีฟ้า และถ้าไหลผ่านท้องฟ้ามีเมฆครึ้ม ท้องฟ้าจะมีสีหม่นครึ้มไปด้วย" 
  • หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยเป็นผู้ชนะสงครามในสายตาอเมริกัน แต่เป็นผู้แพ้สงครามในสายตาของฝรั่งเศสและอังกฤษ
  • จุดประสงค์ของไพร่ คือเพื่อควบคุมและเกณฑ์แรงงานคน เนื่องจากต้องทำสงครามอยู่เสมอ จึงต้องหาทางคุมคนและเรียกคนให้เร็ว



  • การพึ่งนาย กลายมาเป็น "เส้นสาย" เล่นพรรคเล่นพวก


  • จอมพล ป. ทำตรงกันข้ามกับกษัตริย์ทำ  เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ  ก็ทำตรงข้ามกับจอมพล ป. คือทำการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์  
  • ในหลวงทรงรื้อฟื้นความเป็นไทย โดยเฉพาะ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 






  • ข้าวผัดอเมริกัน กล้วยแขก ขนมจีน ซุกี้ยากี้ รอดช่องสิงคโปร์ เหล่านี้ ไม่มีในต่างประเทศ 
  • อาหารที่อร่อยที่สุดในโลกคือ อาหารไทย