วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป_ วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๑๐ : กิจกรรมส่งเสริมจิตอาสา IF I WERE

สวัสดีครับอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ที่เคารพทุกท่านครับ มีอาจารย์ ๒ ท่าน โทรหาผม เพื่อขอไฟล์ ppt กิจกรรมส่งเสริมจิตอาสา ชื่อ "IF I WERE" ที่ผมเคยใช้ในการอบรมพัฒนาอาจารย์ (ผมเขียนบันทึกไว้ที่นี่)  ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์พาวเวอร์พอยท์ดังกล่าวได้ที่นี่ครับ

ความจริงผมได้เรียนรู้กิจกรรมนี้จากครูเพ็ญศรี ใจกล้า เพื่อนครูเพื่อศิษย์ที่นำมาเสนอในงานประชุมครูเพื่อศิษย์  คิดว่ามีประโยชน์มากจึงนำมาใช้ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย  เพื่อความสะดวกให้อาจารย์ผู้สนใจนำไปใช้บ้าง จึงขอนำมาคัดลอกไว้ในที่นี้อีกครั้งครับ

ขั้นที่ ๑  ให้เลือกสถานการณ์ แล้วให้บอกว่าตนเองจะทำอย่างไรหากเป็นคนในสถานการณ์นั้น 
ให้นิสิตเลือกว่า หากเป็นคนในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งต่อไปนี้ ท่านจะทำอย่างไร? โดยให้เลือกตอบเพียงคำถามเดียว ...  ควรให้นิสิตแต่ละคนเขียนคำตอบของตนเองลงในกระดาษ หรือใบงาน หรือใบกิจกรรม เพื่อให้แต่ละคนได้คิดและมีคำตอบของตนเองจริง ๆ ควรให้เวลาสักอย่างน้อย ๕ นาที

ถ้าเป็นเด็กที่เพิ่งจะรู้ข่าวเป็นครั้งแรกในชีวิตว่ามีเด็กที่ขนาดแคลนน้ำ หรือถ้าท่านเป็นเด็กที่เติบโตอยู่ในสังคมที่ห้ามไปโรงเรียน ห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษา ท่านจะทำอย่างไร? หรือถ้าเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่ มีเงินเป็นร้อยล้าน หรือมีพื้นที่กลางสีลมจริง ท่านจะทำอย่างไร? 
(Cr. เพ็ญศรี ใจกล้า)
ขั้นที่ ๒ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 
วิธีการสอนแบบ Active Learning ง่าย คือ "ถามเพื่อสอน สะท้อนเพื่อให้ได้เรียน และให้เขียนเพื่อให้ได้คิด" ขั้นที่ ๑ ทำให้นิสิตได้คิดและมีคำตอบพร้อมจะร่วมแลกเปลี่ยน

จากนั้นให้สำรวจว่า มีจำนวนนิสิตกี่คนที่เลือกแต่ละข้อ โดยให้นิสิตมีส่วนร่วมด้วยการยกมือขึ้นค้างไว้ ให้นับจำนวนออกเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ... อาจเทียบสัดส่วนให้เห็นชัดๆ จะสามารถดึงความสนใจนิสิตได้ดี

ต่อไป ให้เปิดโอกาสให้นิสิตที่สมัครใจ ยืนขึ้นเล่าแลกเปลี่ยนคำตอบของตนเอง โดยใช้ไมค์ลอย (ที่ทางสำนักศึกษาทั่วไปเตรียมให้... ควรเตรียมแบตเตอรี่ขนาด AA ไปเอง ๒ ก้อน)  หากไม่มีนิสิตสมัครใจ ให้สุ่มเลือกด้วยวิธีต่าง ๆ ...ให้สนุกจะดี

เมื่อคนแรกตอบ   ให้นิสิตที่เลือกข้อเดียวกันยกมือขึ้นอีกครั้ง แล้วสุ่มให้ตอบไปเรื่อย ๆ  สัก ๔-๕ คน และปิดท้ายด้วยการ ถามถึงคำตอบที่แตกต่างจากเพื่อนที่ตอบมา  ก่อนจะเปลี่ยนไปที่ตัวเลือกสถานการณ์อื่น ... รวม ๖ สถานการณ์ ดั้นนั้นขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาถึงด ๒๐ - ๓๐ นาที

ขั้นที่ ๓ บรรยายสร้างแรงบันดาลใจ 

เล่าเรื่องของบุคคลต่อไปนี้ แล้วถามว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงคิดและทำแบบนั้น .... นำสรุปไปสู่ "จิตอาสา" 

ไรอัน ฮเรลแจ็ก (Ryan Hreljac) เด็กชายวัย 6 ขวบจากประเทศแคนาดา ได้ยินเรื่องดังนั้นก็ถึงกับช็อกขณะเรียนวิชาสังคมศึกษากับเรื่องราวของโลกที่ขาดแคลนน้ำสะอาดเด็กกว่าล้านคนในแอฟริกาที่ต้องเดินทางหลายกิโลเมตรเพื่อนำน้ำสะอาดมาอุปโภคบริโภคและมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปก่อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสะอาดประทังชีวิต ความตกใจของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจและตั้งเป้าหมายที่จะขุดบ่อน้ำเพื่อเด็กๆ แอฟริกาให้ได้ ไรอันทำงานรับจ้างต่างๆ รวมถึงออกไปพูดเพื่อขอเงินสนับสนุนเป็นเวลา 1 ปีและในที่สุดก็ได้นำเงินไปขุดบ่อน้ำแห่งแรกสำเร็จ แต่การเดินทางของหนูน้อยไรอันพึ่งเริ่มต้นข่าวความเสียสละของเด็ก 7 ขวบนี้ โด่งดังไปทั่วแคนาดาและสหรัฐอเมริกา สร้างแรงบันดาลใจต่อให้เด็กๆ อยากร่วมกันส่งเงินไปให้เช่นกัน ไรอันได้จัดตั้งมูลนิธิ “Ryan’s Well Foundation” ขึ้นเพื่อระดมทุนที่จะขุดบ่ออื่นๆ เพิ่มในหลายๆ ที่ปัจจุบัน ไรอันได้รับเลือกให้เป็น Global Youth Leader โดยองค์การยูนิเซฟมูลนิธิของเขาได้ ขุดบ่อน้ำไปแล้วกว่า 740 บ่อ ห้องน้ำกว่า 1 พันห้อง ในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ช่วยเหลือผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิต ไม่ให้ตายอย่างทุกข์ทรมานและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอีกหลายคนที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อวันที่ดีกว่า .... (ที่มา http://www.iurban.in.th/inspiration/7kids-changed-theworld/)


มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เป็นผู้เรียกร้องสิทธิเพื่อการศึกษาของเด็กและผู้หญิง การเรียกร้องของเธอทำให้เธอโดนหมายหัวจากกลุ่มตาลีบาน และวันหนึ่งในวัย 15 ปี รถบัสโดยสารเธอที่เธอนั่งมาก็ถูกกลุ่มตาลีบานบุกยิงอย่างอุกอาจ แม้จะบาดเจ็บสาหัส แต่เธอก็รอดชีวิตมาได้ ทั่วโลกให้ความยกย่องในความกล้าหาญ เปรียบเธอเป็นแสงเทียนท่ามกลางพายุมืดมน หลัง จากรักษาหายดี มาลาลา ก็ได้รับการจัดชื่อเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในปี 2013 ของนิตยสาร TIMES พร้อมรางวัลเชิดชูเกียรติอื่นๆ อีกมากมาย และปี 2014 มาลาลาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในที่สุด และทำให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบลที่ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยวัย 17 ปี เท่านั้น 
(ที่มา http://www.iurban.in.th/inspiration/7kids-changed-theworld/) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

นายธนกร ฮุนตระกูล ลูกชายคนเดียวของนายอากร ฮุนตระกูล เจ้าของโรงแรมเครืออิมพีเรียล ซึ่งมีโรงแรมในเครือถึง 7 แห่ง คือ โรงแรมนิวอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค (ปัจจุบัน คือ โรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพ) โรงแรมอิมพาล่า (ปัจจุบัน คือ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลธารา (ปัจจุบัน คือ โรงแรมดับเบิลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมธาราแม่ฮ่องสอน โรงแรมเรือและบ้านสมุย และโรงแรมลำปางธานี รวมทั้งยังมีกิจการร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายแห่ง ครอบครัวฮุนตระกูลที่บริจาคที่ดินบนเกาะสมุย ประมาณ 4,870 ไร่ ให้กับทางราชการ เพื่อให้รัฐนำไปใช้ประโยชน์ จัดทำป่าชุมชน เขตป่าต้นน้ำลำธาร หรือเป็นพื้นที่ป่าสำหรับอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังกล่าวไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำ หลังจากพ่อเสียชีวิตแทนที่นายธนกร จะดำเนินธุรกิจขยายโรงแรมต่อไปตามความคิดของพ่อ แต่นายธนากรกลับเลือกที่จะขายกิจการโรงแรมขนาดใหญ่ทั้งหมด เพื่อนำเงินไปใช้ปลดหนี้ทั้งหมด และนำเงินส่วนที่เหลือกว่า ๒,๙๐๐ ล้าน ไปพัฒนาป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และพัฒนาโรงแรมบ้านท้องทราย ที่เกาะสมุยจนกลายเป็น ๑ ใน ๑๐๐ โรงแรมที่ดีที่สุดหลายปีซ้อน (ที่มา: http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx... )

คุณธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณารางวัลสิงโตเมืองคานส์ (Cannes Lion) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดด้านโฆษณาของโลก ได้รับรางวัลระดับทองคำ (Gold Lions) มาเป็นเวลา 5-6 ปีติดต่อกัน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กำกับโฆษณาอันดับต้นๆ ของโลก เขามีผลงานมากมายที่คนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก หนังโฆษณา ไทยประกันชีวิตโฆษณาของทรูมูฟ และอีกมากมาย ซึ่งเขามักจะสร้างจากเรื่องจริง และบรรยายด้วยตนเอง

หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ เป็นธิดาคนเล็กของ ร้อยเอก หม่อมเจ้าทินทัต สุขสวัสดิ์ กับหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนวรรณวิทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ต่อจากหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารดา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตธุรกิจ สุขุมวิทย์ซอย ๘ ล้อมรอบไปได้ตึกใหญ่ใจกลางเมือง โดยหม่อมราชวงศ์รุจีสมรได้รับการยกย่องว่ามีจิตวิญญาณความเป็นครู ด้วยเก็บค่าเทอมราคาถูก (ที่มา:วิกิพีเดีย)
เป้าหมายของรายวิชานี้คือการปลูกฝัง "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ" เป็นสำคัญ ด้วยวิธีต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง หยิบยกตัวอย่างบุคคลแบบอย่างดังเช่นเสนอมานี้ อภิปรายและสรุปถึงความดี ให้เห็นตัวอย่างของจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่ ใช้กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เช่น กำหนดให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมหรือสร้างกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม กิจกรรมทำความดีต่างๆ จัดการเรียนการสอนแบบโครงการเป็นฐาน (Project-based Learning) หรือปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) โดยเลือกปัญหาที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตนๆ ฯลฯ
ทั้งนี้การเข้าใจความหมายของคำว่า "จิตอาสา" (Volunteer Spirit) และคำว่า "จิตสาธารณะ" หรือ (Public mind) นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกำหนดให้ตรงกัน และระมัดระวังทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผลการศึกษา เพื่อให้เคลียร์ประเด็นนี้ จึงขอนำเอาคำนิยามของทั้งสองคำมาวางต่อท้ายบันทึกไว้ตรงนี้ ให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านได้นำไปพิจารณา
”จิตอาสา” อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ ถึง ๑๐ ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย.. “จิตอาสา” ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา “จิตวิญญาณ” ของเราด้วย “จิตอาสา” คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม…อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัว เป็นตนของตนเองลงได้บ้าง “อาสาสมัคร” เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มี จิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมาก กับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือ สังคมให้เกิด ประโยชน์และความสุขมากขึ้น การเป็น “อาสาสมัคร” ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในทางบวก ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรทำทั้งสิ้น คนที่จะเป็นอาสาสมัครได้นั้น ไม่ได้จำกัดที่ วัย การศึกษา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือ ข้อจำกัด ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่ต้องมีจิตใจ เป็น “จิตอาสา” ที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคม เท่านั้น 
ส่วนคำว่า "จิตสาธารณะ" นั้นราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของจิตสำนึกทางสังคม หรือจิตสำนึกสาธารณะว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความหมายว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อ ประเทศชาติ มี ความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 
สำหรับผมแล้ว คำว่า "จิตอาสา" นั้น ก็คือการให้ และต้องเป็นการให้ที่ออกมาจากภายใน ระเบิดจากข้างใน หรือก็คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ส่วนคำว่า "จิตสาธารณะ" คือการใส่ใจและเสียสละเพื่อส่วนรวมเพื่อคนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น