วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ทำไมต้องมีรายวิชา(สำนัก)ศึกษาทั่วไป

ผมเคยเขียนตอบคำถามนี้ในเชิงระบบ กลไก และโครงสร้าง ในการออกแบบหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ไว้ที่นี่  และสาธยายถึงความสำคัญของรายวิชาศึกษาทั่วไปไว้ที่นี่ ถึงวันนี้ ๔ ปี ผ่านไม่ คำตอบก็ไม่ล้าสมัยเลย ...  แต่วันก่อนโน้น ท่าน ผอ.สำนักศึกษาทั่วไป ได้มอบหมายให้ผมเขียนอธิบายอีกครั้งว่า ทำไมนิสิตต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป (General education: GE) และ ทำไมประเทศไทย (การศึกษาไทย) ต้องหันมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปกันอย่างจริงจัง จึงเป็นเหตุแห่งการเขียนบันทึกนี้ ....หากผู้อ่าน มีความคิดว่า ผม (ผู้เขียน) ไม่น่าเชื่อถือ ผมก็ขอให้ท่านอ่านบันทึกการถอดบทเรียนจากการฟังบรรยาย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ที่นี่เถิดครับ 
รายวิชาศึกษาทั่วไปสำคัญจริงหรือ?
เหตุต่อไปนี้ อาจทำให้หลายท่านตั้งคำถามว่า GE ไม่สำคัญ
  • ข้อที่ ๑ จำนวนหน่วยกิตของรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่กำหนดไว้ให้เรียนตามประกาศของ สกอ. คือ ๓๐ หน่วยกิต คิดเป็นถึง ๑ ใน ๔ ของหน่วยกิตทั้งหมดที่นิสิต ป.ตรี ต้องเรียน นั่นหมายความว่า หากไม่ต้องเรียนรายวิชา GE นิสิตก็เรียน ป.ตรี เพียงแค่ ๓ ปีก็สำเร็จไปทำงานได้แล้ว ... ยิ่งถ้าพิจารณาว่า รายวิชาพื้นฐานวิชาเอกจำนวนมาก มีเนื้อหารายวิชาที่ซ้ำซ้อนกับตอนเรียนมัธยมศึกษา หากไม่ต้องเรียนวิชาเหล่านั้นด้วย ก็จบ ป.ตรี ได้ด้วยเวลาเพียง ๒ ปี ไปทำงานได้เลย 
  • ข้อที่ ๒ ความเข้าใจต่อกระบวนการไปสู่เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป คือ "ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" แตกต่างกัน... กล่าวคือ
    • คนที่เข้าใจว่า ต้องจัดการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หลากหลายสาขาวิชาอย่างรอบด้าน ทั้งภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ จะมีความเห็นว่า จำเป็นต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป 
    • คนที่เข้าใจว่า ต้องบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ให้กับบัณฑิตที่เรียนในแต่ละสาขา ซึ่งย่อมแตกต่างกันไป เป็นการสร้างอัตลักษณ์ของหลักสูตรและของมหาวิทยาลัย จะมีความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป ... การสร้างอัตลักษณ์ของหลักสูตรและมหาวิทยาลัยสามารถจัดการเรียนรู้บูรณาการกับรายวิชาเอกของหลักสูตรได้เลย  อาจจัดเพียงบางวิชาเท่านั้นสำหรับสร้างอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย 
  • ข้อ ๓ เจตคติที่ไม่ดีต่อรายวิชาศึกษาทั่วไป ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาทั่วไป อาจเกิดจากที่การจัดการศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้ผล หรือไม่ได้วัดผลให้เห็นเป็นรูปธรรม ... ผู้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้บริหารที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ มักมีแนวคิดลักษณะนี้ 
แท้จริงแล้ว หากสังกตและพิจารณาให้ดี สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาสำคัญ ๆ ทุกวันนี้ มีการคอรัปชั่นสูง ได้คนไม่ดีมาปกครองจนเกิดความขัดแย้งแตกแยก คุณธรรมเสื่อมทรุด เรื่อง "ความดี" ที่ GE รับผิดชอบโดยตรง นั่นเอง... ปัญหาของประเทศนี้ก็คือ การไม่ให้ความสำคัญของ GE อย่างจริงจัง ทำให้ GE ไม่พัฒนา ไม่ได้ผล... คนและสังคมจึง "เสื่อม"

ทำไมการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปจึงจำเป็น

เหตุผลที่ทุกคนต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป มีอย่างน้อย ๖ ประการ ได้แก่

๑) กฎหมายกำหนดไว้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ๒๕๕๐ และ ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน (ผมเขียนรายละเอียดไว้ที่นี่)  ว่า การจัดการศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้เป็นที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สิตปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ... แม้จะมีการร่างรัฐธรรมใหม่กี่ฉบับที่ผ่านมา เป้าหมายนี้หลักนี้ก็ยังคงอยู่เสมอ

๒) การศึกษาทั่วไปคือระบบและกลไกที่เอื้อที่สุดในการขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมของสังคม

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้พยายามอย่างหนักในการปลูกฝังและบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม และอัตลักษณ์ของคนไทย ให้คงอยู่ไว้ในเยาวชนไทยทุก ๆ คน ซึ่งโดยภาพรวมถือว่า ได้ผลพอสมควร .... สังเกตจากนิสิตระดับ ป.ตรี ชั้นปี ๑ ส่วนใหญ่ที่เพิ่งขึ้นมหาวิทยาลัย จะมีความกตัญญู ความน้อบน้อม ความเคารพต่อครูอาจารย์และพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ในระดับที่สูงยิ่ง  ในชั้นเรียนรายวิชา ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ในภาคการศึกษาหนึ่ง ผมเคยสำรวจโดยใช้กิจกรรม พบว่า เมื่อให้นิสิตเขียนถึงบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิต นิสิตส่วนใหญ่จะตอบว่า พ่อ หรือ แม่ หรือ ตา-ยาย ... ผมตีความว่านี่คือความผูกพันที่่ต้องเพาะพันธุ์ไว้นานจึงจะเกิด

ในทำนองเดียวกัน การจัดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย คุณธรรมที่ต้องปลูกฝังเป็นพิเศษคือ อุดมการณ์ในการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาสังคมและชุมชน จิตอาสาและจิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม

๓) วิชาศึกษาทั่วไป คือ กลไกหลักในมหาวิทยาลัย ที่ทำให้นิสิตระหว่างสาขาวิชาทุกคนได้ฝึก "จริยทักษะ" หรือการ "เก่งคน" (Software Skills)

Soft Skills เป็นทักษะที่จำเป็นตลอดวัยทำงาน ทั้งช่วงต้นของการเริ่มงาน ช่วงกลางของวัยทำงาน และช่วงวัยที่ต้องเป็นผู้ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการทำงาน

นิสิตจากหลากหลายชั้นปี/คณะจะมาเจอกันรู้จักกันในชั้นเรียนของรายวิชาศึกษาทั่วไป กิจกรรมการเรียนการสอนในเกือบจะทุกชั้นเรียน จึงเป็นสิ่งแวดล้อมในการฝึกทักษะทางสังคมและทักษะการทำงานร่วมกับเพื่อนใหม่ต่างคณะสาขา โดยเฉพาะในกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรายวิชาศึกษาทั่วไป

๔) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาบูรณาการ Work Integrated Learning ระหว่างนิสิตต่างสาขาได้ดีที่สุด

รายวิชาศึกษาทั่วไปที่มีนิสิตจากหลากหลายคณะหรือสาขาวิชามาเรียนรวมกัน จึงง่ายในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้นิสิตได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการปฏิบัติงาน ได้ฝึกแก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยใช้องค์ความรู้ต่างสาขาวิชา.... เป็นการฝึกทำงานจริง ๆ โดยไม่ต้องรอให้จบการศึกษา หางาน ลองงาน ผ่านงาน แบบระบบเดิม

นิสิตหลายคน เมื่อเรียนถึงตอนชั้นปี ๓ - ๔ จึงได้ลองแล้วล้ม ล้มแล้วลุก ลองผิดลองถูก จนเกิดเป็นประสบการณ์สำหรับการดำเนินชีวิตจริงได้เลย  บางคนอาจประสบผลสำเร็จจนสามารถสร้างธุรกิจหรือสินค้าของตนเองได้ตั้งแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษา  .... ใบปริญญาจึงไม่ได้มีค่าอะไร ไปกว่าโอกาสที่จัดให้โดยการศึกษาทั่วไป

๕) วิชาศึกษาทั่วไป คือ ที่ปลูกฝังอุดมการณ์ตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้ชัดเจนที่สุด

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน และการออกแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้นิสิตทุกคน (ย้ำว่าทุกคน) สามารถทำได้เฉพาะในรายวิชาศึกษาทั่วไปเท่านั้น การบ่มเพาะ ปลูกฝัง อุดมคติในจิตใจหรืออุดมการณ์แห่งมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้น การพัฒนารายวิชาปลูกฝังอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในรายวิชาศึกษาทั่วไป จึงเป็นสิ่งจำเป็น

๖) วิชาศึกษาทั่วไปทันสมัยและสร้างแรงบันดาลใจให้ใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีที่สุด

เนื่องจากสำนักศึกษาทั่วไป เป็นหน่วยงานกลาง ทำให้คณาจารย์หลากหลายสาขา สามารถเสนอบรรจุรายวิชาที่ทันสมัย หรือรายวิชาที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตนเองได้โดยง่าย ระบบบริหารจัดการเทียบเท่าคณะ และหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปที่ยืดหยุ่นสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงเนื้อหาและกระบวนการได้สะดวก ... จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สุด

โดยสรุป เหตุผลสำคัญที่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีสำนักศึกษาทั่วไป และมีรายวิชาศึกษาทั่วไป มี ๖ ประการ ได้แก่

  • เพราะกฎหมายกำหนดไว้  
  • เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดให้ผลิตบัณฑิตที่เป็น "คนดีมีคุณธรรม" ไว้...สำนักศึกษาทั่วไปคือเจ้าภาพ
  • เพราะ softskills (ระหว่างนิสิตหลากสาขา) พัฒนาได้ดีที่สุดที่วิชาศึกษาทั่วไป 
  • เพราะการบูรณาการการเรียน การทำงาน และการดำเนินชีวิต นิสิตได้ฝึกฝนผ่านรายวิชาศึกษาทั่วไป 
  • เพราะมหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังบ่มเพาะนิสิตตามอัตลักษณ์มหาวิทยาลัย...สำนักศึกษาทั่วไปทำได้
  • เพราะเป้าหมายแห่งการพัฒนาคนในศตวรรษนี้คือสร้างบัณฑิตที่เรียนรู้ตลอดชีวิต
ท่านอ่านแล้วเห็นว่าถูกผิดอย่างไร ควรจะเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เชิญครับ ....






GE Concept ความคิดรวบยอด "วิชาศึกษาทั่วไปคืออะไร"

วันนี้ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ฝ่ายพัฒนาอาจารย์ด้านการเรียนการสอนของสำนักศึกษาทั่วไป เปิดหลักสูตรอบรมอาจารย์ใหม่ แบบกลุ่มเล็ก ๔ ท่าน ... ผม AAR ว่า การอบรมแบบสนทนากลุ่มย่อยนี้ มีประสิทธิภาพมาก ผมเองรู้สึกมีพลังมาก รู้สึกมั่นใจว่าอาจารย์ได้อะไร ๆ ที่เรา BAR ว่าจะให้ท่านเข้าใจใน Concept of General Education (concep GE) อย่างยิ่ง ... อยากบันทึกไว้ให้ท่านอาจารย์ที่เพิ่งจากผ่านการอบรมไป ได้อ่านอีกครั้ง เผื่อมีประเด็นตกหล่นอะไร จะได้แลกเปลี่ยนพัฒนาต่อไปเป็นลำดับ

ขอสรุปไว้เพียง ๓ ประเด็น ดังนี้

๑) เป้าหมายของ GE คือ Softskills ไม่ใช่ Hardskills ดังนั้น เนื้อหาจึึงไม่ใช่วิชาเฉพาะวิชาชีพ

  • Softskills หรือ จริยทักษะ พูดง่ายก็คือ "เก่งคน" ทักษะทางสังคม ซึ่งจะเป็นต่อการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเฉพาะการตระหนักรู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักให้ รู้จักรับ รู้จักเลือก และยับยั้งชั่งใจไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี 
  • สรุป ผู้มี Softskills  ก็คือ "มนุษย์ที่สมบูรณ์"  สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข
๒) การสอน GE ต้องไม่ใช้วิธีแบบ Passive Learning (ถ่ายทอด-ส่งผ่าน)
  • เนื้อหาในรายวิชา GE มีจำนวนมากมายมหาศาล นิสิตสามารถสืบค้นอ่านผ่านมือถืออินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายได้ ... ไม่สามารถนำมาสอนแบบบอกหรือถ่ายทอดได้หมด และไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะในโลกปัจจุบันนิสิตติด(ตัว)มือถือกันทุกคน
  • สิ่งสำคัญคือ วิจารณญาณในการรับรู้ ตัดสินใจ เลือกใช้ความรู้ที่สืบค้นได้ และที่สำคัญก็คือความใฝ่รุ้และทักษะในการสืบค้น หรือเรียกรวมว่า "ทักษะในการเรียนรู้" นั่นเอง 
  • การสอนเพื่อให้นิสิตได้ "ทักษะในการเรียนรู้" ไม่ใช่การสอนแบบถ่ายทอดหรือบอกความรู้  ต้องเป็นการสอนแบบให้ "ฝึกเรียนรู้" ซึ่งทำได้โดยการสอนแบบ "Active Learning"
  • การสอนแบบ "Active Learning" คือการสอนแบบสองทาง ผู้เรียนมีการโต้ตอบหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนหรือผู้เรียนด้วยกัน ซึ่งมี ๓ แบบ คือ 
    • สอนแบบให้ "ฝึกคิด" วิธีการคือ ต้องใช้คำถาม ผู้สอนต้องใช้คำถามกระตุ้นให้ผุู้เรียน(ค้น)หาคำตอบ ก่อนจะสรุปบอกองค์ความอันเป็นแก่น ... จะให้เก่งคิด ต้องสอนแบบให้ได้ฝึกคิด
    • สอนแบบให้ "ฝึกทำ" วิธีการคือ การสร้างสถานการณ์หรือปัญหาให้นิสิตได้ฝึกทำ ฝึกแก้ปัญหา ฝึกทดลองหาคำตอบด้วยตนเอง
    • สอนแบบให้ "ฝึกคิดและทำ" วิธีการคือ การมอบหมายงานกลุ่ม ให้ทำงานกันเป็นกลุ่ม อาจเป็นการสอนผ่านโครงการ Project-based Learning หรือให้ร่วมกันแก้ปัญหา Problem-based Lerning หรือ สอนผ่านการให้บริการสังคม Service-based Learning เป็นต้น 
๓) การสอน GE ไม่ใช่การสอนให้เตรียมตัวไปสู่ชีวิตจริง แต่ต้องออกแบบให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการดำเนินชีวิตจริง ขณะที่กำลังเตรียมตัวไปประกอบอาชีพ 
  • วิชา GE ต้องไม่ใช่วิชาปูพื้นฐานสำหรับการไปเรียนวิชาอื่น และไม่ใช่วิชาที่เรียนต่อเนื่องจากวิชาอื่นที่เคยเรียนมาแล้ว  
  • แต่ต้องเป็นวิชาที่มุ่งให้นิสิตได้ศึกษาและเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตจริง ๆ  ณ ขณะที่เป็นนิสิตอยู่ 
    • ได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่กำลังเรียนที่ผ่านมาและกำลังเรียนอยู่ ไปใช้จริง ๆ ในการดำเนินชีวิต 
    • ได้คิดและใช้วิจารณญาณของตนเองในการเรียน รับรู้ และตัดสินใจ และตอบสนองออกไปในการเผชิญชีวิตจริง ๆ  
    • ได้รู้จักตนเองจริง ๆ  ได้พัฒนาความเข้าใจผู้อื่นจากปฏิสัมพันธ์จริงๆ ได้ทดลองดำเนินชีวิตจริงจากการทดลองทำงานจริง ๆ  ด้วยการบริหารจัดการเวลาของตนเองจริง   
  • การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมวิธีหนึ่งเพื่อ GE บรรลุวัตถุประสงค์นี้คือ Work-Integrated Learning เรียนจากการทำงานจริง ๆ  และ Phenomenon-based Learning เรียนจากการสัมผัสปรากฎการณ์จริง ๆ
ความจริงแล้วมีประเด็นมากมาย ที่เราได้แลกเปลี่ยนกันในการประชุม ผมพยายามสาธิตให้อาจารย์เห็นว่า การสอน GE ควรจะเป็นแบบสองทาง เหมือนกับที่ผมกำลังทำกับกิจกรรมวันนี้นั่นเอง  รายละเอียดที่น่าสนใจที่ได้คุยกันในรายละเอียด ได้แก่

  • GE คือวิชาที่จะทำให้นิสิตเคารพและปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมกับคนหรือในสังคมที่แตกต่าง 
  • GE ไม่ได้เน้นทฤษฎี แต่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ 
  • GE ที่ดีทั้งผู้สอนและผู้เรียนจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะต่างตระหนักรู้ว่าเรากำลังอยู่ในห่วงเวลาที่ 
    • Volality (เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว)
    • Uncertainty (ไม่แน่นอน คาดเอาอะไรไม่ได้ unpredicable)
    • Complexity (ซับซ้อน หลายชั้น เชื่อมโยงกันหมด)
    • Ambiguous (คลุมเครือ ไม่ชัดเจน blind บอด) 
  • ฯลฯ 
ขอบคุณอาจารย์ทั้ง ๔ ท่าน ที่แลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ทำให้การอบรมในวันนี้บรรลุประสงค์อย่างดีอีกครั้งหนึ่ง