วันที่ ๑๙-๒๐ เมษายน ๒๕๕๗ ผมได้เรียนรู้การจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป จากตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกิจกรรมค่าย GE (General Education) ที่จัดโดยทีมผู้สอนรายวิชาพัฒนานิสิต (หนึ่งในรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่รับผิดชอบสอนโดยทีมจากกองกิจการนิสิตฯ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย GE ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEGEN) ผมได้รับมอบหมายในช่วงเวลาหนึ่งของกิจกรรม ให้ "นำคุย" และ "จับประเด็น" เพื่อนำกลับมารายงานให้ทีม NEGEN ได้ "เห็น" ว่า แต่ละมหาวิทยาลัย จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา "จิตอาสา" หรือใช้ "ปัญหาเป็นฐาน" (PBL) หรือ "บูรณาการกับกิจการนิสิต" อย่างไร
การร่วมประชุมกับ NEGEN ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ก่อนการจัดค่ายนี้ประมาณ ๓ อาทิตย์) ทำให้ทราบว่า GE-มข. โดย รศ.สุภาพ ณ นคร เป็นผู้นำเครือข่ายฯ อีสานนี้ สู่ "เป้าหมายของ GE ประเทศไทย" ในการพัฒนาให้นิสิตเป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์" ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนและเริ่มมานานแล้ว แม้เมื่อก่อนจะใช้คำว่า "บัณฑิตไทยในอุดมคติ" ที่ต่างมหาวิทยาลัยอาจจะกำหนดเป็นลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์แตกต่างกันไปตามบริบทและจุดเน้น แต่ก็ล้วนเป็นการให้ความหมายของ "เป้าหมาย" เดียวกัน นั่นคือ "มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข" โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งกำหนดเป็นเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาที่ตราไว้เป็นกฎหมายอยู่แล้ว ผลสรุปในที่ประชุมบอกว่า รศ.สุภาพ ท่านยกย่องให้การจัดการเรียนการสอนรายวิชาพัฒนานิสิต หนึ่งในรายวิชาของ GE-มมส. เป็น Best Practice (BP) และมีมติให้ตัวแทนผู้ประสานงานรายวิชา เป็นเจ้าภาพจัดค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วันแรกของการจัดค่าย (๑๙ เมษายน) ผมได้รับมอบหมายจากคุณพนัส (ผู้จัดการและรับมอบงานมาจาก NEGEN) ให้เป็นกระบวนกรเพื่อถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ของตัวแทนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และสรุปความเข้าใจให้ตรงกัน จึงนำผลสรุปมาแบ่งปันกันในบันทึกนี้ครับ
วิชาพัฒนานิสิต GE-มมส.
ดีที่สุดในการเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านรายวิชานี้ ควรเริ่มจากอ่านบันทึกของคุณแผ่นดิน
ที่นี่ จะเห็นหลักการจัดการเรียนรู้ ๓ ข้อที่ตกผลึกจากการปฏิบัติ ได้แก่ ๑) ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ๒) ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ และ ๓) การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม
ผมเข้าใจว่า ผู้เขียนหมายถึงการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน หรือที่ รศ.สุภาพ ท่านชอบเรียกว่า ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Center-based: SCB) ซึ่งหัวใจสำคัญของ SCB ในขณะนี้คือ การออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเน้นว่าผู้เรียนจะต้องได้ ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง หรือเน้นการเรียนผ่านการปฏิบัติจริง (Active Learning) ในที่นี้รายวิชาพัฒนานิสิตใช้กิจกรรมพัฒนานิสิตเชิงบริการชุมชนเป็นหลัก ดูตัวอย่างกิจกรรมของนิสิตได้
ที่นี่
ผม "ฟัง" และซักถามจากอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา และสรุป มคอ. ๓ ของรายวิชาพัฒนานิสิตออกมาเป็นผัง ดังรูป
ผังความคิดรวบยอดนี้ เสนอครบถ้วนทุกประเด็นที่มีอยู่ในแผนการสอนหรือ มคอ. ๓ ขาดแต่เพียงรายละเอียดเชิงปฏิบัติระดับปัจเจก เช่น ชื่อผู้สอน วันเวลาที่แน่นอน ฯลฯ และเทคินิคการสอนอื่นๆ ซึ่งความจริงแตกต่างไปตามแต่สไตล์การสอนของอาจารย์แต่ละคน
วิธีการดูเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องยากเลย หากแต่ต้องมีพื้นความรู้ของ "ครู" มาบ้าง เช่น เรื่องแผน (มคอ.๓) เรื่องเป้าหมายการเรียนรู้หรือ Learning Outcome ในผังข้างต้นแทนด้วยสัญญาลักษณ์ ดังนี้ K บอกถึงองค์ความรู้ (Knowledge) ที่ต้องการให้นิสิตได้รู้ CS (Congnetive Skills) บอกทักษะทางปัญญา ที่ต้องใช้ ได้ฝึก และหวังให้เกิดตลอดภาคเรียน ส่วนนี้รวมถึงทักษะการใช้ตัวเลขด้วย IP คือ Inter-Personal หมายถึงทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ICT หมายถึงทักษะการสื่อสารและเทคโนโลยี และ M คือ Moral แสดงถึง คุณธรรม จริยธรรม ที่คาดหวังให้เกิดขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้แสดงให้ดูง่ายโดยใช้ Timeline จากบนลงล่าง รวมทั้งหมด ๑๖ สัปดาห์ วิธีการวัดผลประเมินผลแทนด้วยตัวอักษรสีแดงที่เขียนสำทับไว้ที่ "ตำแหน่ง-เวลา" สัปดาห์ที่ทำการประเมิน ส่วนรายละเอียดว่าวัดแต่ละหัวข้อเท่าไหร่ ข้อสอบเป็นอย่างไร คงต้องไปสอบถามผู้สอนเองนะครับ
ผมบอกที่ประชุมว่า การจัดการเรียนรู้ของรายวิชาพัฒนานิสิต มีจุดเด่นที่ การได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากมหาวิทยาลัย คือมีทุนทั้งองค์ความรู้จากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คน คือผู้บริหารในฐานะมาเป็นอาจารย์ผู้สอน และงบประมาณจากโครงการดังกล่าว ทำให้สามารถบูรณาการกิจการนิสิตเข้ากับวิชาเรียน ส่งเสริมให้นิสิตเรียนรู้นอกห้องเรียนได้สำเร็จ ซึ่งประเด็นนี้ท่านอธิการบอกอย่างถ่อมตนว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อย่าเพิ่งถือเอาเป็น BP ที่เป็นต้นแบบ
ผมวิพากษ์ว่า การจัดการเรียนรู้ตามผังข้างต้น นิสิตได้ฝึกฝนทั้งคิด ทำ และเขียน มีช่วงเวลาให้นิสิตได้ลงพื้นที่จริง ๒ สัปดาห์ อาจถือได้ว่าเป็น การเรียนรู้บนฐานโครงการ (Project-based Learning) ที่มีเป้าหมายในการบริการเชิงช่วยเหลือแบบร่วมด้วยช่วยกัน อาจถือเป็น "หน่อ PBL" ที่เป็น โครงงาน/ปัญหา (Project/Problem-based Learning) ซึ่งจะสามารถพัฒนาให้นิสิตมีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างครบถ้วน
วิชาผู้ประกอบการธุรกิจ : มบ.
รายวิชาผู้ประกอบการธุรกิจ (อ.สุ) ถือเป็นการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ที่ท่านบอกว่า เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างดีเยี่ยม ทำให้บัณฑิตของท่านถูกจองตัวตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักทุ่มเทของอาจารย์ ซึ่งจุดนี้ผมเห็นอาจารย์ใน มมส. หลายท่าน ที่พิสูจน์ให้เห็นตรงกันว่า ความสำเร็จของลูกศิษย์มาจากการเอางานเป็นชีวิตของอาจารย์ ขอบูชาคุณครู ณ บรรทัดนี้ด้วยครับ
ผังความคิดรวบยอดแผนการสอน แสดงดังรูปครับ
ท่านบอกว่า แต่ละภาคการศึกษา นิสิตต้องทำแผนธุรกิจถึง ๑๓ - ๑๔ แผน แต่ละแผนต้องทำครบกระบวนการแก้ปัญหาด้วยหลักวิชาอย่างเป็นระบบ และก่อนจะเริ่มการเรียนการสอน อาจารย์จะลงพื้นที่เพื่อไปหาปัญหาวิเคราะห์และสำรวจภาคสนามด้วยตัวท่านก่อน ท่านบอกว่าการสอนไม่ได้เอามา "ป้อน" "สอน" ให้ แต่เก็บไว้สำหรับกรณีที่สุดวิสัยของนิสิตบางกลุ่มเท่านั้น
การสอนแบบนี้เรียกว่า เป็น "ต้น PBL" ที่สมบูรณ์จริงๆ ครับ ...แม้ว่ารายวิชานี้จะเป็นวิชาบังคับเอก ไม่ใช่รายวิชา GE ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนนิสิตต่อชั้นเรียน ที่ต้องไม่มาก (๓๕ คน) แต่หากนำมาปรับใช้เช่น ให้มี TA เราอาจจะได้แนวการสอน PBL สำหรับ GE ที่ดีเลิศต่อไปครับ
นอกจากสองรายวิชานี้แล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้อีกหลายรายวิชา ซึ่งต่างมีจุดเด่นแตกต่างกัน วิธีการสอน "กฎหมายในชีวิต" ของอาจารย์เอ็กซ์ เป็นการสอนแบบเล่าเรื่อง สร้างปัญญา โดยใช้ปัญหาใกล้ตัวด้วยสื่อทันสมัย รายวิชา "ความคิดสร้างสรรค์" ของอาจารย์ต่องติ๊ง เป็นห้องเรียนที่เน้นกร "ฝึกคิด" และฝึกใช้เครื่องมือการคิดที่เข้มข้นมากๆ .. โอกาสหน้าจะมาว่าให้ฟังในบันทึกต่อๆ ไปครับ
น่าเสียดาย ที่ผมทราบภายหลังว่า ผมมีส่วนทำให้ผู้จัดค่ายไม่พอใจนัก .... ขออโหสิกรรม มา ณ โอกาส นี้ด้วยนะครับ