วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถอดบทเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (๔) : ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม

ตัวอย่างที่ดีที่สุด (Best Practice, BP) ด้านความต่อเนื่องของการศึกษาและพัฒนาชุมชนในบริบทของรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ควรยกย่องให้กับการทำงานของทีมอาจารย์ผู้สอนจากคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ณ ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของสาขาวิชามาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ทำอย่างต่อเนื่องถึง ๓ ปีการศึกษา

การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และศึกษาชุมชนให้นิสิตจำนวนต่อรุ่นละกว่า ๗๐๐ คน ให้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ของชุมชน ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ถือเป็นงานที่ "หนัก" และ "หิน" มากๆ กระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนามาจนถึงรูปแบบที่ใช้กันอยู่ จึงถือเป็นความสำเร็จสำคัญหนึ่งของรายวิชาฯ และโดยเฉพาะเมื่อผลงานและผลการเรียนรู้ของนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ได้รับรางวัลและคัดเลือกให้เป็นต้นแบบหนึ่งให้นิสิตรุ่นน้องๆ ได้ศึกษาและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมและความเชื่อมโยงระหว่างงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ่านโครงการ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ซึ่งอาจารย์วรรณา คำปวนบุตร หัวหน้าทีมอาจารย์ผู้สอนของคณะฯ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยด้วย  จึงควรจะทำความรู้จัก "ปัญหา" และ "ปัญญา" ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ และทราบถึงความเป็นมาและแนวคิดในการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเข้ากับงานดังกล่าว

๑) ทำไมจึงไปเรียนรู้ที่ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้

ทำไมคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม จึงเลือกชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ... เข้าใจว่า

  • เพราะขณะนี้ทีมคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกำลังร่วมมือกันทำการวิจัยและพัฒนา (แบบมุ่งเป้า) ที่จะสร้างชุมชนต้นแบบขึ้นที่ชุมชนตำบลบ้านเหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ภายใต้ชุดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน โดยมีหลักสูตรหรือคณะ-วิทยาลัยต่างๆ ลงพื้นที่ทำงานกันอย่างบูรณาการ (สหวิทยาการ) 
  • จากการสืบค้นพบว่า มหาวิทยลัยมหาสารคาม กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการวิจัยและบริการวิชาการเชิงพื้นที่ (Area-based) ไปที่ ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ เพราะ
    • พื้นที่ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ มีอาณาเขตส่วนหนึ่งคลุมเข้าไปในพื้นที่ "ป่าโคกข่าว" ซึ่งเป็นป่าชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ครอบคลุมถึง ๓ ตำบล  (อ่านเรื่องป่าโคกข่าวได้ที่นี่)
    • ข้อมูลที่แสดงทางเว็บไซต์ของ อบต.เหล่าดอกไม้  และสืบค้นข้อมูลการทำงานของ อบต. จะพบว่า ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ มีผู้นำที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับป่าชุมชน และมีกิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น มีความร่วมมือกับ ปตท. ร่วมกันอนุรักษ์ป่าโคกข่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน 
    • ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ มีความประสงค์จะพัฒนาให้พื้นที่ป่าโคกข่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 
ด้วยเหตุนี้จึงตรงกับธรรมชาติสาขาของคณะการท่องเที่ยวโดยตรง คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมจึง เป็นเป็นหนึ่งในทีมวิจัยมุ่งเป้าที่เข้าไปศึกษาและพัฒนาพื้นที่ป่าโคกข่าว ร่วมมือกับชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้  เปิดพื้นที่และโอกาสให้นิสิตไปเรียนรู้ในพื้นที่  .... ดังจะได้เล่าต่อไป

๒) โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ณ ชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ 

จากการสืบค้นข้อมูลทุติยภูมิทางอินเตอร์เน็ต พบคลิปที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ที่เกี่ยวข้องกับงานบริการวิชาการของมหาวิยาลัย มี ๓ คลิปที่น่าสนใจ และท่านจะเข้าใจไม่ยากเลย




ในคลิปนี้ บอกว่า

  • ป่าโคกข่าว ซึ่งมีเนื้อที่ถึง ๕,๓๘๗ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๓ ตำบล ๙ หมู่บ้าน ของ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม เป็นผืนป่าเบญจพรรณที่ใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ในขณะนี้  และมีเอกลักษณ์จากลักษณะของดินลูกรังสีแดงสด ตัดกับสีเขียวสดของใบไม้ (หน้าฝน) ทำให้ดูสวยงามยิ่ง
  • ป่าโคกข่าว ทำให้พื้นที่รอบๆ มีความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น เย็นสบาย เป็นแหล่งอาหารป่า ชาวบ้านจะเข้าไปหาเห็ด พืชผัก ไข่มดแดง ฯลฯ 
  • "ปัญหา" คือ มีการบุกรุกทำลายป่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ไม่ทราบว่าป่าโคกข่าวสำคัญมาก) เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ได้รับการสืบทอด มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่พอรู้ว่า การอยู่กินกับป่านั้นสำคัญยิ่ง 
  • สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะไปช่วยขับเคลื่อน คือ 
    • จัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ 
    • จัดทำระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลองค์ความรู้และภูมิปัญญา
    • ส่งเสริมและพัฒนาให้พื้นที่ชุมชนบ้านเหล่าดอกไม้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสร้างมัคคุเทสก์ชุมชน 
อีกคลิปหนึ่งเป็นฝึมือของนักเรียนโรงเรียนชื่นชมพิทยาคาร ภาพสวยมาก และจะทำให้ท่านรู้จัก "ป่าโคกข่าว" มากขึ้น 


ส่วนอีกคลิป เป็นภาพบรรยายกาศการทำงานของทีมวิจัยและบริการวิชาการแบบมุ่งเป้าเชิงพื้นที่ (Area Based) ... เพลงเพราะมาก


นอกจากนี้แล้ว โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในปีล่าสุด มหาวิทยาลัยได้เข้าไปศึกษาและพัฒนาชุมชนผู้สูงวัยในชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ ... ชมคลิปนี้ครับ 



๓) ผลงานและผลการเรียนรู้จากรายวิชาฯ ปีการศึกษา ๒-๒๕๕๙

จุดเด่นของการจัดการเรียนรู้รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะการท่องเที่ยวฯ คือ ความเข้มงวดกับการเข้ามีส่วนร่วมของนิสิตอยากเข้มข้น ตรวจสอบอย่างละเอียด นิสิตที่ไม่เข้าเรียนรู้ครบถ้วนร้อยละ ๘๐ จะไม่มีสิทธิผ่านตามระเบียบ ความจริงจังและใส่ใจมากๆ ของอาจารย์วรรณาและทีม ทำให้เราเห็นถึงความพร้อมเพียงและคึกคักในบู๊ตนิทรรศการของคณะเสมอ  และการเน้นย้ำให้นิสิตต้องลงมือทำด้วยตนเอง ฝึกด้วยตนเอง ฝึกความรับผิดชอบต่องานเต็มที่ ทำให้ดีที่สุดและทันเวลา .... ตรงนี้ทำให้ผมเองโดยส่วนตัวนับถือและศรัทธาท่านมาก

เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของนิสิต ขอนำเสนอภาพผลงานและผลการเรียนรู้เก่า ที่เก็บไว้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ดังนี้


  • การแสดงเดินแบบ แฟชั่นชุดไทยร่วมสมัย ที่ใช้ผ้าที่ผลิตจากชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้ 


  •  ภาพนี้เป็นโคลสอัพหน้าต่างโมเดลจำลอง "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ของชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้  


  • จะเห็นเล้าไก่ ที่คณะเทคโนโลยีใช้เป็นกุศโลบายให้ผู้สูงวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกันและผ่อนคลาย สนุก มีความสุขมากขึ้น 


  • นิสิตนำเสนอเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับผ้าพื้นบ้าน  


  •  โมเดลจำลองป่าโคกข่าว


  • ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา และสิ่งที่นิสิตลองทำนำมาใช้เอง 


๔) ผลงานและผลการเรียนรู้จากรายวิชาฯ ปีการศึกษา ๒-๒๕๖๐

ปีการศึกษา ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คณะการท่องเที่ยวฯ นำผลงานการศึกษาและพัฒนาชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้นำเสนออีกครั้ง  .. ขอเล่าด้วยภาพต่อไปนี้


  •  รถนำเที่ยวป่าโคกข่าว


  •  แปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน


  •  หนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับชุมชนตำบลเหล่าดอกไม้


  •  หอระวังไฟป่า


  •  นิสิตด้านที่อยู่ด้านหลังบู๊ตทั้งหมด คือทีมงานของคณะฯ 


  •  พิพิธภัณฑ์แหล่งการเรียนรู้ป่าโคกข่าว


  •  โมเดลแสดงภายในศูนย์การเรียนรู้ป่าโคกข่าว



  • มีแบบจำลอง ๓ มิติ แสดงพื้นที่ป่าโคกข่าว 


๕) รูปแบบการศึกษาชุมชนของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม


รูปแบบการศึกษาชุมชนที่ทีมอาจารย์ผู้สอนออกแบบขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนนิสิตที่มากถึง ๗๐๐ คน และงบประมาณที่จำกัด  แสดงดังรูป


แนวปฏิบัติที่ดี ที่น่าสนใจ

  • แม้ว่าจะมีนิสิตจำนวนมาก แต่จำนวนสมาชิกของกลุ่มย่อยไม่มากเกินไป (๒๐-๒๕ คนต่อกลุ่ม) ทำให้นิสิตทุกคนยังคงมีส่วนร่วมทำงานกลุ่ม 
  • การกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้เป็นพื้นที่เดิม และบูรณาการกับโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ทำให้มีองค์ความรู้เดิมต่างๆ ให้นิสิตรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เข้าใจว่าปีการศึกษาต่อไป คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมยังจะกำหนดเป้าหมายเป็นพื้นที่เดิม คงได้ถอดบทเรียนต่อจากบันทึกนี้อีก 

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถอดบทเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (๓) : บริการวิชาการสู่สังคม ณ บ้านแหย่ง ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ผลงานและผลการเรียนรู้ของนิสิต อันแสดงถึงความสำเร็จยิ่งของสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๐ เกิดขึ้นที่ชุมชนบ้านแหย่ง หมู่ที่ ๙ และหมู่ที่ ๒๕ ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ... โดยภาพรวมของการประกวดในงานมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ของรายวิชาฯ กรรมการตัดสินบอกว่า ผลงานนี้ควรได้รับการยกย่องว่า Best Pactice (BP)  หลายๆ ด้าน ให้นิสิตรุ่นถัดๆ ไปได้นำไปศึกษา และได้มอบรับรางวัลรองชนะเลิสอันดับ ๑ ถึง ๒ ด้าน คือด้านคุณภาพงาน และการบูรณาการองค์ความรู้ในหลักสูตรไปใช้  และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ด้านคือ ด้านกระบวนการทำงาน และด้านความคิดสร้างสรรค์

๑) เวทีนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ระดับคณะ

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานนำเสนอผลงานและคืนข้อมูลสุ่ชุมชน ในโครงการบริการวิชาการสู่สังคม (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) ของคณะพยายบาลศาสตร์ ในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๑ ณ ชุมชนบ้านแหย่ง จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับความสำเร็จดังกล่าวโดยตรง ได้สัมภาษณ์และสนทนากลุ่มกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้แก่แม่เฒ่าที่ได้มาร่วมงาน นานพอสมควร และเมื่อนำข้อสะท้อนผลมาถามนิสิตและอาจารย์ จึงได้ทราบเรื่องราว เหตุผล กลยุทธ์และกระบวนการทำงานของนิสิตพอสมควร ... จึงขอนำเสนอผลงานนี้ด้วยการเล่าเรื่อง (Story Telling) พอสังเขป ดังนี้


คณะพยาบาลศาสตร์ให้ความสำคัญกับโครงการนี้มาก และบูรณาการทั้งบุคลากร พันธกิจด้านพัฒนาจิตอาสาของนิสิต โรงเรียนผู้สูงอายุ และให้การสนับสนุนงบประมาณจัดงานนี้ร่วมด้วย คณบดีท่านมาเปิดงานด้วยตนเองนอกพื้นที่มหาวิยาลัย (ในหมู่บ้านเล็กๆ) แสดงว่างานนี้มีความสำคัญต่อใจของท่านเช่นกัน

ในงานมีชาวบ้านและผู้นำชุมชนมาร่วมงานจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาต่างๆ ในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะสำหรับโครงการครั้งนี้ที่บูรณาการกับโรงเรียนผู้สูงอายุของคณะพยาบาล (ซึ่งประสบผลสำเร็จมาก ติดตามได้ที่นี่ครับ) ... ขอเล่าด้วยภาพ









๒) กระบวนการศึกษาชุมชน  (กลุ่มเล็กในกลุ่มใหญ่ อีกโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง)

กระบวนการศึกษาชุมชนของคณะพยาบาลศาสตร์ สามารถสังเคราะห์ได้เป็น ๗ ขั้นตอน แสดงดังชาร์ทด้านล่างนี้ครับ



ขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อย เพื่อให้เห็นจุดเด่น และจุดต่างจากแผนการเรียนรู้ส่วนกลาง ดังนี้

  • กระบวนการทั้งหมดแบ่งได้เป็น ๗ ขั้นตอน ได้แก่
    • กำหนดหัวเรื่องหลัก 
    • ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาชุมชน
    • วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้และเขียนโครงการ
    • ลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์
    • จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ 
    • ลงพื้นที่ดำเนินการตามแผน
    • จัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน 
  • เนื่องจากนิสิตยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือและวิธีการศึกษาชุมชน จึงใช้เครื่องมือมาตรฐาน ที่อาจารย์ได้พัฒนาขึ้นใช้ในการทำโครงการวิจัยหรือโครงการบริการวิชาการของคณะฯ  ได้แก่ 
    • แบบสอบถาม 
    • แบบสัมภาษณ์ 
    • แบบสังเกต 
    • ฯลฯ
  • เป็นการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะกระบวนการจากประสบการณ์การทำงานบริการวิชาการของคณาจารย์ที่ทำโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (โรงเรียนผู้สูงอายุ) ดังนั้น จึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่เหมาะสมต่อการเดินทางลงพื้นที่ของนิสิต และเลือกช่วงอายุของกลุ่มเป้าหมายให้เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของโรงเรียนผู้สูงอายุ ... นี่เป็นจุดเด่นที่สุดจุดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้คณะวิชาอื่นๆ ได้หาทางบูรณาการตามนโยบายของรายวิชาเช่นนี้ 
  • มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อยืนยันความต้องการของชุมชนและสื่อสารทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายและผู้นำชุมชน เพื่อให้การดำเนินงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพ 
  • นิสิตรายบุคคลได้เรียนรู้และฝึกฝนการศึกษาชุมชนด้วยตนเอง ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ จึงทำให้นิสิตทุกคนได้รับประสบการณ์การศึกษาชุมชน ... ตรงตามเจตนารมณ์ของรายวิชาอย่างยิ่ง
  • มีการจัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้  ก้าวไปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ต่อไป  ซึ่งเป็นแนวทางที่สำนักศึกษาทั่วไปจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในทุกสาขาทุกคณะในภาคการศึกษาถัดไป  

๓) เกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ต่อชุมชน (ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายมีเจตคติที่ดีต่อมหาวิทยาลัยมาก)

จากที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานคืนข้อมูลสู่ชุมชน ได้พบและสนทนากับปู่ย่าตายายหลายคน ล้วนแล้วแต่ประทับใจในการมาบริการวิชาการของนิสิตเป็นอย่างยิ่ง บางคนถึงกับน้ำตาไหลเมื่อต้องเล่าถึงสภาพก่อนที่นิสิตจะเข้ามา ผู้ป่วยติดเตียงคนหนึ่งที่ไม่แม้แต่แขนขาก็ขยับไปมาไม่สะดวก เมื่อนิสิตมาช่วยทำกายภาพบำบัด และมาพูดคุยสนทนาด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ท่านสามารถมาร่วมงานได้ และขยับแขนขาได้อย่างสะดวก

นิสิตแบ่งเป็นทั้งหมด ๖ กลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มย่อยเลือกปัญหาต่างกัน ตามสภาพและลักษณะปัญหาของผู้สูงอายุ  ... ขอเล่าเรื่องประกอบภาพ ดังนี้



  • กลุ่มหนึ่ง สู้กับปัญหาอาหารไม่อร่อย ซึ่งทำให้ผู้สูงวัยต้องใช้ผงชูรสปริมาณมาก เพื่อลดปริมาณผงชูรส จึงทดลองและพัฒนา "ผงนัว" ขึ้นมาใช้แทน ...  ผมชิมแล้ว อร่อยจริง 


  •  หน้าตาผงนัว


  • ใส่ได้ทุกเมนู ... อยู่ในรูปนี้คือแกงเห็ด


  •  น้ำพริกปลาสด


  •  ยำสมุนไพร



  • วุ้นใบเตย


  • กลุ่มนี้เลือกปัญหา ช่วยชะลอโรคข้อ ข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากพบว่า ผู้สูงวัยมีปัญหาด้านนี้มาก จึงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากวัสดุพื้นบ้านอย่างผ้าขาวม้า มาสอนให้ผู้สูงวัยใช้ออกกำลังกายในรูปแบบวิธีการที่ถูกต้อง 


  • ... เห็นนิสิตคุยกับผู้สูงวัย ... รู้สึกภูมิใจมากๆ ที่ได้มีส่วนร่วม



  • อีกกลุ่มหนึ่ง ช่วยทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อส่งเสริมการผ่อนคลายและการนอนหลับ  อ่านแล้วท่านคงรู้ทันทีว่า ปัญหาคือ ท่านนอนไม่หลับ ท่านเครียด  
  • ไม่มีใครสามารถบังคับร่างกายตนเองให้หลับได้ สิ่งที่ทำได้ก็แค่ผ่อนคลาย แล้วปล่อยให้มันหลับเอง ปัญหาคือ ท่านไม่ผ่อนคลาย จึงเกิดแนวคิดการหาทางทำให้ท่านผ่อนคลาย และวัสดุที่มีและหาง่ายก็คือสมุนไพรในหมู่บ้านนั่นเอง 


  • เท้าและฝ่าเท้า คือจุดที่ทำให้คนเราผ่อนคลายได้ง่ายสุด  ... จึงมีธุรกิจสปาร์บาทาทั่วโลก  ... คิดถึงพ่อและแม่ที่ได้เคยล้างเท้าให้ท่านแบบนี้  ทุกครั้งที่ทำ เราจะรู้สึกดี ... จิตอาสาน่าจะพัฒนามาจากความรู้สึกดี มีความสุขที่ได้ให้แบบนั้น 


  • ท่านคณบดี กำลังทดสอบกลิ่นสมุนไพร ที่ใช้ให้ผ่อนคลายเมื่อได้รับกลิ่นหอมเย็น 


  • กลุ่มนี้พบ "ปัญญา" ของชุมชน เรื่องการทำน้ำพริกปลาป่น จึงนำมาแนวคิดนี้มาพัฒนาและต่อยอด ทำผลิตภัณฑ์บรรจุสวยงาม ... ผมได้รับมาทานที่บ้านนานนับเดือน ขอบคุณอีกครั้งครับ 
  • หน้าตาผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาป่นบ้านแหย่ง 
  • รูปแบบนี้คือน้ำพริกปลาป่นพร้อมเสริฟ


  • อีกกลุ่มหนึ่ง มุ่งไปที่การ "เดินเหินปลอดภัย ผู้สูงวัยไม่หกล้ม"  โดยใช้หนังยางมาถัก มัดกับท่อพีวีซี ทำเป็นที่จับหรือที่เหยียบ แล้วพาผู้สูงวัยใช้ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกวิธี 



ขอจบเท่านี้ครับ .... ภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ขึ้นเรื่อยๆ ครับ 

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถอดบทเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (๒) : อัศจรรย์ชุมชนริมน้ำชี ของดีบ้านเกิ้ง หลักสูตรเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มมส.

ผมและทีมน้องๆ ตั้งใจว่า จะขับเคลื่อน รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนให้เต็มที่ เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษานี้เป็นต้นไป  วิธีที่ดีที่สุดคือนำเอาความสำเร็จที่ผ่านมา มาขยายกระจายบอกต่อ วันนี้ขอเริ่มด้วยผลงาน "อัศจรรย์ชุมชนชุมชนริมน้ำชี ของดีบ้านเกิ้ง" ผลงานชนะเลิศอันดับ ๑ ในงานมหากรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้รายวิชาฯ ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๐  ... เชิญชมผลงานลูกหลานนิสิต ชั้นปี ๒ สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ...เชิญครับ


๑) "ปัญหา" และ "ปัญญา" ของชุมชนบ้านเกิ้ง

ผลงาน "อัศจรรย์ชุมชนริมน้ำชี ของดีบ้านเกิ้ง" เป็นชิ้นงานสำคัญหนึ่งของรายวิชาฯ อันเป็นผลมาจากการลงพื้นที่เรียนรู้ ยกย่อง ชื่นชม "ปัญญาของชุมชน" เพื่อขยายบอกต่อให้คนในชุมชนและสังคมรู้ว่า ชุมชนบ้านเกิ้งมีของดี โดยใช้ความสามารถด้านการสร้างสื่อการเรียนรู้มาใช้ในการสร้างชิ้นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านเกิ้ง และอำเภอเมืองมหาสารคาม

๒) Best Practice (BP)

กรรมการผู้ตัดสินบอกว่า ผลงานชิ้นนี้ ถือเป็น BP หลายๆ ด้าน ดังจะบรรยายพอสังเขปดังนี้

๒.๑) กระบวนการทำงานดีเด่น 

การทำงานของทีมนี้ ถือเป็นต้นแบบหนึ่งในการนำวงจร PDCA (วงจรคุณภาพของเดมลิง Demling Cycle) ไปใช้ในการศึกษาชุมชน  ดังนี้

  • Plan (วางแผน)
    • ประชุมนิสิตเพื่อวางแผนก่อนการดำเนินงาน 
      • กำหนดชุมชมที่ต้องการลงพื้นที่สำรวจ
      • กำหนดเป็นตำบลเกิ้ง 
    • ลงพื้นที่ศึกษาชุมชน 
      • ศึกษาปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในตำบล
      • ศึกษาบริบท วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน 
    • การประชุมติดตามผลและวางแผนการดำเนินงาน 
      • นำข้อมูลปัญหาและความต้องการมาศึกษา วิเคราะห์ และสื่อสารให้ทุกคนทราบ 
    • เขียนโครงการเพื่อเสนอขอรับการพิจารณาอนุมัติจากสาขาวิชา
  • สิ่งที่ได้ในขั้นตอน Plan คือ ข้อมูลการดำเนินงานในโครงการ กล่าวคือ
    • การสร้างเพจประชาสัมพันธ์ของดีตำบลเกิ้ง ได้แก่ 
      • สถานที่ท่องเที่ยว 
      • ผลิตภัณฑ์จากชุมชน 
      • ร้านอาหาร
      • มหาวิทยาลัยชีวิต
      • ประวัติความเป็นมาของตำบลเกิ้ง
    • วัตถุประสงค์โครงการ 
    • ผลที่ได้รับจากการทำโครงการ
    • การแบ่งงานในการดำเนินโครงการ  โดยแบ่งการทำงานออกเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ 
      • กลุ่มที่ ๑ บอกเล่าข้อมูลทั่วไป และแนะนำมหาวิทยาลัยชีวิต 
      • กลุ่มที่ ๒ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลเกิ้ง 
      • กลุ่มที่ ๓ แนะนำร้านอาหารในตำบลเกิ้ง
      • กลุ่มที่ ๔ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากตำบลเกิ้ง 
      • กลุ่มที่ ๕ หนังสั้นแนะนำตำบลเกิ้ง 
  • Do (ลงมือทำ) สิ่งที่ได้ในขั้นตอน Do 
    • ลงพื้นที่เก็บข้อมูล (ครั้งที่ ๒) 
    • ประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินการ ทั้ง ๕ กลุ่มย่อย
    • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์  แต่ละกลุ่มย่อย สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ที่วางไว้ ดังนี้ 
      • กลุ่มที่ ๑ ทำอเนิเมชั่นกราฟฟิค และ MEMEs (หมายถึง สื่อที่ส่งต่อกันคนต่อคนไปเรื่อยๆ เช่น ข้อความ วีดีโอ ภาพ ฯลฯ) บอกเล่าข้อมูลทั่วไปตำบลเกิ้ง และวิดีโอแนะนำมหาวิทยาลัยชีวิต 
      • กลุ่มที่ ๒  ทำวีดีโอและ MEMEs แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลเกิ้ง 
      • กลุ่มที่ ๓ วีดีโอแนะนำร้านอาหารในตำบลเกิ้ง 
      • กลุ่มที่ ๔ ออกแบบโลโก้และสื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ตำบลเกิ้ง 
      • กลุ่มที่ ๕ หนังสั้นแนะนำตำบลเกิ้ง
    • ลงพื้นที่ชุมชน (ครั้งที่ ๓) เพื่อนำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนลองชม และแก้ไขตามคำแนะนำ
    • นำเสื่อประชาสัมพันธ์ลงเพจ "อัศจรรย์ชุมชนริมน้ำชี ของดีตำบลเกิ้ง
    • ส่งมอบเพจให้องค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้งเป็นผู้ดูแล
  • Check (ตรวจสอบงาน) ตรวจสอบงานตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไวั ได้แก่ 
    • เพื่อนำความรู้ในสาขาวิชาไปทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน 
    • นิสิตได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของชุมชน ได้รับประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชน 
    • นิสิตได้ทำงานร่วมกัน มีความสามัคคีกัน
    • ประชาสัมพันธ์ของดีตำบลเกิ้งให้เป็นที่รู้จัก
  • Act (การปรับปรุง แก้ไข) หลังจากได้ตรวจสอบผลการดำเนินงาน ชิ้นงาน และได้รับข้อเสนอแนะต่างๆ แล้ว ได้ทำการปรับปรุงแก้ไข เช่น การปรับปรุงแก้ไขรูปแบบโลโก้โครงการ เป็นต้น 
๒.๒) คุณภาพผลงานดีเด่น

ผลงานทุกกลุ่มการทำงาน (กลุ่มย่อย) ได้รวบรวมไว้ในเพจ "อัศจรรย์ชุมชนริมน้ำชี ของดีบ้านเกิ้ง" ซึ่งทำการเปิดเพจและส่งมอบให้แก่ อบต.เกิ้ง วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๑ ได้แก่

  • Motion Graphics ประวัติความเป็นมาของบ้านเกิ้ง  ... (เชิญรับชมที่นี่)
  • MEME ข้อมูลทั่วไปของบ้านเกิ้ง 
    • วีดีโอแนะนำมหาวิทยาลัยชีวิต (เชิญชมที่นี่)
  • MEME สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในตำบลเกิ้ง (เชิญชมตัวอย่างที่นี่)
    • วัดป่าวังน้ำเย็น
    • วัดป่าเกาะเกิ้ง
    • วัดวังยาววารี
    • สถาบัญวิจัยวลัยรุกขเวช
    • วังมัจฉา

  • MEME และวีดีโอแนะนำร้านอาหารในตำบลเกิ้ง (คลิกที่นี่)
  • ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ตำบลเกิ้ง ด้วยการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์และโปรโมทในเพจ (เช่นที่นี่)





เพจเฟส "อัศจรรย์ชุมชนริมน้ำชี ของดีตำบลเกิ้ง" จึงเป็นแหล่งประตูทางเข้าของคนรุ่นใหม่ที่เกือบทั้งหมดใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตค้นหา และที่สำคัญคือ เป็นช่องทางการค้าขายผลิตภัณฑ์ของดี สามารถสั่งซื้อของทางอินเตอร์เน็ตตามที่อยู่ที่แสดงไว้อย่างชัดเจน เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน อย่างน่าสนใจ

๒.๓) การมีส่วนร่วมดีเด่น 

การมีส่วนร่วมในที่นี้ หมายรวมทั้ง ๒ มุมมอง คือ การมีส่วนร่วมของนิสิตทุกคนในสาขา ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานดังกล่าวเหล่าข้างต้นนั้น ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านคลิปวีดีโอนำเสนอผลงาน และที่สำคัญที่สุด คือการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตและชุมชน แนวปฏิบัติที่ดีที่ควรทำตาม ได้แก่  
  • ลงพื้นที่ฯ อย่างเป็นระบบ ทั้ง สำรวจเบื้องต้น สำรวจและเก็บข้อมูล คืนข้อมูลเพื่อวิพากษ์ และส่งมอบข้อมูลและผลงานต่อชุมชน 
  • ทำงานร่วมกับ อบต.บ้านเกิ้ง โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการและต่อเนื่อง จนได้ข้อมูลที่ละเอียด ถูกต้อง และเป็นระบบ  นิสิตได้เรียนรู้ชุมชนได้ชิ้นงาน เรียกได้ว่า ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย 
  • มีการสำรวจความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน เจ้าของชุมชน ได้สะท้อนความเห็นและความพึงพอใจ รวมถึงได้เสนอขอแก้ไขปรับแก้ผลงาน จนเป็นที่พึงพอใจมาก โดยเฉพาะโลโก้โปรโมทผลิตภัณฑ์ 
  • ฯลฯ
๒.๔) ประโยชน์ต่อชุมชนดีเด่น

ปัจจุบันเพจ "อัศจรรย์ชุมชนริมน้ำชี ของดีตำบลเกิ้ง" ยังเป็นช่องทางสำคัญยิ่ง ที่ทำให้ตำบลเกิ้งเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ   แม้จะยังไม่ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบจากผลงานดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาจำนวนคนที่เข้าชมสื่อและ MEME ต่างๆ จากเพจ จะพบว่า มีผู้เข้าชมเรื่อยๆ



ผมรู้สึกมีพลังมากๆ หลังจากที่เขียนบันทึกมาถึงตรงนี้ ... พบกับบันทึกต่อไป เร็วๆ นี้ครับ

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถอดบทเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (๑) : ภาพรวมการจัดการเรียนรู้ของรายวิชา ๓ ปีการศึกษาที่ผ่านมา และ "LO ด้านความรู้ที่อยากให้อยู่ในใจนิสิต"

ผมกำลังเขียนหนังสือ Pocket Book เล่มหนึ่ง (ยังไม่ตั้งชื่อ) อยากให้ผู้อ่านรู้และเห็นประสบการณ์งานขับเคลื่อนอุดมการณ์ "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ผ่านรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ผมเขียนส่วนแรกน่าจะเสร็จแล้ว เอามาเผยแพร่เผื่อท่านผู้อ่านสนใจ จะได้รับประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไปครับ คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ