วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๔ : ปฏิรูปวิธีคิดด้วย "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

วิชา "๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) จะเป็นกลไกสำคัญของการปฏิรูป "วิธีคิด" หรือ "Mind Set" หรือแม้แต่ "กระบวนทัศน์" หรือ 'Paradigm" ของนิสิตและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น "หลักคิด" คิดว่าจะทำอะไรก็ต้องพอเพียง

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ทั้งทางตรงและจากการอ่านที่ผ่านมา ผมพบว่า คนไทยทั่วไปไม่เข้าใจ (คือเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ ปศพพ. ใน ๕ ประเด็นใหญ่ได้แก่
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น บางท่านเข้าใจว่าหลักปรัชญาฯ ก็คือเกษตรทฤษฎีใหม่ 
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน การใช้จ่าย ประหยัด อดออม ใช้ของในพื้นที่หรือท้องถิ่น เข้าใจว่า "พอเพียง" คือ "เพียงพอ" ไม่ให้ดิ้นรนขวนขวาย ไม่ให้ขยายทรัพย์สินมากๆ
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของสังคมคนจน ที่ต้องอดทนทำใจ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ห้ามหรูหรา เข้าใจว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง 
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของความศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือเข้าใจว่าเหตุที่ต้องมาศึกษาแล้วนำมาปฏิบัติ เนื่องเพราะเป็นทฤษฎีของในหลวง เป็นการตอบแทนคุณหรือทำความดีถวายในหลวง ไม่เข้าใจในความห่วงใยต่อประโยชน์สุขของทุกคน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทรงพระราชทาน 
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว เอาไว้ใช้ในการทำงานหรือประกอบอาชีพ หรือเป็นเรื่องของหน่วยงานราชการ หรือเป็นหน้าที่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

หลังจากเรียนรายวิชานี้แล้ว นิสิตจะเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นั้นเป็นทั้ง "หลักคิด" และ "หลักปฏิบัติ" ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ทุกชนชาติ ทุกเวลา ทุกศาสนา ทุกอาชีพ ทั้งใช้ในกิจวัตรประจำวันหรือใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ โดยเข้าใจตรงกันว่า "จะคิดจะทำอะไรก็ต้องพอเพียง" 

ความจริงไม่ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ ก็สามารถมีความเข้าใจได้อย่างถูกต้องตามลำดับ หากทำความเข้าใจกับสไลด์ของ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา (ผอ.ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ) ด้านล่าง ดังนี้  แล้วนำไปฝึกฝนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกับตนเอง


  • ไม่ว่าจะคิดสิ่งใดจะทำอะไร ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคุณธรรมและความรู้
  • ทุกครั้งที่จะตัดสินใจ ให้ใช้หลักคิดพอเพียง ( ๓ ประการ) เสมอ คือต้องพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี 
  • โดยมีเป้าหมายว่าจะคิดจะทำอะไรนั้นก็ให้ยั่งยืน คือ สมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องให้พิจารณารอบด้านทั้ง ๔ มิติ  คือเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นผลดีไม่มีผลกระทบทั้ง ๔ มิติ ก็จะเกิดความสมดุลยั่งยืน

ปฏิรูปวิธีคิด

เมื่อเปรียบวิธีคิดตามหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" กับวิธีคิดของคนในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ที่ยอมรับกันดังนี้ว่า
  • คิดถึงประโยชน์ส่วนตนมาก่อนการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา คือ "มีความโลภมาก"
  • คิดแข่งขัน แก่งแย่ง คดโกง แบ่งแยก ดูถูก เหยียดหยาม ทะเลาะ เบียดเบียนกัน คือ "มีควมโกรธ เกลียด พยาบาท" 
  • คิดถึงแต่ความสุขชั่วคราว ความทันสมัย สะดวก สะบาย สวยใส ตามกระแสสังคม ตกเป็นทาสของสิ่งเย้ายวน "หลงมาก" 
หากเข้าใจและเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจาก
  • "ความพอประมาณ" จะจัดการกับ "ความโลภ"   เปลี่ยนจากการมุ่งกอบโกยสะสมเป็นการให้แบ่งปัน  จนเกิดการระเบิดจากภายในมี "จิตใจสาธารณะ" ที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน 
  • "ความมีเหตุผล" บนพื้นฐานความเป็นจริงและความถูกต้องตามเงื่อนไขคุณธรรม จะทำให้เปลี่ยนเป็นคนมีปัญญาแก้ปัญหาด้วยความรู้และความดี เกิดความรู้ รัก สามัคคี ทำให้มีชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข 
  • "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ทั้งภายในใจคือ สติ สมาธิ และภายนอกกับการนำไปใช้ในการวางแผน และการปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และตรวจสอบประเมินให้รู้ตน และพัฒนาอยู่เสมอ จะทำให้เกิดการวัฒนา เจริญรุ่งเรือง สมดุล ยั่งยืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 
โดยสรุปคือ วิชานี้จะทำให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม "มีปัญญาและเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ได้นั่นเอง

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๓ : ปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสู่ศตวรรษใหม่

บันทึกที่แล้ว ผมกล่าวถึง กระบวนทัศน์ของการปฏิรูปการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปใน ๓ ประการ ได้แก่ ๑) การมุ่งเอานิสิตเป็นตัวตั้ง ๒) การสร้างการเรียนรู้อย่างมีพลัง และ ๓) มุ่งปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม โดยดำเนินการผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทั่วถึง คล้ายคลึง และเสมอภาคกันสำหรับนิสิตทุกคน ด้วยโครงสร้างหลักสูตรใหม่แบบบูรณาการ ซึ่งหัวใจของความสำเร็จน่าจะอยู่ที่ "การบรูรณาคน" ในที่นี้คือความสามัคคีของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป

 ๕ รายวิชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) ครั้งนี้มีก้าวสำคัญคือการสร้าง ๕ รายวิชาใหม่เพื่อมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานจากภายใน และสอดคล้องกับศตวรรษใหม่ ได้แก่

      ๑) พัฒนาทักษะพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างมีประโยชน์สุข ด้วยวิชา "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ที่มุ่งปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ให้นิสิตคิดเป็นและเห็นตามเป็นจริง
      ๒) มุ่งสอนให้ "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น" ด้วยวิชา "จิตวิทยา" ที่เน้นกระบวนการสอนแบบ "จิตตปัญญา" เพื่อให้มีปัญญาเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานจากภายใน (ทั้งผู้เรียนและผู้สอน)  ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
      ๓) ฝึกทักษะการทำงานผ่านกระบวนการบริการวิชาการในรายวิชา "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ซึ่งนิสิตทุกคนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นประโยชน์ขององค์ความรู้จากศาสตร์สาขาวิชาของตน และได้รับการบ่มเพาะให้เป็นคนที่มีจิตอาสา เป็นผู้มีปัญญาเพื่อมหาชน เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชนต่อไป
      ๔) พัฒนานิสิตแกนนำเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของนิสิต ด้วยวิชา "ภาวะผู้นำ" ซึ่งการจัดการเรียนรู้บนฐานกิจกรรม (Activity-based Learning) ที่จะดำเนินการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอน ทำหน้าที่เป็น "กระบวนกร" (Facilitator) อำนวยการเรียนรู้
      ๕) ปฏิรูปกระบวนทัศน์ใหม่ให้นิสิต จากการเป็น "ผู้เสพ" ไปเป็น "ผู้สร้าง" จากผู้บริโภคไปเป็นผู้ผลิต ด้วยรายวิชา "นวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการใหม่"  .... ซึ่งต้องทำให้คณาจารย์ที่มีแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์มาร่วมกันพัฒนาวิชานี้

 ๕ วิธีการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้

นอกจาก ๕ รายวิชาใหม่ ยังมีการวางยุทธศาสตร์และแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ของนิสิตเป็นเป้าหมาย โดยการปรับกลไก ๕ ประการ ได้แก่
      ๑) ปรับปรุงวิธีสอนภาษาอังกฤษจากที่เน้นแกรมมาร์มาเป็นการฝึกพูดสื่อสารในชีวิต  โดยเปลี่ยนจาก ๒(๒-๐-๔) เป็น ๒(๑-๒-๓) คือปรับจากการ "เน้นวิชา" มาเป็น "เน้นทักษะ"  และสร้างกลไกให้ได้ฝึกอย่างทั่วถึง เช่น โครงการผู้ช่วยสอน (Teaching Assistance, TA) ลดจำนวนนิสิตต่อชั้นเรียน เพิ่มอาจารย์ชาวต่างชาติ เป็นต้น
      ๒) ปลูกฝังอุปนิสัย (สอนนิสัย) สร้างวินัย โดยใช้ "คะแนนจิตพิสัย"  เช่น โครงการสร้างเครือข่ายศึกษาทั่วไปกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมวินัยโดยใช้ "คะแนนจิตสาธารณะ" (อ่านที่นี่)  หรือ โครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์ (Lecturer Assistance, LA) เพื่อส่งเสริมวินัยด้านตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบในการเรียน (อ่านที่นี่) เป็นต้น
      ๓) ค้นหาต้นแบบอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เช่น เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกมาเป็นสอน และเชิญมาเป็นวิทยากรเพื่อพัฒนาอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป
      ๔) สร้างเครือข่ายอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งเอกสารหนังสือตำราในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป อย่างต่อเนื่อง
      ๕) สร้างระบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ หรือกระบวนการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของการเรียน ที่ครอบคลุมครบถ้วนทุกด้านตาม "ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง"


การบริหารหลักสูตร (คัดลอกจากบันทึกนี้)


การบริหารหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.๒๕๕๘) ที่เหมาะสมกับนิสิตในศตวรรษใหม่ ต้องไม่ใช่ "สอนวิชา" หรือเน้นเพียง "เนื้อหา" แต่ต้องเปลี่ยนมาสร้างค่านิยมร่วมในการ "สอนคน" "สอนชีวิต" และกำหนดเป้าหมายที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome) ด้านทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างแท้จริง (transformation) การจัดการเรียนรู้ควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการดังรูป (ปรับจากกรอบผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังและระบบสนับสนุน ที่นี่)



องค์ประกอบ ๓ ประการได้แก่ ๑) การพัฒนาอาจารย์และกระบวนการเรียนรู้ ๒) การสร้างสื่อ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบท และ ๓) มีการวิจัยและมีมาตรฐานการประเมินผล โดยมีระบบและกลไกสนับสนุนและการบริหารจัดการที่ดี และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝัง และฝึกฝนให้นิสิตเป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ที่มีองค์ความรู้ในตนที่จำเป็น มีสมรรถนะสำหรับศตวรรษใหม่ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร



ขอบจบแบบฮ้วนๆ อีกทีครับ บันทึกต่อไป มาว่ากันที่ละกลุ่มรายวิชาว่าเราปรารถนาอะไรบ้างครับ...

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๒ : ปฏิรูปรายวิชาศึกษาทั่วไป

กระบวนทัศน์ 

การปฏิรูปรายวิชาศึกษาทั่วไปด้วยหลักสูตรใหม่ ปี ๒๕๕๘ ไม่ใช่การกำหนด "ผลการเรียนรู้" ของหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไปขึ้นใหม่ (ตามนิยามของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป) เพราะผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตรใหม่ ไม่ได้แตกต่างไปจากของหลักสูตรเก่ามากนัก แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างรายวิชาใหม่ เพื่อเอื้อให้สามารถทำกิจกรรมหรือ "กระบวนการ" ที่จะนำมาสู่การปฏิรูปที่แท้จริงได้ นั่นก็คือ "การปรับวิธีเรียน ด้วยการเปลี่ยนวิธีสอน"  ภายใต้ "กระบวนทัศน์ใหม่" ของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ๓ ประการ ได้แก่ ๑) มุ่งนิสิตตัวตั้ง ๒) เรียนรู้อย่างมีพลัง ๓) ปลูกฝังอุดมการณ์ ดังสังเขป คือ...
  • มุ่งเอานิสิตเป็นตัวตั้ง คือ มุ่งเอาผลสัมฤทธิ์การเรียน (Learning Outcome) ที่เกิดขึ้นกับนิสิตเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด อาจารย์ผู้สอนทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่า การจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปนั้นมุ่ง "สอนคน" ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนดี (สอนนิสัย) มีความรู้กว้างขวาง (สอนความรู้) และสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างดี (สอนทักษะชีวิต)  .... วิธีการดำเนินการในข้อนี้คือต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการประเมิน จากการประเมินแบบ "ตัดสินได้-ตก" มาเป็น "การประเมินเพื่อมอบอำนาจ"
  • เรียนอย่างมีพลัง คือ ทั้งนิสิตและอาจารย์ควรต้อง "เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียน" .... วิธีการคือสร้างสิ่งแวดล้อมและกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้แบบตื่นตัว (Active Learning) ซึ่งอาจารย์ต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนหรือนำรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับธรรมชาติของรายวิชา มาพัฒนาการสอนของตนเองอย่างจริงจัง เช่น  
    • สำหรับวิชาที่มุ่งเน้นให้นิสิตมีความรู้รอบ รู้กว้างขวาง รู้เชื่อมโยง ควรต้องเชิญอาจารย์ที่ทั้ง "รู้รอบ" "รอบรู้" และเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดได้โดยพิสิดาร ให้นิสิตเห็นการเชื่อมโยงของศาสตร์หลายแขนง เข้าใจถึง "องค์รวม" ของสรรพสิ่งที่ถูกแบ่งแยกส่วนสาขาวิชาในปัจจุบัน 
    • สำหรับรายวิชาที่เน้นพัฒนา "ทักษะการคิด" อาจารย์เปลี่ยนมาเน้น "ตั้งคำถาม" และสร้างสถานการณ์ให้อภิปราย มากกว่าการ "บรรยาย บอก ให้ลอกส่ง"  และจัดให้มีการ "สะท้อนการเรียนรู้" (Learning Reflection) หรือทบทวนหลังเรียน (After Learning Review) หรือ ถอดบทเรียน (Lesson Review) นั่นคือ "ถามเพื่อสอน สะท้อนเพื่อเรียน"
    • สำหรับวิชาทักษะการสื่อสาร เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ  ต้องสร้างห้องเรียนที่ นิสิตทุกคนได้ "ฝึก" เนื่องเพราะ "ทักษะเกิดจากการฝึกบ่อยๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ ทวนๆ"  เช่น วิชาภาษาอังกฤษต้องการให้พูดสื่อสารได้ ต้องทำให้นิสิตทุกคนได้ "ฝึกพูด" วิชาภาษาไทยต้องการให้เขียนได้ ก็ต้องให้ได้ "ฝึกเขียน" และเรียนจากการ "เขียนผิด" เป็นต้น 
    • สำหรับวิชาที่เน้นการปลูกฝัง "อุดมการณ์" และ "ทักษะการทำงาน" เช่น วิชาภาวะผู้นำ หรือ วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  ควรเน้นให้นิสิตทุกคนได้ฝึกฝนจิตใจและนิสัยของตนเองผ่าน กิจกรรมต่างๆ ทั้งบำเพ็ญประโยชน์ จิตอาสา ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดการ "ระเบิดจากภายใน" 
  • ปลูกฝังอุดมการณ์ หมายถึง การสร้างสถานการณ์ โอกาส หรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝัง ให้นิสิตเกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวม ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย "ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"
กระบวนการที่ทั่วถึง

หลักของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดไว้นั้น มหาวิทยาลัยจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรก็ได้ แต่ต้องให้นิสิตได้เรียนรู้ครอบคลุมทุกกลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาภาษา กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต

การ "เอานิสิตตัวตั้ง" คือมุ่งเอา "ผลกาเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป" เป็นเป้าหมาย จำนวนรายวิชาที่มากเกินไปในแต่ละกลุ่มวิชาเรียน ซึ่งนิสิตไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนทุกรายวิชา จึงเกิดปัญหาความไม่ครอบคลุมสอดคล้องระหว่างผลสัมฤทธิ์ของการเรียนจากรายวิชาที่นิสิตลงทะเบียนกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังทั้งหมด

แนวทางในการปรับโครงสร้าง จึงมุ่งสร้างรายวิชาบูรณาการ แล้วจัดแผนการเรียนแบบวิชาบังคับเลือกให้นิสิตทุกคนต้องลงทะเบียนเรียน นิสิตทุกคนจะได้เรียนองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นคล้ายคลึงกัน วิธีนี้มีข้อดีหลายประการ ได้แก่
  • นิสิตทุกคนได้เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปคล้ายคลึงกัน 
  • จัดตารางเรียนตารางสอนง่ายขึ้น 
  • ขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น 
  • เอื่อให้เกิดเครือข่ายวิชการเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น 
  • ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ จำนวนรายวิชาในหลักสูตรใหม่จึงน้อยกว่าในหลักสูตรเก่ามาก จากเดิม ๑๑๔ รายวิชา กลายมาเป็นเพียง ๓๑ รายวิชาเท่านั้น ดังตาราง




กลุ่มวิชา
เกณฑ์มาตรฐาน
หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
หมวดวิชาศึกษาทั่วไป
จำนวนรายวิชา
จำนวนหน่วยกิต
1.  กลุ่มภาษา
1.1  ภาษาอังกฤษ
1.2  ภาษาไทยและ
      ภาษาอื่น ๆ
-

3
3

6
4
2.  กลุ่มมนุษยศาสตร์
และสังคมศาสตร์
-
5
6
3.  กลุ่มวิทยาศาสตร์
     และคณิตศาสตร์
-
5
6
4.  กลุ่มวิทยาศาสตร์ 
     สุขภาพและนันทนาการ
-
4
4
5.  กลุ่มสหศาสตร์
-
1
2
6.  กลุ่มวิชาเลือกเพิ่มเติม
-
10
ไม่น้อยกว่า 2
รวม
ไม่น้อยกว่า  30  หน่วยกิต
31
ไม่น้อยกว่า  30  หน่วยกิต



กระบวนการ "บูรณาการคน"

การปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปครั้งนี้ มีรายวิชาที่มุ่งผลการเรียนรู้ในแต่ละด้านชัดเจน เห็นความเชื่อมโยงสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ดังภาพ (ตัวอักษรสีน้ำเงินคือรายวิชาเลือกเพิ่ม)


โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไร ให้การจัดการเรียนการสอนแต่ละรายวิชาบรรลุตามเป้าหมาย สังเกตว่าแต่ละวิชาเป็นวิชาบูรณาการที่รวมศาสตร์สาขาต่างๆ ไว้ด้วยกัน (สหวิทยาการ ; multidisciplinary) ดังนั้นหัวใจอยู่ที่ "การบูรณาการคน" ในที่นี้คือครูอาจารย์ ทำอย่างไรอาจารย์จะเข้าใจและสามัคคีร่วมกันทำสิ่งนี้เพื่อนิสิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านต้องเปิดใจ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision) แบ่งปันคุณค่า (shared value)  และสร้างชุมชนเรียนรู้สำหรับอาจารย์ผู้สอนรายวิชานั้นๆ เพื่อค่อยๆ พัฒนาไปสู่ "การบรูณาการ" ร่วมกัน


ขอจบฮ้วนๆ เท่านี้นะครับ 
บันทึกหน้า มาว่ากันถึง ๕ รายวิชากับการพัฒนาจากภายในสู่ศตวรรษใหม่ของการเรียนรู้ครับ



วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๑ : ปฏิรูปรายวิชาศึกษาทั่วไป ก้าวใหม่ของการพัฒนาคุณลักษณะี่พึงประสงค์จของบัณฑิต (๑)

ตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของรายวิชาศึกษาทั่วไป

สิ่งที่ทุกคนในสังคมไทยที่ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์หรือบุคลากรที่อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ต้องรวมถึงผู้ปกครอง ครู นักเรียนไทย ตลอดจนผู้ใช้บันฑิต ศิษย์เก่า ต้องเข้าใจตรงกันคือ ขณะนี้นิสิตนักศึกษาที่สอบผ่านเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทุกคน ทุกสาขา/หลักสูตร ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป และต้องสะสมให้ผ่านได้ทั้งหมดอย่างน้อย ๓๐ หน่วยกิต ไม่อย่างนั้นจะไม่สำเร็จเป็นบัณฑิตได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศไว้ตามกฎหมาย (ตามที่เคยเขียนไว้ที่นี่)

คำถามคือ ทำไม? คำตอบคือ เพราะว่าประเทศเราอยากได้กำลังคนที่เป็นพลเมืองดี หรือก็คืออยากได้บัณฑิตที่เป็น "คนดี" "คนที่สมบูรณ์"  นี่คือเป้าหมาย โดยเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทยได้ให้นิยามของ "หมวดวิชาศึกษาทั่วไป" ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยควรจะกำหนดไว้ให้ตรงกัน (เพราะเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใหญ่ผู้รู้ในเรื่องนี้ที่สุดในประเทศเรา) ว่า



หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรู้รอบ

รู้กว้าง เข้าใจ และเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก


หากคำนวณว่า ๑ หน่วยกิต คือ ๑ ชั่วโมง ๑ วิชามี ๒ หน่วยกิต คิดเป็น ๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นิสิตต้องเรียนอย่างน้อย ๑๕ สัปดาห์ ไม่นับเวลาสอบกลางภาคและปลายภาค นั่นหมายถึง นิสิตนักศึกษาจะเรียนแต่ละวิชาจำนวน ๓๐ ชั่วโมง ถ้ารวมทุกวิชา จะรวมเวลาที่นิสิตอยู่กับเราถึง ๙๐๐ ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้พัฒนา และฝึกฝนตนเอง ผ่านการจัดการเรียนรู้ บ่มเพาะ ปลูกฝัง ของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปให้พวกเขาเป็นคนที่สมบูรณ์ตามคำนิยามของการศึกษาทั่วไปข้างต้น

อย่างไรก็ดี วิธีคิดแยกส่วนแบบนี้ ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย ผลการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา สะท้อนว่าทั้งนิสิตและอาจารย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป ทั้งที่ความจริง หน่วยกิตจากรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบัณฑิตของแต่ละหลักสูตร ซึ่งคิดเป็นถึง ๑ ใน ๔ ของหน่วยกิตที่นิสิตต้องเรียนทั้งหมด ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคน ตระหนักและเห็นความสำคัญร่วมกันว่า ทุกคนมีหน้าที่ฝึกฝนบ่มเพาะให้ลูกศิษย์มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็แทบจะเป็นอันเดียวกันกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่ว่าอาจารย์จะรับผิดชอบสอบวิชาใด จะอยู่ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปหรือไม่ อาจารย์จะปรับใช้และบูรณาการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในการจัดการเรียนการสอนของตน และฝึกฝนความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้กับนิสิตนักศึกษาผ่านทุกวิชาทุกกิจกรรม ที่ออกแบบให้นิสิตได้เรียนได้ทำในแต่ละหลักสูตร

หากกระบวนทัศน์แบบ "องค์รวม" เกิดขึ้นจริง สำนักวิชาศึกษาทั่วไป จะเป็นเพียงผู้ประสานงานส่วนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกและจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนานิสิตทุกคนให้มีองค์ควมรู้ทั่วไปที่จำเป็น มีทักษะชีวิตที่จำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างผู้มีปัญญา เป็นที่พึ่งของสังคมได้ต่อไป

ผลการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป : อะไรคือคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

นำข้อนิยามของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป แยกออกเป็นองค์ประกอบได้ ๙ ประการ ดังรูป


ผมมั่นใจว่า หากพิจารณาอ่านแต่ละข้อให้ดี จะไม่มีใครบอกว่าที่เขียนกำหนดไว้เป็น "ผลการเรียนรู้" นี้ ไม่ดี ไม่เหมาะสม เพียงแต่ถ้ายังเห็นว่าไม่ครบถ้วน ไม่ถูกใจ ก็สามารถที่จะเสนอเปลี่ยนปรับแปลงได้ในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งถัดไป ....  ปัญหามีอยู่เพียงว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย จะเปิดใจยอมรับได้หรือไม่ว่า นี่คือเป้าหมายในการสร้างบันฑิตร่วมกันของเรา ...

เมื่อนำผลการเรียนรู้ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปทั้ง ๙ ข้อ มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับ เป้าหมายของการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาไทย (TQF)  ซึ่งกำหนดไว้ ๕ ด้าน ซึ่งอาจารย์ยุคใหม่ ที่ถูกกำหนดให้ "เขียนแผน" มคอ. ๓ ทุกคนทราบดี จะได้ดังรูป

 บันทึกต่อไปจะว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากหลักสูตร "เก่า" มา "ใหม่" ทำไมเรียกว่า "ปฏิรูป" ครับ