วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๖ : สรุปข้อตกลง สำหรับการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม และวันที่ ๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา ในที่ประชุมอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  มีข้อตกลงบางหลายประการที่ อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน ควรได้รับรู้และเข้าใจตรงกัน  ผมสรุปมาเป็นรายข้อ ได้ดังนี้ครับ

๑) รายละเอียดวิชาตามกรอบ TQF  หรือ  มคอ.๓  ใชให้ฉบับนี้ (เชิญคลิกเพื่อดาวน์โหลด pdf, word)

๒) คณะ-วิทยาลัยหรือสาขาวิชา สามารถนำเอาร่างต้นฉบับเอกสารประกอบการสอน (ดาวน์โหลดที่นี่ pdf, word) ไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการสอนเฉพาะของคณะ-วิทยาลัยหรือหลักสูตร อาจเพิ่มบทเรียนเฉพาะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของหลักสูตร 

๓) ในปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ นี้ ยังไม่มีการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการสอนสำหรับนิสิต  มีเพียงเอกสารประกอบการสอน(เนื้อหาส่วนกลาง ๓ บทเรียน) ที่จัดพิมพ์ในรูปเล่มขนาด B5 ส่งให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน  ส่วนนิสิตที่ลงทะเบียนเรียน แนะนำให้อาจารย์ผู้สอน นำไฟล์ต้นฉบับมอบให้นิสิตไปพิจารณาพิมพ์ด้วยตนเอง ...(จะส่งไฟล์ต้นฉบับมาให้อีกครั้ง)

๔) วิธีการประเมินผลการศึกษาของรายวิชาที่กำหนดไว้ใน มคอ.๓ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
  • ส่วนประเมินผลร่วมกัน ๔๐ คะแนน ทุกคณะ-วิทยาลัยจะต้องทำการประเมินเป็น ๒ ช่องคะแนน ได้แก่ 
    • การเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน ๑๐ คะแนน  เพื่อประเมินด้านคุณธรรมจากพฤติกรรมต่างๆ เช่น การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ในการเข้าเรียนและการทำงาน เป็นต้น
    • สอบกลางภาค ๓๐ คะแนน เพื่อประเมินความรู้และทักษะทางปัญญา ซึ่งมีขอบเขตเฉพาะเนื้อหาส่วนกลาง ๓ บทเรียน โดยสำนักศึกษาทั่วไปร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาของแต่ละคณะ-วิทยาลัยที่เปิดสอนในภาคเรียนจะร่วมกันพิจารณาออกข้อสอบ 
  • ส่วนประเมินเฉพาะของคณะ-วิทยาลัยหรือเฉพาะสาขาวิชา  ๖๐ คะแนน ซึ่งคณะ-วิทยาลัยหรือสาขาวิชา สามารถออกแบบวิธีการประเมินผลและสร้างเครื่องมือประเมินผลต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะ-วิทยาลัยและหลักสูตรของตนเองอย่างอิสระ ทั้งนี้ต้องรักษามาตรฐานการประเมินผลของตนเอง ซึ่งจะมีการวิจัยและประเมินผลสัมฤทธิ์โดยสำนักศึกษาทั่วไปต่อไป  ทั้งนี้อาจเป็นไปในแนวทางที่คณะ-วิทยาลัยที่เปิดสอนมาก่อน สรุปได้ดังนี้
    • ประเมินด้านความรู้และทักษะทางปัญญาเกี่ยวกับเนื้อหาเฉพาะของคณะ-วิทยาลัยหรือเฉพาะสาขาวิชา เช่น วิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยมของคณะ-วิทยาลัยและหลักสูตร รวมถึงทักษะพื้นฐานในเรียนรู้ชุมชน เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ และเครื่องมือศึกษาชุมชน ต่างๆ โดยใช้วิธีประเมินผลแบบต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การทดสอบย่อย การมอบหมายงานเดี่ยว ฯลฯ คะแนนส่วนนี้อาจเป็น ๑๐-๒๐ คะแนน
    • ประเมินด้านทักษะทางปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการใช้ตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี โดยประเมินจากผลงานและกระบวนการทำงานกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการบริการวิชาการ โครงการจิตอาสา  โครงการเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ   ซึ่งสำนักศึกษาทั่วไป จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมนำเสนอผลงาน/ผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน ประจำภาคเรียน  ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วง ๒ สัปดาห์สุดท้ายของภาคเรียน  คะแนนส่วนนี้อาจเป็น ๓๐-๔๐ คะแนน 
    • ประเมินคุณธรรมด้านจิตอาสาและจิตสาธารณะ โดยอาจประเมินจากผลการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม กิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของคณะ-วิทยาลัย หลักสูตร หรือของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถประเมินได้จากหลายรูปแบบ เช่น การเขียนอนุทินสะท้อนการเรียนรู้  การเขียนบันทึกเหตุการณ์ที่ประทับใจในการเข้าร่วม เป็นต้น  คะแนนส่วนนี้ ประมาณ ๑๐ คะแนน 
๕) ในการศึกษาชุมชนหรือลงพื้นที่ในชุมชน ให้ทุกคณะ-วิทยาลัย ให้ความสำคัญกับประเด็นต่อไปนี้
  • คำนึงถึงความต้องการของชุมชน และระวังผลกระทบเชิงลบต่อชุมชน 
  • เตรียมความพร้อมก่อนการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน ทราบและมีทักษะเบื้องต้นสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เช่น ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของชุมชน วิธีการทักทาย วิธีการเก็บข้อมูล ฯลฯ 
  • สร้างความประทับใจให้ชุมชน โดยเน้นให้นิสิตมีสัมมาคารวะ เคารพนอบน้อม ไปลามาไหว้ รู้จักกาละเทศะ กล้าพูดคุยสนทนา เป็นมิตรกับทุกคน และควรมีบุคคลที่ชุมชนให้ความนับถือเป็นผู้แนะนำ 
  • เข้าร่วมและศึกษากิจกรรมหรือสถานที่สำคัญ ๆ ในชุมชน เช่น วัด ตลาด แหล่งเรียนรู้ เป็นต้น 
  • มีข้อควรระวังหรือสิ่งต้องห้ามในการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน ได้แก่ 
    • ไม่ฝ่าฝืนค่านิยมของชุมชน 
    • ต้องระลึกว่านิสิตเป็นคนนอกชุมชน  ไม่เข้าไปแทรกแซงหรือมีความเห็นเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในชุมชน หรือเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้ง  ไม่เลือกข้าง
    • ไม่ทำตนเด่นเกินไป หรือเป็นจุดสังเกตเกินไป 
    • ไม่สนิทกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์ฉันชู้สาว ฯลฯ 
    • ฯลฯ 


 ๖) การทดสอบกลางภาค ๓๐ คะแนน เกี่ยวกับเนื้อหาในบทเรียนที่ ๓  การศึกษาชุมชนและเครื่องมือการศึกษาชุมชน นั้น ให้ออกข้อสอบตามขอบเขตดังนี้
  • การสังเกตและสำรวจชุมชน  ให้เน้นหลักการและทักษะหรือเทคนิคในการสังเกต  โดยไม่เน้นลงลึกถึงทฤษฎีการสังเกตเชิงวิชาการในระเบียบวิธีวิจัยชุมชน
  • การสัมภาษณ์  ให้เน้นหลักการและทักษะหรือเทคนิคในการสัมภาษณ์ โดยไม่เน้นลงลึกถึงทฤษฎีการสังเกตเชิงวิชาการในระเบียบวิธีวิจัยชุมชน
  • การระดมสมอง (Brainstorming) เน้นทักษะการระดมสมอง จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ และสรุป  ไม่รวมทักษะการสนทนากลุ่มย่อย (focus group) 
  • ประเมินความรู้ในหลักการของเครื่องมือศึกษาชุมชน ๗ ชิ้น ของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ซึ่งแสดงไว้ในเอกสาร (หรือดาวน์โหลดศึกษาเพิ่มได้ที่นี่)

๗) ในการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ นี้  ไม่มีข้อบังคับให้เชื่อมโยงการจัดการเรียนการสอนของรายวิชากับการดำเนินโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลักสูตร  แม้จะเป็นเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่จะ ส่งเสริมให้นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ ได้เรียนรู้อย่างบูรณาการกับการบริการวิชาการของหลักสูตร

๘) หลักสูตรหรือสาขาวิชา สามารถกำหนดแผนการเรียน  ให้เปิดสอนรายวิชาหนึ่งหลักสูตรฯ  สำหรับนิสิตทุกชั้นปี (ปี๑-ปี๔) ตามข้อจำกัดหรือความเหมาะสมของหลักสูตร  ทั้งนี้สำนักศึกษาทั่วไป ส่งเสริมให้เปิดสอนในชั้นปี ๓ หรือ ๔ เพื่อให้นิสิตมีศักยภาพสูงขึ้นในการบริการวิชาการ และบูรณาการกับโครงการบริการวิชาการ

จบเท่านี้ครับ....

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๕ : อบรมอาจารย์ผู้สอน ประจำปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ และวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙  สำนักศึกษาทั่วไป ได้จัดอบรมอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑  หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนประจำปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ มีอาจารย์จาก ๘ คณะ-วิทยาลัย เข้าร่วมสิ้น ๓๑ ท่าน ดังนี้
  • คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม
    • อ.วรรณา คำปอนบุตร
    • อ.เยาวภา นียากร
    • อ.จรินทร์ ฝักประไพ 
  • คณะวัฒนธรรมศาสตร์  อ.พนัส โพธิบัติ 
  • คณะแพทย์ศาสตร์ อ.ปิยาภรณ์ แสนศิลา
  • หลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต  อ.วรากร สีโย
  • คณะเทคโนโลยี
    • ผศ.ดร.ปรียาภรณ์ อิศรานุวัฒน์ 
    • อ.บุษบา ธระเสนา
    • อ.ดร.อิสราภรณ์ สมบุญวัฒนกุล 
    • ผศ.ดร.ลือชัย บุตคุป 
    • ผศ.ดร.เบญจวรรณ ชุติชูเดช 
    • อ.ธวัช ชินราศรี 
    • ผศ.ดร.มนัชญา สังข์ศรีอินทร์
    • อ.เมธาวี รอดมนตรี
    • อ.ดร.วิภาวี ไทเมืองพล
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
    • อ.ดร.รัตนา หอมวิเชียร
    • อ.ทวีศักดิ์ ทองแสน
    • อ.ศตวรรษ ทวงชน
  • คณะบัญชีและการจัดการ
    • อ.อัครเดช ฉวีรักษ์
    • อ.ณัฏฐ์ ธารเจริญ 
    • อ.อภิชัย มหธรรม
    • อ.อุทิศ แสงละเอียด 
    • อ.รัตนาวดี สนธิประสาท
    • อ.ไตรรงค์ สวัสดิกุล
    • อ.อัจฉริยา อิสสะไพบูลย์
    • อ.เอกภูมิ วงษาไฮ
    • อ.พงศธร ต้นตระบัณฑิตย์
    • อ.แคทลียา ชาปะวัง
  •   คณะสาธารณสุขศาสตร์ 
    • อ.สุไวย์รินทร์ ศรีชัย
    • ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ พรหมอารักษ์
    • ผศ.ขวญใจ ศุกรนันทน์ 
(ขออภัยหากตำแหน่งทางวิชาการไม่ถูกต้องนะครับ)

สำหรับอาจารย์ใหม่ที่มาประชุมและอบรมทั้งหมดนี้ ถือว่า ได้ผ่านเกณฑ์การพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเบื้องต้น จะนำเสนอรายชื่อเข้าเพื่อพิจารณาในที่ประชุมกรรมการประจำสำนัก ให้เป็นอาจารย์ผู้สอนอย่างเป็นทางการต่อไป

เป้าหมายของรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑

ผมนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า ครูเพื่อศิษย์อีสาน  มาใช้นำเข้าสู่การกำหนดเป้าหมายของรายวิชานี้ร่วมกัน นั่นคือ  "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ"  ...  ขอขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี่ สำหรับเป็นสิ่งดีๆ  ท่านเผยแพร่โดยไม่หวงแหนใด และผมก็เชื่อมั่นด้วยว่า เจ้าของท่านแรกในการใช้วิธีนี้ คงจะยินดีเช่นกัน

กิจกรรมชื่อว่า "IF I WERE"  ให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมประชุมเลือกว่า หากท่านเป็นคนในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งต่อไปนี้ ท่านจะทำอย่างไร?  โดยให้เลือกตอบเพียงคำถามเดียว ... เชิญผู้อ่านลองดูครับ

(Cr.  เพ็ญศรี ใจกล้า)

อาจารย์ตอบคำถามกันอย่างหลากหลายครับ ส่วนใหญ่บอกว่า หากมีพื้นที่ในเขตธุรกิจหรือมีเงินร้อยล้าน จะเอาไปซื้อโรงแรม ทำธุรกิจเมื่อได้เงินแล้วจะเอาเงินไปสร้างโรงเรียนและซื้อน้ำให้เด็กในแอฟริกา คือตอบแบบคิดลึกเชื่อมโยง หรือผมเรียกตอบแบบ "คนเก่ง"

อยากชวนให้ผู้อ่านลองเปิดใจ ทำให้ใจเสมือนว่า เราเป็นเด็กคนนั้นจริง ๆ  เด็กที่เพิ่งจะรู้ข่าวเป็นครั้งแรกในชีวิตว่ามีเด็กที่ขนาดแคลนน้ำขนาดที่วันหนึ่งต้องเดินหลายกิโลเมตรเพื่อหาน้ำกินและหลายคนต้องตายก่อนได้น้ำ  หรือถ้าท่านเป็นเด็กที่เติบโตอยู่ในสังคมที่ห้ามไปโรงเรียน ห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษา ท่านจะทำอย่างไร? หรือถ้าเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่ มีเงินเป็นร้อยล้าน หรือมีพื้นที่กลางสีลมจริง  ท่านจะทำอย่างไร?  เขียนคำตอบของท่านไว้ในกระดาษ  ก่อนจะคลิกอ่านสิ่งที่บุคคลต่อไปนี้ทำครับ



ไรอัน ฮเรลแจ็ก (Ryan Hreljac) เด็กชายวัย 6 ขวบจากประเทศแคนาดา ได้ยินเรื่องดังนั้นก็ถึงกับช็อกขณะเรียนวิชาสังคมศึกษา กับเรื่องราวของโลกที่ขาดแคลนน้ำสะอาด เด็กกว่าล้านคนในแอฟริกาที่ต้องเดินทางหลายกิโลเมตรเพื่อนำน้ำสะอาดมาอุปโภคบริโภค และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปก่อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสะอาดประทังชีวิต  ความตกใจของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจและตั้งเป้าหมายที่จะขุดบ่อน้ำเพื่อเด็กๆ แอฟริกาให้ได้  ไรอันทำงานรับจ้างต่างๆ รวมถึงออกไปพูดเพื่อขอเงินสนับสนุนเป็นเวลา 1 ปีและในที่สุดก็ได้นำเงินไปขุดบ่อน้ำแห่งแรกสำเร็จ แต่การเดินทางของหนูน้อยไรอันพึ่งเริ่มต้น ข่าวความเสียสละของเด็ก 7 ขวบนี้ โด่งดังไปทั่วแคนาดาและสหรัฐอเมริกา สร้างแรงบันดาลใจต่อให้เด็กๆ อยากร่วมกันส่งเงินไปให้เช่นกัน ไรอันได้จัดตั้งมูลนิธิ “Ryan’s Well Foundation” ขึ้นเพื่อระดมทุนที่จะขุดบ่ออื่นๆ เพิ่มในหลายๆ ที่ปัจจุบัน ไรอันได้รับเลือกให้เป็น Global Youth Leader โดยองค์การยูนิเซฟ มูลนิธิของเขาได้ ขุดบ่อน้ำไปแล้วกว่า 740 บ่อ ห้องน้ำกว่า 1 พันห้อง ในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ช่วยเหลือผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิต ไม่ให้ตายอย่างทุกข์ทรมาน และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอีกหลายคนที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อวันที่ดีกว่า  ....  (ที่มา http://www.iurban.in.th/inspiration/7kids-changed-theworld/)




มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เป็นผู้เรียกร้องสิทธิเพื่อการศึกษาของเด็กและผู้หญิง การเรียกร้องของเธอทำให้เธอโดนหมายหัวจากกลุ่มตาลีบาน และวันหนึ่งในวัย 15 ปี รถบัสโดยสารเธอที่เธอนั่งมาก็ถูกกลุ่มตาลีบานบุกยิงอย่างอุกอาจ แม้จะบาดเจ็บสาหัส แต่เธอก็รอดชีวิตมาได้ ทั่วโลกให้ความยกย่องในความกล้าหาญ เปรียบเธอเป็นแสงเทียนท่ามกลางพายุมืดมน หลัง จากรักษาหายดี มาลาลา ก็ได้รับการจัดชื่อเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในปี 2013 ของนิตยสาร TIMES พร้อมรางวัลเชิดชูเกียรติอื่นๆ อีกมากมาย และปี 2014 มาลาลาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในที่สุด และทำให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยวัย 17 ปี เท่านั้น 
(ที่มา http://www.iurban.in.th/inspiration/7kids-changed-theworld/) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 



นายธนกร ฮุนตระกูล ลูกชายคนเดียวของนายอากร ฮุนตระกูล เจ้าของโรงแรมเครืออิมพีเรียล ซึ่งมีโรงแรมในเครือถึง 7 แห่ง คือ โรงแรมนิวอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค (ปัจจุบัน คือ โรงแรมแมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพ) โรงแรมอิมพาล่า (ปัจจุบัน คือ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลธารา (ปัจจุบัน คือ โรงแรมดับเบิลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท) โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมธาราแม่ฮ่องสอน โรงแรมเรือและบ้านสมุย และโรงแรมลำปางธานี รวมทั้งยังมีกิจการร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายแห่ง ครอบครัวฮุนตระกูลที่บริจาคที่ดินบนเกาะสมุย ประมาณ 4,870 ไร่ ให้กับทางราชการ เพื่อให้รัฐนำไปใช้ประโยชน์ จัดทำป่าชุมชน เขตป่าต้นน้ำลำธาร หรือเป็นพื้นที่ป่าสำหรับอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังกล่าวไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำ  หลังจากพ่อเสียชีวิตแทนที่นายธนกร จะดำเนินธุรกิจขยายโรงแรมต่อไปตามความคิดของพ่อ  แต่นายธนากรกลับเลือกที่จะขายกิจการโรงแรมขยาดใหญ่ทั้งหมด เพื่อนำเงินไปใช้ปลดหนี้ทั้งหมด และนำเงินส่วนที่เหลือกว่า ๒,๙๐๐ ล้าน ไปพัฒนาป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และพัฒนาโรงแรมบ้านท้องทราย ที่เกาะสมุยจนกลายเป็น ๑ ใน ๑๐๐ โรงแรมที่ดีที่สุดหลายปีซ้อน  (ที่มา: http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000131980 )


คุณธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณารางวัลสิงโตเมืองคานส์ (Cannes Lion) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดด้านโฆษณาของโลก ได้รับรางวัลระดับทองคำ (Gold Lions) มาเป็นเวลา 5-6 ปีติดต่อกัน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กำกับโฆษณาอันดับต้นๆ ของโลก เขามีผลงานมากมายที่คนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก หนังโฆษณาไทยประกันชีวิต  โฆษณาของทรูมูฟ และอีกมากมาย ซึ่งเขามักจะสร้างจากเรื่องจริง และบรรยายด้วยตนเอง 











หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ เป็นธิดาคนเล็กของ ร้อยเอก หม่อมเจ้าทินทัต สุขสวัสดิ์ กับหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนวรรณวิทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ต่อจากหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารดา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตธุรกิจ สุขุมวิทย์ซอย ๘ ล้อมรอบไปได้ตึกใหญ่ใจกลางเมือง โดยหม่อมราชวงศ์รุจีสมรได้รับการยกย่องว่ามีจิตวิญญาณความเป็นครู ด้วยเก็บค่าเทอมราคาถูก   (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เมื่อเล่าเรื่องความดีของทั้ง ๔ ท่านนี้ให้กับอาจารย์ฟัง  ผมตั้งคำถามว่า  "หากเราจะสอนให้นิสิตเป็นผู้มีจิตอาสา เราจะมีวิธีการสอนอย่างไรบ้าง? "  และเปิดเวทีให้ระดมสมองกันสั้นๆ  สรุปตรงกันว่า เป้าหมายของรายวิชานี้คือการปลูกฝัง "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ" เป็นสำคัญ ด้วยวิธีต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง 
  • หยิบยกตัวอย่างบุคคลแบบอย่างดังเช่นเสนอมานี้  อภิปรายและสรุปถึงความดี ให้เห็นตัวอย่างของจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่
  • ใช้กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เช่น กำหนดให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมหรือสร้างกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม 
  • กิจกรรมทำความดีต่างๆ  
  • จัดการเรียนการสอนแบบโครงการเป็นฐาน (Project-based Learning) หรือปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) โดยเลือกปัญหาที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตนๆ 
  • ฯลฯ 
ทั้งนี้การเข้าใจความหมายของคำว่า "จิตอาสา" (Volunteer Spirit) และคำว่า "จิตสาธารณะ" หรือ (Public mind) นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกำหนดให้ตรงกัน และระมัดระวังทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผลการศึกษา  เพื่อให้เคลียร์ประเด็นนี้  จึงขอนำเอาคำนิยามของทั้งสองคำมาวางต่อท้ายบันทึกไว้ตรงนี้ ให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านได้นำไปพิจารณา

 "จิตอาสา" อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ ถึง ๑๐ ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ "ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา" ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย.. 

"จิตอาสา" ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา "จิตวิญญาณ" ของเราด้วย 

"จิต อาสา" คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม...อีกทั้งยังช่วยลด "อัตตา" หรือความเป็นตัว เป็นตนของตนเองลงได้บ้าง 

"อาสา สมัคร" เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มี จิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมาก กับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือ สังคมให้เกิด ประโยชน์และความสุขมากขึ้น 

การ เป็น "อาสาสมัคร" ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในทางบวก ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรทำทั้งสิ้น คนที่จะเป็นอาสาสมัครได้นั้น ไม่ได้จำกัดที่ วัย การศึกษา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือ ข้อจำกัด ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่ต้องมีจิตใจ เป็น "จิตอาสา" ที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคม เท่านั้น


(คลิกเพื่อลิงค์ที่มา)

ส่วนคำว่า "จิตสาธารณะ" นั้นราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของจิตสำนึกทางสังคม หรือจิตสำนึกสาธารณะว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความหมายว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อ ประเทศชาติ มี ความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

สำหรับผมแล้ว คำว่า "จิตอาสา" นั้น ก็คือการให้ และต้องเป็นการให้ที่ออกมาจากภายใน ระเบิดจากข้างใน หรือก็คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ   ส่วนคำว่า "จิตสาธารณะ" คือการใส่ใจและเสียสละเพื่อส่วนรวมเพื่อคนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม นั่นเอง

..................................
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณ อ.หมวย (หนึ่งในอาจารย์ที่เข้าร่วมประชุม) ที่กระตุกให้ผมได้กลับมาศึกษาและทบทวนความหมายสากลของคำว่า "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ"  อย่างจริงจัง  ซึ่งก่อนนั้นผมเข้าใจว่า "จิตสาธารณะ" นั้นรวมหมายถึงบทบาทและหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเพื่อส่วนรวมด้วย แต่หลังจากได้มาสืบค้นอีกครั้ง จึงพบว่า บทบาท หน้าที่ หรือความรับผิดชอบใดๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายของสังคม นั้นไม่ได้รวมไว้ในความหมายของจิตสาธารณะโดยตรง เมื่อนิยามแบบนี้ ทำให้สองคำ "จิตอาสา" และ "จิตสาธารณะ" จึงมีความหมายคล้ายกันและหนุนเสริมซึ่งกันและกันจนยากจะแยกข้อแตกต่าง