วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

ถอดบทเรียน : "การศึกษาทั่วไปในศตวรรษที่ ๒๑" ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณเวลา

วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๒ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.จรัส สวุรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (คลิกประวัติท่านที่วิคกิพีเดียที่นี่)  ให้เกียรติและเมตตามาบรรยายบอกทิศทาง "การศึกษาทั่วไปในศตวรรษที่ ๒๑" ณ ห้องประชุมชั้น ๓ อาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ... ขอกราบขอพระคุณท่านเป็นอย่างสูงครับ บันทึกนี้ผมจะสรุปแนวทางที่ท่านชี้บอกสำหรับการพัฒนาการศึกษาทั่วไปในศตวรรษที่ ๒๑  น่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อกระบวนการปรับปรุงหลักสูตรอย่างมีส่วนร่วมที่กำลังจะดำเนินไป และสำหรับเพื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ผมขออนุญาตท่านว่าจะนำสิ่งที่ท่านพูดมาเผยแพร่บอกต่อ และนำไปปฏิบัติเต็มตามกำลัง (ที่ตัวผมมี)  ... ผู้ใหญ่ที่ธรรมเข้าถึงใจ ผมไม่เห็นใครจะหวงความรู้สักแม้แต่หนึ่งคนเลย ....  (ศ.นพ.วิจารณ์ พาณิชน์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา, และคุณครูเพื่อศิษย์ ทั้งหมด ทุกท่านล้วนยินดีให้เป็นวิทยาทานทั้งสิ้น)

จับประเด็น "แนวทางการจัดการศึกษาทั่วไปในอนาคต"




  • ท่านลองตรวจสอบดูก่อนว่า อาจารย์ที่มาร่วมฟังบรรยาย เลือกหมายเลขใด เกี่ยวกับสภาพของการศึกษาทั่วไป 
    • ท่านถามว่า ใครบ้างที่เลือกหมายเลข ๑  หมายถึง เห็นความสำคัญมากแต่ความจริงนั้นยังห่างไกล 
    • ใครบ้างที่เลือกหมายเลข ๙  ที่ ทำกันไปได้ดี แต่ไม่มีความสำคัญใด ๆ 
    • คนจำนวนหนึ่งเลือกหมายเลข ๕  ... ท่านแปลว่า เป็นกลุ่มที่ไม่รับผิดชอบ  ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ...


  • พื้นฐานการศึกษาของประเทศไทย มาจากประเทศใด 
    • มาจากฝรั่งเศส ไหม ที่เน้นไปทางการสร้าง "นัก" ต่าง ๆ สอนให้เป็นนักวิชาชีพ 
    • มาจากอังกฤษไหม ที่เน้นสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 
    • มาจากเยอรมันไหม ที่เน้นกระบวนการวิจัย 
    • หรือมาจากสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน 


  • การศึกษาทั่วไป สำคัญแค่ไหน 
    • เป็น "ติ่ง" เล็ก ๆ ต่ออยู่กับระบบใหญ่ใช่ไหม ... เป็นลูกเมียน้อยใช่ไหม 
    • สำคัญหรือไม่ หรือไม่สำคัญ 


  • ท่านถามว่า ในอีก ๑๐ ข้างหน้า การศึกษาจะเปลี่ยนไปเพียงใด ให้เลือกระหว่าง ๑ ถึง ๑๐  ... ท่านเฉลยว่า น่าจะสัก ๒๐ ...


  • ความรู้มีมาก มีอยู่แล้ว  และเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล เป็นการระเบิดของความรู้ 


  • นอกจาเพิ่มขึ้นแล้ว ลักษณะการเกิดขึ้นของความรู้นั้น ไม่ได้ต่อเติมหรืองอกใหม่ แต่เหมือนความรู้มีชีวิต มีเกิดขึ้น ตังอยู่ และดับไป 


  • ท่านพูดเกี่ยวกับลักษณะขององค์ความรู้ในศตวรรษที่ ๒๑


  • เนื้อหาสาระ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญ มี ๓ ประการ ได้แก่ 
    • คุณธรรม จริยธรรม 
    • สมรรถนะจำเป็น 
    • ความเชี่ยวชาญตามความถนัดของตนเอง 


  • นี่คือเป้าหมายของประเทศ 
    • คนไทยฉลาดรู้ 
    • คนไทยอยู่ดีมีสุข
    • คนไทยสามารถสูง
    • พลเมืองไทย ใส่ใจสังคม 


  •  ทีมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา สรุปว่า สมรรถนะ ๑๐ ประการที่ต้องมีในศตวรรษที่ ๒๑


  • ปริญญาวิชาชีพ ไม่จบอยู่แค่ได้ปริญญาเหมือนเดิมแล้ว  แต่เป็นการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
  • มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบให้เขามีงานทำ สามารถทำงานได้ สามารถสร้างงานได้ ไม่ใช่การสอนให้เขาจบปริญญาเท่านั้น 
    • ไม่ใช่ให้ปริญญาเขา ๓๒,๐๐๐ คนไป ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า มีตำแหน่งงานอยู่เพียง ๒๔,๐๐๐ คนเท่านั้น .... อีก ๗,๐๐๐ คนจะต้องงานแน่นอน 
  • การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น สิ่งหลักสำคัญที่สุดแน่นอนว่า  คือการสร้างวิชาชีพ (Professionalism) จึงมีคำว่า "นัก" เกิดขึ้น  
  • แต่ต้องมีส่วนอื่นประกอบ คือ ทักษะและสมรรถนะอื่นด้วย เช่น ทักษะชีวิต สมรรถนะด้านการใช้ความรู้ต่าง ๆ อื่น ๆ ด้วย เช่น ความรู้เรื่องสุขภาพ สังคม ฯลฯ 
  • การจัดการศึกษาที่ผ่านมา มุ่งเฉพาะด้านวิชาชีพ  และพยายามผลักส่วนที่เหลือไปไว้ในการศึกษาทั่วไป .... ซึ่งไม่ใช่ ....  
  • ที่ถูกต้องนั้น  การสอนวิชาชีพนั้น จะต้องสอนจิตวิญญาณของวิชาชีพนั้น ๆ ด้วย  ครูอาจารย์นั้นคือ "บุพการี" ครูอาจารย์ไม่ใช่ผู้รับจ้างสอน (เหมือนปัจจุบัน) ครูอาจารย์เป็นบุพการี คือเป็นผู้ให้ ให้ความรักความเมตตา ให้การอุปการะโดยไม่หวังผลตอบแทน 
    • คำว่า "บุพการี" เป็นคำไทย ที่ไม่ในภาษาอื่น 
    • ครูเป็นผู้ให้ ให้การดูแล และศิษย์ผู้ได้รับการดูแล ก็จะดูแลคนอื่นต่อ ๆ ไป 
  • การศึกษาทั่วไป ควรจะเป็น "การศึกษาเพื่อสร้างสมรรถนะพื้นฐาน" (Enabling Competence)  คือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างให้เกิดสิ่งอื่น ๆ  เป็นฐานของการอุดมศึกษา 


  • โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยนไป ...บางทีไวกว่า ๒๐ ปี 
    • คนโบราณ (T) 
    • คนเบบี้บูม (Baby Boom)
    • คนเจนเนอเรชั่น X ... หลายคน ตอนนี้เป็นผู้บริหาร
    • คนเจนเนอเรชั่น Y เริ่มเมื่อมีคอมพิวเตอร์  ... ตอนนี้เป็นคนทำงานส่วนใหญ่
    • คนเจนเนอเรชั่น Z  เริ่มเมื่อมีอินเตอร์เน็ต ... ตอนนี้เป็นนิสิต นักศึกษา นักเรียน 
  • เมื่อเปรียบเทียบกับการระเบิดของความรู้ (Knowledge Explosion) จะเห็นว่า แต่ละรอยต่อของยุค จะเกิดการเปลี่ยนแปลง 
    • Technolgical Transformation  จาก BB เป็น X
    • Social Transformation จาก X เป็น Y
    • Digital Transformation จาก Y เป็น Z
  • การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนรูปไป  จากยุคแรกที่ Informative -> Formative -> Transformation 


  • ดังนั้น เด็กสมัยนี้แตกต่างจากครูอาจารย์ที่สอนอยู่  เด็กเป็น Digital Native ส่วนครูอาจารย์เป็น Digital Immigrant 
  • บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงเปลี่ยนไป ไม่ใช่การรับนักเรียนมาสร้างนักวิชาชีพแบบมอบใบปริญญา  แต่นักศึกษาจะไม่ใช่เพียงนักเรียน เป็นคนทุกช่วงวัย  โดยบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยคือ 
    • Workforce 
    • Upskill
    • Traning และ 
    • Re-Education 
  • สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องพิจาณาให้ดีคือ "ผู้บิหาร" ซึ่งมักเป็นคนมาจากยุค Gen X  ถ้าเป็นผู้บริหารที่เป็น X แล้วไม่เข้าใจ Z มองไม่เห็น จึงพยายามบีบ Z ให้เป็นแบบเดิมที่ตนเข้าใจ จะทำให้เกิดปัญหา ... ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย 
    • ต้องเปิดประตูมหาวิทยาลัยให้กว้าง  ให้ได้มีส่วนร่วมและโอกาสในการบริหาร 
    • New Leader 
    • Modern management 
    • ฯลฯ


  • ทำให้หลายสิ่งต้องเปลี่ยนไป
    • การเรียนการสอนเปลี่ยน 
      • Self-access ot knowledge 
      • Active Learning 
      • Project-based, Problem-based
      • Research-based 
      • Experiential Learning in workplace
      • ฯลฯ 
    • งานหรืออาชีพก็เปลี่ยน  หลายอาชีพหายไป เช่น พนักงานธนาคาร ฯลฯ 
    • มหาวิทยาลัยต้องมองกลุ่มเป้าหมายใหม่ 
    • โอกาสใหม่ และการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  เช่น โชห่วยที่ต้องเจ๊งไปเมื่อห้างใหญ่เข้ามา
    • ต้องสร้างคนที่เป็น "นัก" ในอนาคตเองได้ จะรอดได้ 


  • สมัยก่อนเด็กหน้าห้องเก่งกว่าเด็กหลังห้อง แต่สมัยนี้ เด็กหลังห้องที่เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านมือถือ เก่งกว่าครูอีก ....
  • ทุกวันนี้ Digital Literacy เป็นเรื่องจำเป็น
    • on air คือ องค์ความรู้จำนวนมากกลายมาเผยแพร่ทั้งภาพแสงเสียง ออกอากาศไปทั่ว 
    • online คือ ความรู้ต่าง ๆ ออนไลน์ สืบค้นได้จากทุกที่ทุกเวลา 
    • on ground คือ 
  • คนต้องสามารถเข้าใจ เข้าถึง ประทับใจ คัดเลือกเป็น เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration)  สร้างความเข้าใจของตนเองได้ และปรับใช้ได้ 
  • การศึกษาทั่วไป จะต้องเข้าสู่ยุค Digital Educaiton Transformation  


  • ผู้เรียนขณะนี้ในระดับมหาวิทยาลัยลงไป พวกเขาเหมือนเป็นคนสัญชาติดิจิตอล (digital native)  การศึกษาจึงไม่เหมือนกับคนยุคก่อนนั้นที่เป็น (digital immigrant) 
  • ลักษณะสำคัญ ที่เป็นของการศึกษาสำหรับคนยุค digital native เช่น 
    • การสื่อสารแบบใหม่  
    • การเรียนรู้สมัยใหม่ จะต้องมีลักษณะ
      • Multidisciplinary  คือ บูรณาการหลาย ๆ ศาสตร์
      • Muti-sectoral คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นคณะหรือหลักสูตร แต่ร่วมมือกันหลายหลักสูตร 
      • Multicultural คือ พหุวัฒนธรรม ผู้เรียนรับรู้และได้สัมผัสข้ามวัฒนธรรม 
      • Work-in-team คือ การทำงานเป็นทีม
    • รูปแบบการเรียนสมัยใหม่ จะต้อง 
      • Social Media Learning เรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
      • Learning Community สร้างชุมชนการเรียนรู้ด้วยตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สนใจและนักปฏิบัติร่วมกัน 
      • Communication Plaform การเรียนแบบส่งผ่านความรู้ หรือถ่ายทอดเก่าไปแล้ว  ไม่ใช่สื่อสารทางเดียวแล้ว 
      • Learning Platform เปลี่ยนไป 
    • สื่อแบบใหม่ ไม่ใช่เพียงอ่านหรือดูให้รู้ตาม แต่เป็นสื่อสะท้อนความคิด ความอ่านของผู้สร้าง และสามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ชมได้ด้วย เช่น 
      • Augmented reality
      • Multimedia 
      • MEME 
      • ฯลฯ

  • เด็กสมัยใหม่ เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว  พวกเขา คิดเป็นระบบ คิดข้ามขั้น คิดนอกกรอบ คิดเร็ว ลดคำ สิ่งที่เขาต้องการ คือ 
    • Multitasking ทำงานหลายอย่างพร้อม ๆ กัน 
    • Abstraction จับประเด็น อ่านจับใจความ
    • Creativity สร้างสรรค์
    • Entrepreneurship เป็นผู้ประกอบการ
  • สิ่งที่ต้องเน้นเป็นปลายทาง คือ จะต้องสามารถ
    • มีส่วนร่วมหรือสร้างนวัตกรรม  โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านกระบวนการ ทำการศึกษาทั่วไปใหม่  เช่น 
      • จุฬาฯ ตั้งเป้าว่า นิสิตต้องได้ภาษาอังกฤษ 
      • จึงกำหนดเป็นมาตรฐานขึ้น ว่า นิสิตต้องผ่านการฝึกฝนด้านภาษาอังกฤษ แสดงไว้ในใบประกาศ 
      • จึงเกิดการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง 
      • เกิดระบบ CU-Test การทดสอบที่มีมาตรฐานของจุฬาฯ ขึ้น 
      • ฯลฯ 
    • ไม่ใช่เพียงสร้างนวัตกรรมแต่ต้องไปให้ถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้ 
  • ต้องไม่ดูถูกเด็ก  ต้องมองใหม่ เขาทำได้ ไม่ใช่ 
    • เด็กอนุบาล ต้องเขียนหนังสือ ต้องอ่านหนังสือ ต้องติวหนังสือ .... ทำให้ความสามารถอย่างอื่นหายไปหมด 


  • อาจแบ่งยุคของการศึกษาได้ ๓ ยุค ได้แก่
    • Informative Learing  การเรียนรู้ข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่แล้ว  นำไปสู่ Information competence คือ สมรรถนะในการใช้สารสนเทศ 
    • Formative Learning การศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ สร้าง "นัก" ในสาขาวิชาต่าง ๆ  เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในอาชีพ 
    • Transformative Learning การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากภายใน  ทั้งที่ใช้งานทันที และเจริญได้เองในอนาคต
  • ทักษะที่ควรเน้นในการศึกษายุคนี้ที่สุด 
    • การค้นหาความรู้ (Access) 
    • การใช้ความรู้อย่างถูกต้อง (Applications)
    • การสร้างความรู้ (New knowledge)


  • การศึกษาทั่วไปจะเป็นฐานด้านกระบวนการเรียนรู้ไปสู่ Entrusted Professinal Activities คือ คุณลักษณะเฉพาะของแต่ละอาชีพสาขา จะเป็นหมอต้องมีคุณลักษณะอย่างไร ฯลฯ 
  • ต้องสร้าง "ชานบันได" ไว้ เป็น เป้าหมายรายทางย่อย หรือ Milestones ก่อนจะไปถึง EPA 
  • ต้องมี "บันได" คือที่ชัดเจนจากการฝึกฝนแบบต่าง ๆ Observation Simulation Experience Hand-on Supervision 


  • ต่อไป รูปแบบการเรียนรู้จะไปสู่ Digital Learning Platform  
    • Google จะกลายเป็นมหาวิทยาลัย  เป็น Virtual programs
    • มีหลักสูตรที่หลักหลาย ออนไลน์ให้เรียนได้จากทุกที่ทุกเวลา 



สรุปแนวทางที่ท่านแนะนำ มมส.
  • การศึกษาทั่วไป คือ การศึกษาที่จะสร้างทักษะและสมรรถนะในการสร้างทักษะในศตวรรษที่ ๒๑  (Enabling Competenc)  มุ่งสร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ทั้งแบบใช้ทันที และเจริญขึ้นได้เองอีกในอนาคต
  • ปล่อยให้อาจารย์สอนในสิ่งที่อาจารย์อยากสอน
  • เน้นให้ผู้เรียนเป็น Creator  ลดการเป็น Consumer 
  • มุ่งสู่ Digital Learning Platform  
  • สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๑ (๑) วิพากษ์ การเขียนโครงการ (๑)

รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๒ พัฒนาการเรียนรู้มาสู่การเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เรียนรู้จากการทำงานกลุ่มร่วมกัน ให้นิสิตในกลุ่มได้ทำโครงการร่วมกัน (Project-based Learning) โดยเฉพาะโครงการบริการสังคม เพื่อส่งเสริมจิตอาสาและความเสียสละให้กับผู้นำรุ่นใหม่ทุกคน

บันทึกนี้ต้องการจะวิพากษ์การเขียนโครงการ อันเป็นทักษะจำเป็นในการทำงานในระบบราชการ ตัวอักษรสีน้ำเงินคือ งานที่นิสิตเขียนมาส่ง ส่วนตัวอักษรสีดำ คือสิ่งที่ผมนำเสนอในการวิพากษ์ครับ

๑) กลุ่ม เช กาบารา


ชื่อโครงการ : โครงการรณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่ ( Let’ keep it all! )

วิพากษ์ : ชัดเจนตรงที่บอกว่า จะรณรงค์ และจะรณรงค์ให้คนทิ้งขยะให้เป็นที่ แต่ไม่ดีตรงที่ไม่ค่อยน่าสนใจนัก เพราะคำว่ารณรงค์เป็นคำกลาง ๆ กว้าง ๆ ( ไม่ Specific) สิ่งที่น่าสนใจคือ จะรณรงค์อย่างให้สำเร็จ ควรหยิบเอากิริยาปฏิบัตินั้นมาไว้ในชื่อด้วย

หลักการและเหตุผล
    จากการสำรวจพฤติกรรมและปริมาณขยะจากการทิ้งในแต่ละวันของพื้นที่ในเขตท่าขอนยางรอบๆมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้นพบว่าพฤติกรรมของผู้คนในเรื่องการจัดการขยะของตนเองในแต่ละวันนั้นยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านขยะ เพราะมีขยะจำนวนมากที่เกลื่อนตามถนน ข้างหอพัก หรือแม้กระทั่งรอบๆบริเวณที่ทิ้งขยะ
   ผู้รับผิดชอบโครงการจึงมีความคิดที่ต้องการจะปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่ทิ้งไม่ถูกที่ โดยการเริ่มรณรง์ผ่านแผ่นประกาศหรือโปสเตอร์ในจุดสำคัญที่ผู้คนมองเห็นได้ง่ายและเห็นได้บ่อย เพื่อกระตุ้นความคิดให้มีความรับผิดชอบตนเองในเรื่องการจัดการขยะมากขึ้น
   โครงการนี้จัดทำขึ้นและคาดหวังให้ปริมาณของขยะที่เกลื่อนนั้นลดลงจากพฤติกรรมการจัดการขยะของผู้คนที่ถูกปรับให้ดีขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้คนที่ถูกปรับในทางที่ดีขึ้นด้านการจัดการขยะสามารถคงอยู่ได้นาน และถ่ายทอดวิธีการดูแลหรือจัดเก็บขยะของตนเองให้กับผู้อื่นได้

วิพากษ์ :
  • ควรกล่าวถึงปัญหาและบริบทของปัญหาให้ชัดเจนขึ้น การเขียนระบุพื้นที่ซึ่งจะเป็นพื้นที่เป้าหมายของการจัดการปัญหา จะช่วยให้เขียนได้ชัดเจนขึ้น
  • ไม่ชัดเจนนักว่า ผลของปัญหา คือ การนำขยะไปทิ้งไม่เรียบร้อย หรือ เป็นการนำขยะไปทิ้งในที่ห้ามทิ้ง หรือ เป็นการมักง่ายทิ้งขยะเกลื่อน ... เข้าใจว่าน่าจะเป็นประเด็นแรก
  • การแก้ปัญหา พฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เรียบร้อย อาจจะแก้ได้บ้างโดยการติดป้ายรณรงค์ ณ ที่ตำแหน่งทิ้งขยะนั้น ๆ แต่อ่านแล้วพบว่า จะทำป้ายไปติดที่จุดสำคัญ ๆ ที่มองเห็นง่าย ซึ่งเป็นการยากที่คนจะระลึกขึ้นได้เมื่อต้องไปทิ้งขยะจริง ๆ

วัตถุประสงค์ของโครงการ
  1. ปริมาณขยะบริเวณโดยรอบของมหาวิทยาลัยนั้นมีปริมาณที่ลดลง
  2. ผู้คนมีพฤติกรรมทิ้งขยะเป็นที่มากขึ้น (ประเมิณจากขยะถูกทิ้งเป็นที่ ขยะเกลื่อนน้อยลง)
  3. พฤติกรรมการทิ้งขยะที่ถูกปรับนั้นอยู่ได้ยาวนาน (ประเมิณจากการถอดป้ายประกาศแล้ว แต่การทิ้งขยะยังคงถูกที่ และปริมาณขยะเกลื่อนมีน้อยเหมือนเดิม)

วิพากษ์ : เขียนได้สอดคล้องและเป็นลำดับเหตุผลได้ดีครับ แต่
  • ทำให้สำเร็จได้ยากยิ่ง ด้วยการติดป้ายรณรงค์
  • ประเมินได้ยาก

ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
  1. กลุ่มเป้าหมายมีเจตคติที่ดีต่อการปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะ
  2. จำนวนพื้นที่ขยะเกลื่อนลดน้อยลง
  3. ระยะเวลาที่ขยะถูกทิ้งเป็นที่ยาวนานมากขึ้น

วิพากษ์ : เจตคติ คือ ทัศนคติ มีโอกาสน้อยมากที่คนจะเปลี่ยนเจตคติด้วยการเห็นป้ายรณรงค์


1. ชื่อโครงการ : ร่วมใจคัดแยกขยะ สู่อนาคตที่สดใส                                                                                                                      
วิพากษ์ : ชอบที่คำว่า "ร่วมใจคัดแยกขยะ" เพราะทำให้เห็นแนวทางและจุดเน้น แตะพอเพิ่มคำว่า "สู่อนาคตที่สดใส" ชื่อจึงกลายคล้ายคำกล่าว สุนทรพจน์ไป แนะนำให้กำหนดว่าใครหรือที่ไหน เช่น โครงการหอพักยุคใหม่ร่วมใจคัดแยกขยะ เป็นต้น                                                                                                                                                                    2. ผู้รับผิดชอบโครงการ : (ไม่แสดง)

3. หลักการและเหตุผล
            ปัญหาขยะมูลฝอย (หมายถึง ขยะทั่วไปที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ตลาด ร้านค้า และโรงงาน) ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่ง มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการบริโภคและการแยกขยะจากต้นทาง การจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดมลพิษและไม่เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิกิริยาเรือนกระจกที่มีสาเหตุจาก ขยะเทกอง ที่ปล่อยก๊าซมีเทน ซัลเฟอร์กับคาร์บอนไดออกไซต์ออกมา ปัญหาขยะในทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ในทะเล เป็นต้น
วิพากษ์ : อ่านแล้วเป็นเหมือนบทนำหรือเกริ่นนำในรายงานเรื่องขยะครับ ไม่เห็นปัญหา ไม่เห็นบริบทของปัญหาที่เราจะเข้าไปแก้ไข โครงการที่เราจะทำเป็นโครงการขนาดเล็ก จึงควรระบุลึกลงไปในพื้นที่หรือปัญหาให้ชัดไปเลยครับ
          วิธีการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย คือ การคัดแยกขยะ นอกจากนี้ขยะมูลฝอยเป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ซึ่งนอกจากจะเป็นของจำพวกพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ เศษวัสดุเหลือใช้ เศษอาหาร ยังมีของจำพวกขยะอันตรายที่ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะอื่นๆ เช่น ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ที่สามารถปล่อยสารเคมีไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายดาย การคัดแยกขยะตามประเภทการคัดแยกขยะแต่ละประเภทควรใส่ไว้ในถุงเดียวกัน อาจจะเป็นถุงดำหรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่และมัดปากถุงให้สนิท ก่อนนำไปทิ้งที่ถังขยะสาธารณะที่แบ่งประเภทของขยะนั้นๆ ไว้แล้ว ได้แก่ ขยะทั่วไป ,ขยะเปียก ,ขยะรีไซเคิล ,ขยะอันตราย และ การลดขยะที่ต้นทางปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน การช่วยลดปัญหานี้ให้เบาลงได้คือการเริ่มสร้างจิตสำนึกของตนเองก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง ควรแยกถังขยะออกไปตามประเภทของขยะ เพื่อการจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปที่ง่ายลง โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้ด้วยวิธีดังนี้
1.ลดการใช้งาน (Reduse)2.นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)3.นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

          หากปฏิบัติตามแบบแผนที่ได้กำหนดไว้ กลุ่มเป้าหมายมีจิตสำนึกในเรื่องการคัดแยกขยะ และสามารถคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้อย่างถูกต้อง, ความรู้เรื่องการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ,ความรู้เรื่องการรีไซเคิลขยะ และสามารถนำขยะมารีไซเคิลได้ , รับรู้ถึงปัญหาเรื่องขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบอกแนวทาง การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาได้ และทำให้สังคมมีความสะอาดและเรียบร้อย

วิพากษ์ :
  • เป็นการเขียนแบบหลักการหรือเชิงวิชาการ ให้พยายามเขียนให้เห็นแนวปฏิบัติให้ชัดขึ้น ใคร จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฯลฯ
  • ปัญหาการเขียนโครงการของกลุ่มนี้ ไม่ใช่การเขียน ผู้เขียนมีทักษะการเขียนดี ใช้คำได้ดี ปัญหาอยู่ที่ความชัดเจนในแนวทางการเขียนครับ

4. วัตถุประสงค์ของโครงการ 
4.1 เพื่อลดปริมาณขยะและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
4.2 สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้              
4.3 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วิพากษ์ :
  • วัตถุประสงค์ 4.1 และ 4.2 มีหลายประเด็นในข้อเดียว ...ลดปริมาณขยะ กำจัดถูกวิธี สร้างจิตสำนึก สามารถนำไปใช้ได้ หลายประเด็นครับ แต่ละประเด็นต้องวัดผล จึงต้องอยู่แยกกัน
  • วัตถุประสงค์ข้อที่ 4.3 เป็นคำกว้างใหญ่ ยากจะเชื่อว่าโครงการจะสามารถทำได้ ควรกำหนดพื้นที่เป้าหมายลงไปเลย
  • การสร้างจิตสำนึก ไม่สำเร็จได้ด้วยการอบรมเพียงครั้งเดียว
5. ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
5.1 ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงปริมาณ
    5.1.1  จํานวนผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมาย     
      5.1.2  ร้อยละของผู้เข้าอบรมนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 50     
    5.1.3  จำนวนผู้ผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่อง การคัดแยกขยะ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
5.2 ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงคุณภาพ
      5.2.1  กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการแยกขยะ
    5.2.2  ทำให้สังคมสะอาดมากขึ้น

วิพากษ์ :
  • เขียนได้ดีครับ ถูกหลัก มีการแยกตัวชี้วัดเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ แต่
  • ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ   อ่านตัวชี้วัดแล้วจะเน้นไปที่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคัดแยกขยะ 
  • ตัวชี้วัดต้องบอกได้ว่า วัตถุประสงค์สำเร็จหรือไม่ 
6. กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินการ
6.1 กลุ่มเป้าหมาย
    6.1.1 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่  นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
6.2 ระยะเวลาดำเนินการ
    6.2.1 วันเริ่มโครงการ 1 เมษายน 2562 วันสิ้นสุดโครงการ 30 เมษายน 2562
วิพากษ์ :
  • กลุ่มเป้าหมายไม่ชัดเจน ให้ระบุจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และหรือรายละเอียดให้ชัดเจนเท่าที่จะกำหนดได้
  • การกำหนดระยะเวลาดำเนินการใช้ได้ครับ
                                                                                                                                                                     7. วิธีการดำเนินงานและแผนการดำเนินงาน
7.1 วิธีการดำเนินงาน
     วิธีการและขั้นตอนของการดำเนินงาน โครงการประเภทโครงการบนฐานปัญหา แบ่งวิธีการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
        7.1.1 ระยะต้นน้ำ
       7.1.1.1 สำรวจปัญหา
      7.1.1.2 กำหนดปัญหา
      7.1.1.3 ศึกษาและกำหนดวิธีการวางแผนแก้ไขปัญหา
      7.1.1.4 สร้างเครื่องมือประเมินผลโครงการ
 7.1.2 ระยะกลางน้ำ
ดำเนินโครงการตามแผนงานที่วางไว้
           7.1.2.1 จัดทำอบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องการคัดแยกขยะ และสามารถคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้รับผิดชอบหลัก ได้แก่ นายธนทัต การิสุข, นายนิติธร ทองศิลา, นางสาวปิยากรณ์ มาตย์วิเศษ และนายพีระพัฒน์ วงค์อามาตย์
7.1.2.2 จัดทำถังขยะสำหรับคัดแยกขยะโดยทำป้ายติดไว้เพื่อแบ่งประเภทถังขยะ ได้แก่ ขยะทั่วไป, ขยะเปียก, ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย โดยมีผู้รับผิดชอบงานหลัก ได้แก่ นางสาวศุภกานต์ มนตรี, นางสาวสิรินดา สารบรรณ, นางสาวมัณฑิตา สายรัตน์ และนายสัณห์พิชญ์ เหรียญสุกาญจน์
 7.1.3 ระยะปลายน้ำ
          7.1.3.1 ประเมินและวิเคราะห์ผลการดำเนินโครงการโดยใช้เครื่องมือประเมินผลโครงการ ได้แก่ แบบทดสอบ และแบบสอบถาม  
                      7.1.3.2 สร้างสื่อนำเสนอองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

7.2 แผนการดำเนินงาน (ไม่แสดง ทำได้ถูกต้องแล้ว)

8. แผนงบประมาณ (ไม่แสดง )

9. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
9.1 ช่วยลดปริมาณขยะ
9.2 ช่วยเพิ่มรายได้ เนื่องจากขยะรีไซเคิล สามารถคัดแยกเพื่อนำไปขายได้ เช่น พลาสติก
กระดาษ ขวดแก้ว เหล็ก โลหะ
9.3 เพิ่มความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
9.4 ช่วยลดมลภาวะเป็นพิษ เนื่องจากขยะอันตราย และขยะติดเชื้อจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
9.5 ช่วยเพิ่มความปลอดภัย เพราะการคัดแยกขยะอันตราย เช่น หลอดไปที่แตก หรือของมีคม ออกจากขยะทั่วไปจะช่วยลดการบาดเจ็บจากการถูกของมีคมบาดได้


วิพากษ์ :

  • เขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เรียงตามลำดับครับ ข้อ 9.2 และ 9.5 เป็นผลพลอยได้ อาจเอามาไว้ข้อท้าย 

๓) กลุ่มลุ่งมิ่ง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์


1.ชื่อโครงการ “ โครงการน้องถังถัง จัดการขยะ”

วิพากษ์ :




  • อ่านแล้วเข้าใจว่า จะทำถังขยะ ใช้ถังช่วยจัดการขยะ แต่พออ่านหลักการเหตุผลแล้วไม่ใช่ ... ชื่อให้สอดคล้องและสื่อให้ตรงกับเจตนาของโครงการครับ 
2.รายชื่อสมาชิก (ไม่แสดง)

3.หลักการและเหตุผล
      คณะผู้จัดทำพบปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีขยะทิ้งอยู่ข้างถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทิ้งขยะแบบไม่ถูกวิธี ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ไม่มีการแยกขยะ ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็น ไม่น่ามอง และถนนเส้นนี้เป็นสายหลักที่เป็นทางเข้าของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ส่งผลเสียแก่ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และส่งผลเสียเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่
โดยมีการวางแผน คือ สำรวจบริเวณการทิ้งขยะไม่ถูกที่ และกำหนดจุดที่วางถังขยะ ประสานงานกับเทศบาลในการจัดวางถังขยะในแต่ละจุดที่กำหนด เพื่อให้ชาวบ้านที่พักอาศัยโดยรอบพื้นที่ได้การทิ้งขยะให้เป็นจุด เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งขยะไม่ถูกที่
ปริมาณขยะรอบ ๆถนน ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ทิ้งในที่ที่เหมาะสมคือ ถังขยะที่คณะผู้จัดทำได้จัดเตรียมไว้ กลิ่นเหม็นจากขยะลดลง ถนนมีความสะอาดเพิ่มขึ้น ภาพลักษณ์ของมหาลัยดีขึ้น ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

วิพากษ์ :





  • เขียนบริบทของปัญหาได้ชัดเจนดีมากครับ    ขาดแต่เพียงความสมบูรณ์ของประโยคเพื่อให้เห็นชัดขึ้น เห็นที่มาที่ไปมากขึ้น เช่น  เริ่มด้วย "จากการสำรวจปัญหาขยะบริเวณถนนเส้นมหาวิทยาลัยมหาสารคามไปบ้านดอนยม พบว่า.... "  เป็นต้น 
  • เห็นแนวทางว่าจะสำรวจ และกำหนดจุดทิ้งขยะ แต่ไม่อธิบายถึงวิธีกำหนดอย่างไร หรือจะสร้างการรับรู้กับประชาชนผู้ทิ้งขยะอย่างไร  
  • ปัญหาชัดดีแล้ว แต่วิธีการไม่ชัด ไม่สอดคล้องกับปัญหา และภาพความสำเร็จค่อนข้างเป็นภาพไกลเกิน ให้เชื่อมกับสิ่งที่จะทำ 
4.วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบมากขึ้น
2. เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากขยะ เช่น ปัญหาทางด้านสุขภาพเนื่องมาจากกระจายของสารพิษและสิ่งปนเปื้อนต่างๆในขยะ
3. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านตามหลักสุขอนามัยที่ดี
4. เพื่อส่งเสริมภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและชุมชนให้ดีขึ้น
5. เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน

วิพากษ์ :






  • หนึ่งข้อหนึ่งประเด็น  ใช้ได้ครับ แต่ 
  • ไม่สอดคล้องรับกับการเขียนหลักการและเหตุผล  ในหลักการไม่ได้ระบบว่า ปัญหาคือ การจัดการขยะไม่เป็นระบบ 
  • วัตถุประสงค์ข้อสอง วัดได้ค่อนข้างยาก  คำว่าเป็น "เป็นระบบ" คืออะไร  
5.ตัวชี้วัดความสำเร็จ
1. เกิดประโยชน์ที่มากมายและมีคุณค่าต่อชุมชน เช่น คนในชุมชนมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น มีภาพลักษณ์โดยรวมที่ดีมากขึ้น

2. คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดีต่อการกำจัดขยะมากขึ้น มีการจัดวางระเบียบการทิ้งขยะอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทิ้ง และสถานที่ของการทิ้งขยะ


วิพากษ์ :
  • ยังเขียนไม่ถูกต้องตามหลักนะครับ  ให้กำหนดตัวชี้วัดโดยเอาวัตถุประสงค์ตั้ง แล้วพิจารณาว่า เราจะประเมินว่าวัตถุประสงค์นั้นสำเร็จ จะต้องประเมินอะไร 
๔) กลุ่มพี่ตูน อาทิวรา คงมาลัย


ชื่อโครงการ  โครงการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง
วิพากษ์ :
  • เขียนได้ดีครับชัดเจน  ... ทำอย่างไรจะให้น่าสนใจขึ้นอีก และเหมาะสมกับสิ่งที่ทำในโครงการ
หลักการและเหตุผล
ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ซึ่งปัจจุบันปริมาณขยะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร  และพฤติกรรมการทิ้งขยะไม่ถูกวิธีของมนุษย์
ซึ่งหากคนในชุมชนมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งเราจะสามารถลดปริมาณขยะได้จำนวนมาก   การคัดแยกขยะเราจะสามารถแยกขยะได้เป็น ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ซึ่งถ้าเราคัดแยกขยะจะมีเพียงขยะทั่วไปเท่านั้นที่เราจะทิ้งแต่ถ้าเราไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งปริมาณขยะที่เราจะทิ้งก็จะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
การคัดแยกขยะในครัวเรือนถือเป็นการลดปริมาณขยะจากต้นทาง  และปริมาณขยะที่ต้องทิ้งก็จะลดลงอีกด้วย หากคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะประโยชน์ที่จะตามก็คือ สามารถมีรายได้จากการขายขยะ  มีปุ๋ยและอาหารสัตว์จากเศษอาหาร และปริมาณขยะที่ทิ้งก็จะมีปริมาณลดลง
วิพากษ์ :
  • อ่านแล้วเหมือนเป็นบทนำ บทเกริ่น อารัมบท ในรายงานเรื่องขยะ  
  • ไม่เห็นปัญหา ไม่เห็นบริบทของปัญหา ไม่เห็นความรุนแรงของปัญหา 
  • เห็นแนวทางการแก้ปัญหา รู้ว่าจะทำอะไรแต่ไม่ชัดว่า จะทำอย่างไร 
  • ทำให้เมื่อมาเขียนย่อหน้าสุดท้าย จึงกลายเป็นบทภาพฝัน หรือ ภาพใหญ่ไป 

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี
2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะในครัวเรือน  และมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง
3. เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน
วิพากษ์ :
  • วัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องหลักการและเหตุผล   ปัญหาคือ ประชาชนขาดความรู้ในการคัดแยกขยะ จึงจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 1.  แต่ปัญหาที่เขียนในหลักการและเหตุผลคือ ประชาชนไม่คัดแยกขยะ 
  • วัตถุประสงค์ข้อ 2. มีหลายประเด็น ให้ตระหนัก และ ให้คัดแยก  ควรมีประเด็นเดียวในหนึ่งข้อครับ 
ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
1. ประชาชน มีความรู้เกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ ตลอดจนทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากขยะ   
2. ประชาชน มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการลดปริมาณขยะ วิธีการคัดแยก การนำกลับมาใช้ใหม่
3. ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัดขยะประเภทต่างๆ อย่างถูกวิธี
4. ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายเรียนรู้ในการบริหารจัดการตนเองในการคัดแยกขยะ
5. ขยะในชุมชนมีปริมาณลดลง
วิพากษ์ :
  • ตัวชี้วัดตรงกับวัตถุประสงค์ แต่ซ้ำซ้อนกันหลายข้อ  ข้อ 1. ถึง ข้อ 4. เป็นประเด็นความรู้ความเข้าใจ ทั้งหมด 
  • ยังเขียนเป้าหมายไม่เป็นนะครับ  เช่น ข้อ 5. ควรเขียนบอกว่า ปริมาณขยะที่ลดลง จะให้ลดลองเท่าใด อย่างน้อยเท่าใด  กี่ตันต่อวัน ? ฯลฯ 
๕) กลุ่มธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

1.ชื่อโครงการ: โครงการถังขยะจากว่าที่ขยะ

วิพากษ์ :
  • อ่านแล้วทำให้เกิดความสงสัย ว่า คืออะไร สร้างถังขยะ?  คิดได้แต่ไม่ทันทีว่า น่าจะเป็นการนำสิ่งเหลือใช้มาสร้างถังขยะ ... 
  • จะดี ถ้าอ่านแล้วรู้ได้ทันที เช่น โครงการประดิษฐ์ถังขยะจากของเหลือใช้ ฯลฯ
2.ผู้รับผิดชอบโครงการ  :

3.หลักการและเหตุผล
 ปัจจุบันปัญหาขยะประเภทขวดพลาสติกในบริเวณหอพักหญิงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) มีจำนวนมาก เนื่องจากนิสิตนิยมซื้อน้ำดื่มมากกว่าการกดน้ำดื่มหยอดเหรียญจากตู้เพราะปลอดภัยจากสารปนเปื้อนน้อยกว่า  จึงทำให้ขวดพลาสติกมีจำนวนมาก
              โครงการถังขยะจากว่าที่ขยะเป็นการนำเอาขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นถังขยะ โดยการนำขวดพลาสติกจากหอพักหญิงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) มาประดิษฐ์เป็นถังขยะและนำไปวางไว้ที่อยู่ในหอพักหญิง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง)แต่ละพื้นที่ซึ้งเป็นการลดจำนวนของขยะประเภทขวดพลาสติก


วิพากษ์ :
  • ปัญหาชัดเจนดีครับ แต่จะดีขึ้นถ้าสามารถระบุจำนวนเป็นตัวเลข ให้เห็นความรุนแรงของปัญหา 
  • วิธีจะจัดการกับปัญหาก็ชัดเจนดีครับ  แต่อาจมีไอเดียที่ดีกว่า เพราะขวดพลาสติกสามารถนำไปขาย รีไซเคิลได้  และปัญหาไม่ใช่ การขาดแคลนถังขยะ 
4.วัตถุประสงค์ :
4.1.เพื่อประดิษฐ์ถังขยะจากว่าที่ขยะ
4.2.เพื่อสามารถลดจำนวนขยะจากขวดพลาสติก
4.3.เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขวดน้ำพลาสติก

วิพากษ์ :
  • วัตถุประสงค์เขียนได้เป็นประเด็นดี แต่ 
  • ข้อ 4.1 คำว่า "ว่าที่ขยะ" เป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน และทำให้เกิดความสงสัย
  • ข้อ 4.3 ไม่ชัดว่า จะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร เพราะไม่ได้นำไปขาย ... หรืออาจเป็นเพิ่มคุณค่าด้วยการนำมาใช้ใหม่ ???
5. ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
5.1.จำนวนขยะขวดพลาสติกลดลง
5.2 ถังขยะจากว่าที่ขยะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

วิพากษ์ :
  • ให้เขียนให้เป็นตัวชี้วัด  ให้แตกต่างระหว่างตัวชี้วัดกับวัตถุประสงค์  เช่น  จำนวนขยะขวดพลาสติกลดลง เป็นวัตถุประสงค์ ส่วน  จำนวนขยะขวดพลาสติกในหอพักฯ ที่ลดลง คือตัวชี้วัด
  • และต้องเติมค่าเป้าหมายด้วย เช่น  .... ลดลงร้อยละ ๒๐  เป็นต้น
  • ข้อ 5.2 ก็ต้องแก้ไขในทำนองเดียวกัน  

โดยสรุปสำหรับห ๕ กลุ่มนี้ ยังพบว่า  นิสิตสามารถเขียนโครงการได้ในระดับรูปแบบ แต่ยังขาดวิธีคิดและความชัดเจนตรงประเด็นในการเขียน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจได้ศึกษาด้วยตนเองตามเอกสารเลย จึงทำให้การเขียนไม่ถูกต้องตามที่ได้กำหนดในเอกสารประกอบการสอนเลย