วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๑ : ปฏิรูปรายวิชาศึกษาทั่วไป ก้าวใหม่ของการพัฒนาคุณลักษณะี่พึงประสงค์จของบัณฑิต (๑)

ตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของรายวิชาศึกษาทั่วไป

สิ่งที่ทุกคนในสังคมไทยที่ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์หรือบุคลากรที่อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ต้องรวมถึงผู้ปกครอง ครู นักเรียนไทย ตลอดจนผู้ใช้บันฑิต ศิษย์เก่า ต้องเข้าใจตรงกันคือ ขณะนี้นิสิตนักศึกษาที่สอบผ่านเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทุกคน ทุกสาขา/หลักสูตร ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป และต้องสะสมให้ผ่านได้ทั้งหมดอย่างน้อย ๓๐ หน่วยกิต ไม่อย่างนั้นจะไม่สำเร็จเป็นบัณฑิตได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศไว้ตามกฎหมาย (ตามที่เคยเขียนไว้ที่นี่)

คำถามคือ ทำไม? คำตอบคือ เพราะว่าประเทศเราอยากได้กำลังคนที่เป็นพลเมืองดี หรือก็คืออยากได้บัณฑิตที่เป็น "คนดี" "คนที่สมบูรณ์"  นี่คือเป้าหมาย โดยเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทยได้ให้นิยามของ "หมวดวิชาศึกษาทั่วไป" ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยควรจะกำหนดไว้ให้ตรงกัน (เพราะเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใหญ่ผู้รู้ในเรื่องนี้ที่สุดในประเทศเรา) ว่า



หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรู้รอบ

รู้กว้าง เข้าใจ และเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก


หากคำนวณว่า ๑ หน่วยกิต คือ ๑ ชั่วโมง ๑ วิชามี ๒ หน่วยกิต คิดเป็น ๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นิสิตต้องเรียนอย่างน้อย ๑๕ สัปดาห์ ไม่นับเวลาสอบกลางภาคและปลายภาค นั่นหมายถึง นิสิตนักศึกษาจะเรียนแต่ละวิชาจำนวน ๓๐ ชั่วโมง ถ้ารวมทุกวิชา จะรวมเวลาที่นิสิตอยู่กับเราถึง ๙๐๐ ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้พัฒนา และฝึกฝนตนเอง ผ่านการจัดการเรียนรู้ บ่มเพาะ ปลูกฝัง ของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปให้พวกเขาเป็นคนที่สมบูรณ์ตามคำนิยามของการศึกษาทั่วไปข้างต้น

อย่างไรก็ดี วิธีคิดแยกส่วนแบบนี้ ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย ผลการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา สะท้อนว่าทั้งนิสิตและอาจารย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป ทั้งที่ความจริง หน่วยกิตจากรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบัณฑิตของแต่ละหลักสูตร ซึ่งคิดเป็นถึง ๑ ใน ๔ ของหน่วยกิตที่นิสิตต้องเรียนทั้งหมด ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคน ตระหนักและเห็นความสำคัญร่วมกันว่า ทุกคนมีหน้าที่ฝึกฝนบ่มเพาะให้ลูกศิษย์มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็แทบจะเป็นอันเดียวกันกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่ว่าอาจารย์จะรับผิดชอบสอบวิชาใด จะอยู่ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปหรือไม่ อาจารย์จะปรับใช้และบูรณาการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในการจัดการเรียนการสอนของตน และฝึกฝนความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้กับนิสิตนักศึกษาผ่านทุกวิชาทุกกิจกรรม ที่ออกแบบให้นิสิตได้เรียนได้ทำในแต่ละหลักสูตร

หากกระบวนทัศน์แบบ "องค์รวม" เกิดขึ้นจริง สำนักวิชาศึกษาทั่วไป จะเป็นเพียงผู้ประสานงานส่วนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกและจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนานิสิตทุกคนให้มีองค์ควมรู้ทั่วไปที่จำเป็น มีทักษะชีวิตที่จำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างผู้มีปัญญา เป็นที่พึ่งของสังคมได้ต่อไป

ผลการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป : อะไรคือคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

นำข้อนิยามของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป แยกออกเป็นองค์ประกอบได้ ๙ ประการ ดังรูป


ผมมั่นใจว่า หากพิจารณาอ่านแต่ละข้อให้ดี จะไม่มีใครบอกว่าที่เขียนกำหนดไว้เป็น "ผลการเรียนรู้" นี้ ไม่ดี ไม่เหมาะสม เพียงแต่ถ้ายังเห็นว่าไม่ครบถ้วน ไม่ถูกใจ ก็สามารถที่จะเสนอเปลี่ยนปรับแปลงได้ในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งถัดไป ....  ปัญหามีอยู่เพียงว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย จะเปิดใจยอมรับได้หรือไม่ว่า นี่คือเป้าหมายในการสร้างบันฑิตร่วมกันของเรา ...

เมื่อนำผลการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปทั้ง ๙ ข้อ มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับ เป้าหมายของการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาไทย (TQF)  ซึ่งกำหนดไว้ ๕ ด้าน ซึ่งอาจารย์ยุคใหม่ ที่ถูกกำหนดให้ "เขียนแผน" มคอ. ๓ ทุกคนทราบดี จะได้ดังรูป

 บันทึกต่อไปจะว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากหลักสูตร "เก่า" มา "ใหม่" ทำไมเรียกว่า "ปฏิรูป" ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น