วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๔ : ปฏิรูปวิธีคิดด้วย "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

วิชา "๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) จะเป็นกลไกสำคัญของการปฏิรูป "วิธีคิด" หรือ "Mind Set" หรือแม้แต่ "กระบวนทัศน์" หรือ 'Paradigm" ของนิสิตและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น "หลักคิด" คิดว่าจะทำอะไรก็ต้องพอเพียง

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ทั้งทางตรงและจากการอ่านที่ผ่านมา ผมพบว่า คนไทยทั่วไปไม่เข้าใจ (คือเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ ปศพพ. ใน ๕ ประเด็นใหญ่ได้แก่
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น บางท่านเข้าใจว่าหลักปรัชญาฯ ก็คือเกษตรทฤษฎีใหม่ 
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน การใช้จ่าย ประหยัด อดออม ใช้ของในพื้นที่หรือท้องถิ่น เข้าใจว่า "พอเพียง" คือ "เพียงพอ" ไม่ให้ดิ้นรนขวนขวาย ไม่ให้ขยายทรัพย์สินมากๆ
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของสังคมคนจน ที่ต้องอดทนทำใจ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ห้ามหรูหรา เข้าใจว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง 
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของความศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือเข้าใจว่าเหตุที่ต้องมาศึกษาแล้วนำมาปฏิบัติ เนื่องเพราะเป็นทฤษฎีของในหลวง เป็นการตอบแทนคุณหรือทำความดีถวายในหลวง ไม่เข้าใจในความห่วงใยต่อประโยชน์สุขของทุกคน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทรงพระราชทาน 
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว เอาไว้ใช้ในการทำงานหรือประกอบอาชีพ หรือเป็นเรื่องของหน่วยงานราชการ หรือเป็นหน้าที่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

หลังจากเรียนรายวิชานี้แล้ว นิสิตจะเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นั้นเป็นทั้ง "หลักคิด" และ "หลักปฏิบัติ" ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ทุกชนชาติ ทุกเวลา ทุกศาสนา ทุกอาชีพ ทั้งใช้ในกิจวัตรประจำวันหรือใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ โดยเข้าใจตรงกันว่า "จะคิดจะทำอะไรก็ต้องพอเพียง" 

ความจริงไม่ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ ก็สามารถมีความเข้าใจได้อย่างถูกต้องตามลำดับ หากทำความเข้าใจกับสไลด์ของ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา (ผอ.ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ) ด้านล่าง ดังนี้  แล้วนำไปฝึกฝนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกับตนเอง


  • ไม่ว่าจะคิดสิ่งใดจะทำอะไร ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคุณธรรมและความรู้
  • ทุกครั้งที่จะตัดสินใจ ให้ใช้หลักคิดพอเพียง ( ๓ ประการ) เสมอ คือต้องพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี 
  • โดยมีเป้าหมายว่าจะคิดจะทำอะไรนั้นก็ให้ยั่งยืน คือ สมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องให้พิจารณารอบด้านทั้ง ๔ มิติ  คือเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นผลดีไม่มีผลกระทบทั้ง ๔ มิติ ก็จะเกิดความสมดุลยั่งยืน

ปฏิรูปวิธีคิด

เมื่อเปรียบวิธีคิดตามหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" กับวิธีคิดของคนในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ที่ยอมรับกันดังนี้ว่า
  • คิดถึงประโยชน์ส่วนตนมาก่อนการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา คือ "มีความโลภมาก"
  • คิดแข่งขัน แก่งแย่ง คดโกง แบ่งแยก ดูถูก เหยียดหยาม ทะเลาะ เบียดเบียนกัน คือ "มีควมโกรธ เกลียด พยาบาท" 
  • คิดถึงแต่ความสุขชั่วคราว ความทันสมัย สะดวก สะบาย สวยใส ตามกระแสสังคม ตกเป็นทาสของสิ่งเย้ายวน "หลงมาก" 
หากเข้าใจและเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจาก
  • "ความพอประมาณ" จะจัดการกับ "ความโลภ"   เปลี่ยนจากการมุ่งกอบโกยสะสมเป็นการให้แบ่งปัน  จนเกิดการระเบิดจากภายในมี "จิตใจสาธารณะ" ที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน 
  • "ความมีเหตุผล" บนพื้นฐานความเป็นจริงและความถูกต้องตามเงื่อนไขคุณธรรม จะทำให้เปลี่ยนเป็นคนมีปัญญาแก้ปัญหาด้วยความรู้และความดี เกิดความรู้ รัก สามัคคี ทำให้มีชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข 
  • "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ทั้งภายในใจคือ สติ สมาธิ และภายนอกกับการนำไปใช้ในการวางแผน และการปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และตรวจสอบประเมินให้รู้ตน และพัฒนาอยู่เสมอ จะทำให้เกิดการวัฒนา เจริญรุ่งเรือง สมดุล ยั่งยืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 
โดยสรุปคือ วิชานี้จะทำให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม "มีปัญญาและเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ได้นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น